ในสมัยสุโขทัย ถือเป็นยุคบุกเบิกของวรรณคดีไทยหลายเรื่องด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นศิลาจารึกหลักที่ 1 สุภาษิตพระร่วง ไตรภูมิพระร่วง รวมถึงตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ (นางนพมาศ) นับเป็นยุคสมัยที่มีวรรณกรรมดีๆ ที่น่าศึกษาเรียนรู้อยู่มากมาย
รายชื่อวรรณคดีสำคัญ ในสมัยสุโขทัย ที่เว็บติวฟรีได้รวบรวมมาทั้งหมดมีดังต่อไปนี้ครับ
วรรณคดีสำคัญ ในสมัยสุโขทัย มีดังนี้
๑. ศิลาจารึก หลักที่ ๑
๒. สุภาษิตพระร่วง
๓. ไตรภูมิพระร่วง (เตภูมิกถา)
๔. ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ (นางนพมาศ)
ความหมายของวรรณคดี
วรรณคดี หมายถึง หนังสือที่แต่งขึ้นอย่างมีศิลปะ อาจเป็นร้อยแก้วหรือร้อยกรอง มีความงดงามทางภาษา ถ่ายทอดความสะเทือนใจ ความนึกคิด และจินตนาการของผู้แต่งออกมาได้อย่างครบถ้วน ทำให้ผู้อ่านเกิดจินตนาการ มีอารมณ์ร่วมไปกับผู้แต่งด้วย นอกจากนั้นวรรณคดียังต้องเป็นเรื่องที่ดี ไม่ชักจูงจิตใจไปในทางต่ำ ทั้งยังแสดงความรู้ ความคิด และสะท้อนความเป็นไปของสังคมในแต่ละสมัยด้วย
ลักษณะของวรรณคดี
วรรณคดีสโมสร ซึ่งจัดตั้งขึ้นในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้กำหนดลักษณะของวรรณคดีไว้ว่า
- เป็นหนังสือดี มีประโยชน์ มี สุภาษิต คติสอนใจ ไม่ชักจูงไปในทางที่ผิดหรือไปในทางที่ไม่เป็นแก่นสาร
- เป็นหนังสือแต่งดี ใช้วิธีการเรียบเรียงที่ดี ถูกต้องตามแบบอย่างภาษาไทย ใช้สำนวนภาษาที่ดี และเป็นแบบอย่างที่ดีได้
ความหมายของวรรณกรรม
วรรณกรรม หมายถึง งานทั่วไปทั้งหมดทุกประเภท ทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นร้อยแก้วหรือร้อยกรอง รวมถึงข้อเขียนต่างๆ ซึ่งมีเนื้อหา มีจุดมุ่งหมาย สื่อความให้ผู้อ่านเข้าใจได้ ไม่เน้นเรื่องศิลปะในการแต่ง
วรรณกรรมปัจจุบัน หมายถึง งานเขียนที่มีลักษณะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ทั้งในด้านรูปแบบ เนื้อหา กลวิธีการแต่ง แนวคิด ค่านิยม และความเชื่อ ซึ่งได้รับอิทธิพลของวรรณกรรมตะวันตก วรรณกรรมของไทยเริ่มเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๔ เนื่องจากได้รับอิทธิพลของวรรณกรรมตะวันตกเข้ามา ทั้งนี้เพราะรัชกาลที่ ๔ ทรงรับวิทยาการแผนใหม่เข้ามา ขณะเดียวกันชาวตะวันตกที่เข้ามาอยู่ในประเทศไทยเริ่มมีการออกหนังสือพิมพ์ เขียนบทความ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบและกลวิธีการเขียนขึ้น ต่อมาในรัชกาลที่ ๕ พระราชโอรส ขุนนาง หรือนักเรียนไทยที่ไปศึกษาต่างประเทศเริ่มกลับมา ได้นำความรู้และวิทยาการใหม่ ๆ จากชาติตะวันตกเข้ามาใช้ และได้นำแนวคิดรูปแบบการเขียนมาเผยแพร่ ทำให้วรรณกรรมของไทยเปลี่ยนแปลงเรื่อยมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ ๗ และหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ วรรณกรรมไทยมีการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน ทั้งรูปแบบ แนวคิด และเนื้อหา เป็นวรรณกรรมปัจจุบัน และมีวิวัฒนาการเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
สภาพบ้านเมืองสมัยสุโขทัย
สุโขทัยเป็นราชธานีแห่งแรกของไทย โดยมีพ่อขุนบางกลางหาว เจ้าเมืองบางยางกับพ่อขุนผาเมือง เจ้าเมืองราด ได้ร่วมกันกำจัดอิทธิพลของขอมออกไปจากเมืองสุโขทัย แล้วสถาปนากรุงสุโขทัยเป็นราชธานี และได้อภิเษกพ่อขุนบางกลางหาวขึ้นเป็นปฐมบรมกษัตริย์ ทรงพระนามว่า พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ ใน พ.ศ. ๑๗๙๒
อาณาจักรสุโขทัยระยะแรกเริ่มก่อตั้งนั้นยังมีพลเมืองไม่มากนัก และอยู่ในระหว่างก่อร่างสร้างตัว การปกครองในระยะเริ่มแรกจึงเป็นการปกครองระบบครอบครัวหรือพ่อปกครองลูก พระมหากษัตริย์มีความใกล้ชิดกับราษฎรมาก จึงเรียกพระมหากษัตริย์ว่า “พ่อขุน” ต่อมาภายหลังสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช สถานการณ์บ้านเมืองเปลี่ยนแปลงไป ความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำ กับราษฎรแตกต่างไปจากเดิม พระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจมากขึ้น มีฐานะเป็นธรรมราชา ใช้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนามาเป็นหลักธรรมในการปกครอง
อาณาจักรสุโขทัยเจริญสูงสุดในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช มีการขยายอาณาเขตออกไปอย่างกว้างขวาง มีการประดิษฐ์อักษรไทย มีการผลิตเครื่องถ้วยชามสังคโลก มีการติดต่อค้าขายกับอาณาจักรใกล้เคียง ในช่วงนี้บ้านเมืองมีความอุดมสมบูรณ์ ราษฎรอยู่กันอย่างสงบสุข หลังจากสมัยของพระองค์แล้ว อาณาจักรสุโขทัยเริ่มเสื่อมอำนาจลง เพราะพระมหากษัตริย์ให้ความสนใจด้านพระพุทธศาสนามากกว่าด้านอื่น ๆ ประกอบกับขณะนั้นเมืองต่าง ๆ เริ่มมีอำนาจทางการเมืองมากขึ้น จึงพยายามตั้งตนเป็นอิสระ อาณาจักรสุโขทัยเริ่มหมดอำนาจลงและถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรอยุธยา เมื่อสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเสด็จไปเสวยราชย์ ณ เมืองพิษณุโลก ใน พ.ศ. ๒๐๐๖ นับเป็นอันสิ้นสุดของอาณาจักรสุโขทัย
ความเจริญด้านวรรณคดีในสมัยสุโขทัย
วรรณคดีที่เก่าแก่ที่สุดและมีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรที่ปรากฏมาจนถึงทุกวันนี้ คือ จารึกสมัยสุโขทัย ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าก่อนสมัยสุโขทัยไม่มีการจดบันทึก แต่การเขียนหนังสือในสมัยนั้น ใช้กระดาษข่อยหรือใบลาน เวลาผ่านไปนับร้อย ๆ ปี สมุดข่อยหรือใบลานก็สูญหายไป จนกระทั่งพ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงคิดประดิษฐ์อักษรไทยขึ้นมา โดยทรงเรียกว่า “ลายสือไท” แล้วโปรดเกล้าฯ ให้จารึกไว้ เมื่อเวลาผ่านไปหลายร้อยปี ข้อความบนศิลาจารึกก็ยังคงปรากฏอยู่ ไม่ลบเลือนสูญหาย
ลักษณะของวรรณคดีสมัยสุโขทัยมีลักษณะเป็นการบรรยายสภาพบ้านเมือง วัฒนธรรม สังคม และการอบรมศีลธรรม มีลักษณะเป็นวรรณคดีประยุกต์ ไม่ได้มุ่งความบันเทิง ทำนองแต่งเป็นร้อยแก้ว ใช้คำไทยโบราณ บาลีสันสกฤต และเขมรปะปนอยู่มาก
ศิลาจารึก หลักที่ ๑
ผู้แต่ง
สันนิษฐานว่าพ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงพระราชนิพนธ์เอง โดยเฉพาะตอนต้นที่เป็นการเล่าพระราชประวัติของพระองค์เอง
ประวัติ
สันนิษฐานว่าศิลาจารึก หลักที่ ๑ จารึกขึ้นประมาณ พ.ศ. ๑๘๓๕ เป็นปีที่พ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงสั่งให้สร้างพระแท่นมนังศิลาบาตรและจารึกหลักอื่น ๆ
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นเจ้าฟ้ามงกุฎฯ และผนวชอยู่วัดราชาธิวาสในรัชกาลที่ ๓ ทรงนำศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช จากพระราชวังเก่ากรุงสุโขทัยมากรุงเทพฯ พร้อมกับพระแท่นมนังศิลาบาตร เมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๖ ต่อมาได้มีการทำคำอ่านและแปลเป็นภาษาไทยครั้งแรก ตามคำอ่านของศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ และใน พ.ศ. ๒๕๒๑ คณะกรรมการพิจารณาและจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์ได้ตั้งอนุกรรมการขึ้นมาคณะหนึ่ง เพื่ออ่านและตรวจสอบจารึกของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช และได้จัดพิมพ์ขึ้นเป็นฉบับภาษาไทยที่สมบูรณ์ ศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช มีความสูง ๑ เมตร ๑๑ เซนติเมตร ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
ทำนองแต่ง
แต่งเป็นความเรียงร้อยแก้วแต่บางตอนมีสัมผัส
ความมุ่งหมาย
เพื่อบันทึกเหตุการณ์สำคัญของกรุงสุโขทัย สภาพบ้านเมืองในขณะนั้น และสดุดีพระเกียรติของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช
เรื่องย่อ
ศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช มีจารึกไว้ทั้ง ๔ ด้าน กล่าวคือ ด้านที่ ๑ ทรงเล่าพระราชประวัติของพระองค์ ด้านที่ ๒ ความต่อจากด้านที่ ๑ ด้านที่ ๓ กล่าวถึงการสร้างพระแท่นมนังศิลาบาตรในดงตาลสำหรับพระสงฆ์แสดงธรรม ด้านที่ ๔ กล่าวถึงการก่อตั้งพระเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ การประดิษฐ์อักษรไทย และอาณาเขตอาณาจักรสุโขทัย
คุณค่าของวรรณคดี
ศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงมหาราชมีคุณค่าทางวรรณกรรมมาก โดยเฉพาะด้านภาษาศาสตร์ เพราะเป็นต้นกำเนิดของภาษาไทยในปัจจุบัน ทั้งในแง่ของตัวอักษร วิธีการเขียน การใช้คำ และหลักภาษา นอกจากนี้ยังมีคุณค่าด้านประวัติศาสตร์ ขนบธรรมเนียมประเพณี ศาสนา ความเชื่อ กฎหมาย การปกครอง ตลอดจนสภาพการณ์บ้านเมืองในอดีต และที่สำคัญ ศิลาจารึก หลักที่ ๑ ยังมีอิทธิพลต่อการแต่งวรรณคดีสมัยต่อ ๆ มาหลายเรื่อง เช่น ลิลิตตำนานพระแท่นมนังศิลาบาตร ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์
ข้อมูลเพิ่มเติมของศิลาจารึก หลักที่ ๑
สุภาษิตพระร่วง
ผู้แต่ง
ยังไม่มีข้อสรุปที่แน่นอนว่าใครเป็นผู้แต่ง แต่สันนิษฐานว่า อาจแต่งขึ้นในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช หรือหลังสมัยสุโขทัยก็เป็นได้ และในปัจจุบันอาจมีการดัดแปลงหรือแต่งเติมจนคลาดเคลื่อนจากของเดิมไปบ้าง
ประวัติ
สุภาษิตพระร่วง เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า บัญญัติพระร่วง ปรากฏหลักฐานเก่าแก่ที่สุดคือ จารึกอยู่ที่ผนังระเบียงด้านหน้าพระมหาเจดีย์องค์เหนือของวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามในรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และพิมพ์ครั้งแรกในประชุมจารึกวัดพระเชตุพนฯ ฉบับหอพระสมุดวชิรญาณรวบรวม
ทำนองแต่ง
แต่งด้วยสุภาษิต ตอนต้นแต่งด้วยร่ายสุภาพ จบแบบโคลงสองสุภาพ ตอนท้ายเป็นโคลงกระทู้หนึ่งบท
ความมุ่งหมาย
เพื่อสั่งสอนประชาชน
เรื่องย่อ
เริ่มต้นกล่าวถึงพระร่วงเจ้ากรุงสุโขทัย ทรงมุ่งประโยชน์ในกาลภายหน้า จึงทรงบัญญัติสุภาษิตสำหรับสอนประชาชนขึ้นไว้ สุภาษิตบทแรก คือ “เมื่อน้อยให้เรียนวิชา ให้หาสินเมื่อใหญ่” มีสุภาษิตทั้งหมด ๑๕๘ บท บทสุดท้ายเป็นโคลงกระทู้
คุณค่าของวรรณคดี
สุภาษิตพระร่วงเป็นคติโลกและคติธรรม ใช้ถ้อยคำคล้องจองกัน สำนวนกะทัดรัดจับใจจึงมีผู้จดจำไว้ได้มาก และนำไปอ้างไว้ในวรรณคดีเรื่องอื่น ๆ เช่น กาพย์มหาชาติ ร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดก เสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน
สุภาษิตพระร่วงแสดงถึงชีวิตและค่านิยมเชิงสังคมของคนไทยไว้หลายแง่มุม เช่น ยกย่องความสำคัญของการศึกษา รักความสงบ มีมารยาทเรียบร้อย และสุภาพอ่อนน้อม
ข้อมูลเพิ่มเติมของสุภาษิตพระร่วง
ไตรภูมิพระร่วง
ผู้แต่ง
พระมหาธรรมราชาที่ ๑ หรือพระยาลิไทย ทรงพระราชนิพนธ์ไตรภูมิพระร่วงเมื่อ พ.ศ. ๑๘๙๖ ขณะครองเมืองศรีสัชนาลัยได้ ๖ ปี ดังปรากฏข้อความในบานแผนกของหนังสือไตรภูมิพระร่วงว่า “เจ้าพระญาเลไทยผู้เป็นลูกแห่งเจ้าพระญาเลลิไทยผู้เสวยราชสมบัติในเมืองศรีสัชชนาลัยและสุกโขทัย และเจ้าพระญาเลไทยนี้ ธ เป็นหลานเจ้าพระญารามราช ผู้เป็นสุริยวงศ์และเจ้าพระญาเลไทยได้เสวยราชสมบัติในเมืองสัชชนาลัยอยู่ได้ ๖ เข้า จึงได้ไตรภูมิ”
ประวัติ
ไตรภูมิพระร่วง เดิมเรียกว่า “เตภูมิกถา” หรือ “ไตรภูมิกถา” ต่อมาสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเปลี่ยนชื่อใหม่ว่า “ไตรภูมิพระร่วง” เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระร่วงเจ้าแห่งกรุงสุโขทัย ไตรภูมิพระร่วงฉบับเก่าที่สุดบันทึกไว้ในใบลานด้วยอักษรขอม เมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๑ โดยพระมหาช่วย วัดปากน้ำ หรือวัดกลาง จังหวัดสมุทรปราการ ในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และนายวิทูร มลิวัลย์ ได้ตรวจสอบอีกครั้งใน พ.ศ. ๒๕๑๗
ทำนองแต่ง
ความเรียงร้อยแก้ว
ความมุ่งหมาย
เพื่อทรงแสดงธรรมโปรดพระราชมารดาและสั่งสอนประชาชน
เรื่องย่อ
เริ่มต้นบานแผนกบอกผู้แต่ง วัน เดือน ปีที่แต่ง หลักฐานประกอบการเรียบเรียงว่าได้มาจากคัมภีร์ทางพุทธศาสนาถึง ๓๐ คัมภีร์ และได้จากสำนัก ซึ่งเป็นสถานศึกษาของผู้แต่งและบอกความมุ่งหมายที่แต่งว่า เพื่อเจริญพระอภิธรรมเทศนาโปรดพระราชมารดา และสั่งสอนประชาชนให้รู้จักบาปบุญคุณโทษตั้งอยู่ในคุณงามความดี เนื้อเรื่องเป็นการอธิบายภูมิทั้ง ๓ คือกามภูมิ รูปภูมิ อรูปภูมิ
กามภูมิ แบ่งออกเป็น ๑๑ ภูมิ คือ
- ทุคติภูมิ หรืออบายภูมิ ๔ ได้แก่ นรก เปรต อสุรกาย และดิรัจฉาน
- สุคติภูมิ คือ มนุสสภูมิ ๑ สวรรค์ ๖ ที่เรียกว่า ฉกามาพจร คือ จาตุมหาราชิกา ดาวดึงส์ ยามา ดุสิต นิมมานรดี ปรนิมมิตวสวัตดี
รูปภูมิ แบ่งเป็นพรหมชั้นต่าง ๆ ๑๖ ชั้น ตามภูมิธรรม ดังนี้
- ปฐมฌาน ๓ ชั้น คือ พรหมปาริสัชชา พรหมปุโรหิตา มหาพรหมา
- ทุติยฌาน ๓ ชั้น คือ ปริตาภา อัปปมาณภา อาภัสสรา
- ตติยฌาน ๓ ชั้น คือ ปริตตสุภา อัปปมาณสุภา สุภกิณหา
- จตุตถฌาน ๗ ชั้น คือ เวหัปผลา อสัญญีสัตตา อวิหา อตัปปา สุทัสสา สุทัสสี อกนิฏฐาพรหม ๕ ชั้น ตั้งแต่อวิหาจนถึงอกนิฏฐา มีชื่อรวมว่า พรหมชั้นสุทธาวาส
อรูปภูมิ แบ่งออกเป็น ๔ ชั้น คือ อากาสานัญจายตนะ วิญญาณัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ เนวสัญญานาสัญญายตนะ
ตอนต่อไปกล่าวถึงการได้กำเนิดและสภาพความเป็นไปแห่งภูมินั้น ๆ อย่างละเอียดลออ
คุณค่าของวรรณคดี
ไตรภูมิพระร่วงนับเป็นคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาเล่มแรกที่แต่งในประเทศไทย มีการศึกษาค้นคว้าข้อมูลจากคัมภีร์ต่าง ๆ มากถึง ๓๐ คัมภีร์ ระบุผู้แต่ง วัน เดือน ปีที่แต่ง และความมุ่งหมายในการแต่งครบถ้วน มีคุณค่าทั้งด้านภาษาศาสตร์ ศาสนา และสังคม มีอิทธิพลเหนือจิตใจของคนไทยมาเป็นเวลานานจวบจนปัจจุบัน
ข้อมูลเพิ่มเติมของไตรภูมิพระร่วง
ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ (นางนพมาศ)
ผู้แต่ง
นางนพมาศ เป็นธิดาของพระศรีมโหสถกับนางเรวดี บิดาเป็นพราหมณ์ปุโรหิตในรัชกาลพระร่วงเจ้า ซึ่งสันนิษฐานกันว่าเป็นพระยาลิไทย นางนพมาศได้รับการอบรมสั่งสอนจากบิดาทั้งทางจริยศึกษาและพุทธิศึกษา มีความรู้สูงทั้งภาษาไทยและสันสกฤต พระพุทธศาสนา ศาสนาพราหมณ์ การแต่งกาพย์กลอน โหราศาสตร์ การขับร้องและการช่างสตรี นางนพมาศได้ถวายตัวรับราชการในพระร่วงเจ้า มีความดีความชอบพิเศษ เช่น ประดิษฐ์โคมลอยพระประทีปเป็นรูปดอกบัว ได้รับตำแหน่งเป็นสนมเอก มีบรรดาศักดิ์เป็นท้าวศรีจุฬาลักษณ์
ประวัติ
หนังสือเรื่องตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ มีชื่ออย่างอื่นว่า เรวดีนพมาศ หรือนางนพมาศ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงวินิจฉัยไว้ในคำนำฉบับพิมพ์ครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๗ ว่า เรื่องราวของหนังสืออาจมีจริงแต่สำนวนภาษาคงจะแต่งขึ้นใหม่ระหว่างรัชกาลที่ ๒ กับรัชกาลที่ ๓ โดยเฉพาะนิทานแทรกเรื่อง นางนกกระต้อยตีวิด นางนกกระเรียน และนางช้าง ซึ่งเป็นข้อความเปรียบเทียบบริภาษความประพฤติของนางใน สันนิษฐานว่าเป็นพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชวินิจฉัยว่า นพมาศ เดิมคงหมายถึงพิธี ๙ เดือน คือ เว้นเข้าพรรษา ๓ เดือน
ข้อความที่ยืนยันแจ้งชัดให้เห็นว่า หนังสือเรื่องนี้มีผู้แต่งเติมเพิ่มข้อความขึ้นใหม่ภายหลัง คือ ตอนที่ว่าด้วยชนชาติฝรั่งหลายชาติซึ่งยังไม่ได้เข้ามาในประเทศไทยสมัยกรุงสุโขทัย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คำว่า อเมริกัน ก็เพิ่งเกิดขึ้น ครั้งกรุงศรีอยุธยา เพราะฝรั่งช่างทำแผนที่คนหนึ่งไปทำแผนที่ให้ปรากฏรู้ได้ชัดว่าเป็นทวีปหนึ่งต่างหาก มิใช่อินเดียฝ่ายตะวันตกอย่างที่เข้าใจกันมาแต่ก่อน จึงได้เรียกทวีปนั้นว่า อเมริกา นอกจากนี้ยังมีข้อความกล่าวถึงปืนใหญ่ซึ่งยังไม่มีในสมัยนั้นด้วย
ทำนองแต่ง
แต่งเป็นความเรียงร้อยแก้ว บางตอนเป็นบทดอกสร้อยซึ่งแต่งเพิ่มเติมภายหลัง
ความมุ่งหมาย
เพื่อกล่าวถึงวัฒนธรรมด้านประเพณีที่ปฏิบัติกันในสมัยสุโขทัย และเพื่อเป็นหลักในการประพฤติปฏิบัติตนแก่ข้าราชการฝ่ายใน
เรื่องย่อ
เริ่มต้นกล่าวถึงประเทศ ภาษา และชนชาติต่าง ๆ เช่น ชมพูประเทศ มัชฌิมประเทศ ปัจจันตประเทศ และสิงหลประเทศ แบ่งเป็นภาษาต่าง ๆ เช่น มคธพากย์ สยามพากย์ หริภุญชัยพากย์ กัมพุชพากย์ และกล่าวถึงชนชาติต่าง ๆ เช่น ไทย ลาว เขมร พม่า รามัญ และมะริกัน (อเมริกัน) ต่อจากนั้นยอพระเกียรติพระร่วงเจ้าและสภาพความเป็นอยู่ของสุโขทัย ประวัตินางนพมาศตั้งแต่เยาว์วัย การศึกษา การเข้ารับราชการ ความดีความชอบในขณะรับราชการ โดยประดิษฐ์โคมรูปดอกบัว พานหมากสองชั้นรับแขกเมือง และพานดอกไม้สำหรับบูชาพระรัตนตรัย บรรยายถึงคุณธรรมของนางสนม ตลอดจนพระราชพิธีต่าง ๆ เช่น พระราชพิธีจองเปรียงลอยพระประทีป พระราชพิธีคเชนทรัศวสนาน พระราชพิธีจรดพระนังคัล
คุณค่าของวรรณคดี
หนังสือเรื่องนางนพมาศให้ความรู้ทางขนบธรรมเนียมประเพณีเป็นอันมาก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงใช้เป็นหลักฐานสำคัญ ในการทรงพระราชนิพนธ์พระราชพิธีสิบสองเดือน ความสำคัญอีกประการหนึ่งก็คือการแสดงให้เห็นศิลปะการช่างสตรี เช่น การประดิษฐ์โคมลอย การจัดดอกไม้ หนังสือนี้เชื่อกันว่าได้มีการดัดแปลงแต่งเติมภาษาและสำนวนผิดแผกไปจากของเดิมเป็นอันมาก
ข้อมูลเพิ่มเติมเรื่อง ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์
ประโยชน์ของวรรณคดีในสมัยสุโขทัย
วรรณคดีเหล่านี้ล้วนเป็นผลงานชิ้นเอกที่สร้างสรรค์โดยนักปราชญ์และปัญญาชนในสมัยสุโขทัย สะท้อนให้เห็นถึงภูมิปัญญาและวัฒนธรรมอันล้ำค่าของไทย วรรณคดีเหล่านี้ยังคงมีความสำคัญและคุณค่าในยุคปัจจุบัน เป็นแหล่งเรียนรู้และแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นหลังได้เป็นอย่างดี
นอกจากนี้ วรรณคดีในสมัยสุโขทัยยังแสดงให้เห็นถึงพัฒนาการของภาษาไทยอีกด้วย วรรณคดีเหล่านี้ใช้ภาษาไทยที่เรียบง่าย เข้าใจง่าย และกระชับ สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นเอกลักษณ์ของภาษาไทยในสมัยนั้น
วรรณคดีในสมัยสุโขทัยจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการศึกษาประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และภาษาไทย การศึกษาวรรณคดีในสมัยสุโขทัยจะช่วยให้เราเข้าใจความเป็นมาของชาติไทยและภูมิปัญญาของบรรพบุรุษได้ดียิ่งขึ้น
บทสรุป
สรุปได้ว่าวรรณคดีสำคัญในสมัยสุโขทัย สะท้อนให้เห็นถึงพัฒนาการทางสังคมและวัฒนธรรมของไทยในยุคนั้นได้เป็นอย่างดี วรรณคดีเหล่านี้ไม่เพียงแต่เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญเท่านั้น แต่ยังเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์และสืบทอดต่อไป
ที่มา:
หนังสือเรียนรายวิชาพื้นฐาน ภาษาไทย ม.4 เล่ม 2 กระทรวงศึกษาธิการ
Beem Kornkawee says
So good jaaa
หมิง กรรชัย says
ดูดีมากกก
Kumnarong Khayarnporn says
สนุกเลย อ่านเพลินมาก
Pimpisa Amornsanakornkul says
ได้ความรู้ดีนะ