ผลงานประพันธ์ ของพระมหากษัตริย์ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือที่ทรงแต่งหรือเขียนขึ้นเอง ทรงแปลจากต้นฉบับภาษาต่างประเทศ หรือทรงแต่งเนื้อร้อง ทำนองเพลง คำประพันธ์ ฯลฯ ราชาศัพท์ใช้ว่า พระราชนิพนธ์ เช่น บทละครนอก เรื่องไชยเชษฐ์ เรื่องสังข์ทอง เรื่องไกรทอง เรื่องมณีพิชัย เรื่องคาวี เป็นพระราชนิพนธ์ ของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
พระราชนิพนธ์
ซึ่งคำราชาศัพท์ พระราชนิพนธ์ ยังใช้แก่ผลงานประพันธ์ ของ สมเด็จพระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระบรมราชินี สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ด้วย
พระนิพนธ์
หากเป็นผลงานประพันธ์ของพระบรมวงศ์ชั้นสมเด็จเจ้าฟ้าจนถึงพระอนุวงศ์ชั้นพระองค์เจ้า ราชาศัพท์ใช้ว่า พระนิพนธ์
นิพนธ์
และหากเป็นผลงานประพันธ์ของพระอนุวงศ์ชั้นหม่อมเจ้า ใช้อย่าง คำสามัญ ว่า นิพนธ์ เช่น นวนิยายเรื่อง “ละครแห่งชีวิต” และนวนิยายเรื่อง “วิมานทลาย” เป็นนิพนธ์ของหม่อมเจ้าอากาศดำเกิง รพีพัฒน์
ทรงพระราชนิพนธ์
แต่หากจะกล่าวถึง คำกริยา “แต่งหนังสือ แต่งคำประพันธ์ แต่งเนื้อร้อง แต่งทำนองเพลง ฯลฯ” ที่ใช้แก่พระมหากษัตริย์ ราชาศัพท์ใช้ว่า ทรงพระราชนิพนธ์
เช่น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์เรื่อง “ไกลบ้าน” พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนิพนธ์เรื่อง “เวณิสวานิช”
หากใช้แก่สมเด็จพระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระบรมราชินี สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ราชาศัพท์ใช้ว่า ทรงพระราชนิพนธ์ เช่นกัน
ทรงพระนิพนธ์
ซึ่งหากใช้แก่พระบรมวงศ์ชั้นสมเด็จเจ้าฟ้าจนถึงพระอนุวงศ์ชั้นพระองค์เจ้า ราชาศัพท์ใช้ว่า ทรงพระนิพนธ์ เช่น สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงพระนิพนธ์ผลงานเกี่ยวกับพระบรมราชวงศ์หลายเรื่อง เป็นต้นว่า จุฬาลงกรณราชสันตติวงศ์ พระราชธิดาในรัชกาลที่ ๕ เจ้านายเล็ก ๆ-ยุวกษัตริย์ ไปรษณียบัตรเจ้าฟ้า สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพระนิพนธ์เรื่อง “ความทรงจำ”
ทรงนิพนธ์
แต่หากพระอนุวงศ์ชั้นหม่อมเจ้าทรงแต่งคำประพันธ์ แต่งเนื้อร้อง แต่งทำนองเพลง ฯลฯ ราชาศัพท์ใช้ว่า ทรงนิพนธ์ เช่น หม่อมเจ้าอากาศดำเกิง รพีพัฒน์ ทรงนิพนธ์นวนิยายเรื่อง “ละครแห่งชีวิต” และเรื่อง “วิมานทลาย” เมื่อจะใช้ราชาศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับคำดังกล่าวจึงควรพิจารณาด้วยว่าในถ้อยคำหรือข้อความนั้น ๆ ควรใช้เป็น คำนาม หรือคำกริยาและพิจารณาเลือกใช้คำให้เหมาะสมแก่พระอิสริยศักดิ์ของเจ้านายด้วย
ร่วมแสดงความคิดเห็นในหัวข้อ “การใช้คำราชาศัพท์ “พระราชนิพนธ์“”