ในสมัยอยุธยาตอนต้น ถือเป็นการเริ่มต้นเข้าสู่ยุคทองของวรรณคดีไทย โดยมีวรรณคดีหลายเรื่องได้แก่ ลิลิตโองการแช่งน้ำ ลิลิตยวนพ่าย มหาชาติคำหลวง ลิลิตพระลอ ซึ่งถือเป็นยุคสมัยที่มีวรรณกรรมมีค่ามากมายที่น่าศึกษาเรียนรู้
กรุงศรีอยุธยาตอนต้น พ.ศ. ๑๘๙๓–๒๐๗๒ เป็นช่วงเริ่มต้นสร้างบ้านเมืองและปรับปรุงการปกครองให้เป็นระบบระเบียบ วรรณคดียุคนี้แม้จะมีหลักฐานปรากฏไม่มากนัก เช่น ลิลิตยวนพ่าย ลิลิตพระลอ แต่ก็ทรงคุณค่าสูง ทั้งในด้านภาษาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม ความเชื่อ ค่านิยม และประเพณี
วรรณคดีสมัยอยุธยาตอนต้น ถือเป็นยุคแรก ๆ ของวงการวรรณคดีไทย ที่มีคุณค่าทั้งในฐานะที่เป็นรากเหง้าแห่งวรรณคดี และเป็นต้นธารแห่งวิวัฒนาการด้านวรรณกรรมไทยมาจนปัจจุบัน
วรรณคดีสำคัญ ในสมัยอยุธยาตอนต้น มีดังนี้
๑. ลิลิตโองการแช่งน้ำ
๒. ลิลิตยวนพ่าย
๓. มหาชาติคำหลวง
๔. ลิลิตพระลอ
ความหมายของวรรณคดี
วรรณคดี หมายถึง หนังสือที่แต่งขึ้นอย่างมีศิลปะ อาจเป็นร้อยแก้วหรือร้อยกรอง มีความงดงามทางภาษา ถ่ายทอดความสะเทือนใจ ความนึกคิด และจินตนาการของผู้แต่งออกมาได้อย่างครบถ้วน ทำให้ผู้อ่านเกิดจินตนาการ มีอารมณ์ร่วมไปกับผู้แต่งด้วย นอกจากนั้นวรรณคดียังต้องเป็นเรื่องที่ดี ไม่ชักจูงจิตใจไปในทางต่ำ ทั้งยังแสดงความรู้ ความคิด และสะท้อนความเป็นไปของสังคมในแต่ละสมัยด้วย
ลักษณะของวรรณคดี
วรรณคดีสโมสร ซึ่งจัดตั้งขึ้นในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้กำหนดลักษณะของวรรณคดีไว้ว่า
- เป็นหนังสือดี มีประโยชน์ มี สุภาษิต คติสอนใจ ไม่ชักจูงไปในทางที่ผิดหรือไปในทางที่ไม่เป็นแก่นสาร
- เป็นหนังสือแต่งดี ใช้วิธีการเรียบเรียงที่ดี ถูกต้องตามแบบอย่างภาษาไทย ใช้สำนวนภาษาที่ดี และเป็นแบบอย่างที่ดีได้
ความหมายของวรรณกรรม
วรรณกรรม หมายถึง งานทั่วไปทั้งหมดทุกประเภท ทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นร้อยแก้วหรือร้อยกรอง รวมถึงข้อเขียนต่างๆ ซึ่งมีเนื้อหา มีจุดมุ่งหมาย สื่อความให้ผู้อ่านเข้าใจได้ ไม่เน้นเรื่องศิลปะในการแต่ง
วรรณกรรมปัจจุบัน หมายถึง งานเขียนที่มีลักษณะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ทั้งในด้านรูปแบบ เนื้อหา กลวิธีการแต่ง แนวคิด ค่านิยม และความเชื่อ ซึ่งได้รับอิทธิพลของวรรณกรรมตะวันตก วรรณกรรมของไทยเริ่มเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๔ เนื่องจากได้รับอิทธิพลของวรรณกรรมตะวันตกเข้ามา ทั้งนี้เพราะรัชกาลที่ ๔ ทรงรับวิทยาการแผนใหม่เข้ามา ขณะเดียวกันชาวตะวันตกที่เข้ามาอยู่ในประเทศไทยเริ่มมีการออกหนังสือพิมพ์ เขียนบทความ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบและกลวิธีการเขียนขึ้น ต่อมาในรัชกาลที่ ๕ พระราชโอรส ขุนนาง หรือนักเรียนไทยที่ไปศึกษาต่างประเทศเริ่มกลับมา ได้นำความรู้และวิทยาการใหม่ ๆ จากชาติตะวันตกเข้ามาใช้ และได้นำแนวคิดรูปแบบการเขียนมาเผยแพร่ ทำให้วรรณกรรมของไทยเปลี่ยนแปลงเรื่อยมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ ๗ และหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ วรรณกรรมไทยมีการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน ทั้งรูปแบบ แนวคิด และเนื้อหา เป็นวรรณกรรมปัจจุบัน และมีวิวัฒนาการเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
สภาพบ้านเมืองสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น (พ.ศ. ๑๘๙๓ – ๒๐๗๒)
กรุงศรีอยุธยาเป็นเมืองหลวงของไทย ก่อตั้งขึ้นโดยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (พระเจ้าอู่ทอง) ใน พ.ศ. ๑๘๙๓ เป็นอาณาจักรที่เข้มแข็ง มั่งคั่ง และบริบูรณ์ด้วยนักปราชญ์ราชบัณฑิต เจริญรุ่งเรืองยาวนานถึง ๔๑๗ ปี จนกระทั่งเสียแก่พม่า ใน พ.ศ. ๒๓๑๐ สมัยสมเด็จพระเจ้าเอกทัศ
เนื่องจากกรุงศรีอยุธยามีอายุยาวนาน ในการศึกษาวรรณคดีจึงได้แบ่งช่วงเวลาออกเป็น ๓ ช่วง เพื่อให้ง่ายต่อการศึกษาข้อมูล คือ
- สมัยอยุธยาตอนต้น เริ่มตั้งแต่สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ ขึ้นครองราชย์ พ.ศ. ๑๘๙๓ ถึงสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ พ.ศ. ๒๐๗๒
- สมัยอยุธยาตอนกลาง ตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม พ.ศ. ๒๑๕๔ ถึงสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พ.ศ. ๒๒๓๑
- สมัยอยุธยาตอนปลาย ตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ พ.ศ. ๒๒๗๕ ถึงสมัยสมเด็จพระเจ้าเอกทัศ พ.ศ. ๒๓๑๐
ตามหลักฐานในพงศาวดารกล่าวว่า พระเจ้าอู่ทอง เดิมเป็นเจ้าเมืองอู่ทอง ต่อมาได้อพยพมาตั้งเมืองใหม่ที่ตำบลหนองโสน หรือบึงพระราม ฝั่งทิศตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา และได้สถาปนาตนเองขึ้นเป็นกษัตริย์ ทรงพระนามว่า สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ ทรงขนานนามเมืองที่ตั้งขึ้นใหม่ว่า กรุงเทพทวารวดีศรีอยุธยา เมื่อ พ.ศ. ๑๘๙๓ และได้พัฒนาบ้านเมืองให้เป็นปึกแผ่นมั่นคง และมีอำนาจทางการเมืองเหนืออาณาจักรอื่นบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา
ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น มีเหตุการณ์สำคัญซึ่งมีผลกระทบต่อความเปลี่ยนแปลงบ้านเมือง ดังนี้
พ.ศ. ๑๘๙๓ พระเจ้าอู่ทองทรงสถาปนากรุงศรีอยุธยา
พ.ศ. ๑๙๒๑ สุโขทัยตกเป็นประเทศราชของอยุธยา
พ.ศ. ๑๙๙๑ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถขึ้นครองราชย์
พ.ศ. ๒๐๑๗ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถยกทัพไปตีเมืองเชียงชื่น
พ.ศ. ๒๐๕๘ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ยกทัพไปตีเมืองเชียงใหม่
พ.ศ. ๒๐๙๑ พระเจ้าหงสาวดีตะเบงชะเวตี้ยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระสุริโยทัยขาดคอช้าง
พ.ศ. ๒๑๑๑–๒๑๑๒ พระเจ้าบุเรงนองยกทัพมาตีอยุธยา เสียกรุงครั้งที่ ๑
พ.ศ. ๒๑๒๗ สมเด็จพระนเรศวรมหาราชประกาศอิสรภาพจากพม่าที่เมืองแครง
พ.ศ. ๒๑๓๕ สมเด็จพระนเรศวรมหาราชกระทำยุทธหัตถี พระมหาอุปราชาขาดคอช้าง
พ.ศ. ๒๑๔๔ สมเด็จพระนเรศวรมหาราชยกทัพไปตีหงสาวดีสำเร็จ
พ.ศ. ๒๑๖๓–๒๑๗๓ พระศรีศิลป์ พระราชโอรสของสมเด็จพระเอกาทศรถ ขึ้นครองราชย์ ทรงพระนามว่า พระเจ้าทรงธรรม
ความเจริญด้านวรรณคดีสมัครอยุธยาตอนต้น
สมัยอยุธยาตอนต้น ห่างจาก สมัยสุโขทัย ไม่กี่ปี จึงมีความคล้ายคลึงกันในด้านวรรณกรรมเป็นอย่างมาก ซึ่งนักเรียนสามารถหาข้อมูลเกี่ยวกับ วรรณคดีในสมัยสุโขทัย ได้ที่เว็บติวฟรีนี้ค่ะ
สมัยอยุธยาตอนต้น บ้านเมืองมีความเจริญรุ่งเรืองในหลาย ๆ ด้าน เช่น การปกครองการทหาร การศาสนา การค้าขาย และศิลปกรรม แต่ในด้านวรรณคดีนั้นไม่ค่อยเจริญรุ่งเรืองนักอาจจะเป็นเพราะบ้านเมืองเกิดศึกสงครามบ่อย ๆ และวรรณกรรมถูกเผาทำลายไป หรือสูญหายไปก่อนที่จะตกทอดมาถึงรุ่นปัจจุบัน เราจึงไม่มีหลักฐานทางวรรณกรรมให้ได้ศึกษามากนัก
จากหลักฐานเท่าที่พบทราบว่า วรรณคดีสำคัญในสมัยอยุธยาตอนต้น ส่วนใหญ่เป็นเรื่องเกี่ยวกับศาสนา พิธีกรรม และพระมหากษัตริย์ คล้ายคลึงกับสมัยสุโขทัยแต่แต่งด้วยร้อยกรองโดยมีคำประพันธ์ทั้งโคลง ฉันท์ กาพย์ ร่าย และลิลิต ยกเว้นกลอนไม่พบหลักฐานว่ามี
วรรณคดีที่สำคัญ มีดังนี้
ลิลิตโองการแช่งน้ำ
ผู้แต่ง
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานว่าอาจแต่งในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (พระเจ้าอู่ทอง) ผู้แต่งคงจะเป็นผู้รู้พิธีพราหมณ์และรู้วิธีการประพันธ์ของไทยเป็นอย่างดี
ประวัติ
ต้นฉบับที่เหลืออยู่เขียนด้วยอักษรขอม นับเป็นวรรณคดีเรื่องแรกของไทยที่แต่งเป็นร้อยกรองอย่างสมบูรณ์แบบ เรียกว่าโองการแช่งน้ำ บ้าง ประกาศแช่งน้ำโคลงห้าบ้าง ต้นฉบับที่ถอดเป็นอักษรไทยจัดวรรคตอนการประพันธ์ค่อนข้างสับสน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสอบทานและทรงพระราชวินิจฉัยเรียบเรียงวรรคตอนขึ้นใหม่
ทำนองแต่ง
แต่งด้วยลิลิต คือ มีร่ายกับโคลงสลับกัน ร่ายเป็นร่ายดั้นโบราณ โคลงเป็นโคลงแบบโคลงห้าหรือมณฑกคติ ภาษาที่ใช้เป็นคำไทยโบราณ คำเขมร และคำบาลีสันสกฤตปะปนอยู่ด้วย
ความมุ่งหมาย ใช้อ่านในพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาหรือพระราชพิธีศรีสัจจปานกาลเพื่อแสดงความจงรักภักดี
เรื่องย่อ
เริ่มต้นด้วยการสรรเสริญพระนารายณ์พระอิศวร และพระพรหม ต่อจากนั้นกล่าวถึงไฟไหม้โลก แล้วพระพรหมสร้างโลกใหม่ เกิดมนุษย์ พระอาทิตย์ พระจันทร์ การกำหนดวัน เดือน ปี และการเริ่มมีพระราชาธิบดีในหมู่คน กล่าวอ้อนวอนในสิ่งศักดิ์สิทธิ์เรืองอำนาจ มีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เทพยดา อสูร ภูตผีปีศาจ มาลงโทษต่อผู้คิดคดกบฏต่อพระเจ้าแผ่นดิน ส่วนผู้ที่ซื่อสัตย์จงรักภักดี ขอให้มีความสุข มีลาภยศ ตอนจบเป็นร่ายเชิดชูพระเกียรติพระเจ้าแผ่นดิน
คุณค่าของวรรณคดี
๑) วัฒนธรรมประเพณี พระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา เป็นพิธีกรรมสำคัญที่สืบเนื่องมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (พระเจ้าอู่ทอง) โดยได้รับอิทธิพลมาจากขอม คือ เป็นพิธีศักดิ์สิทธิ์ที่สืบทอดกันมาจนกระทั่งยกเลิกไปหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕
๒) ด้านความเชื่อ เป็นการแสดงความเชื่อตามคติของพราหมณ์ที่เชื่อว่าพระพรหมเป็นผู้สร้างโลก ให้กำเนิดมนุษย์และสรรพสิ่งวรรณคดีสำคัญ
วรรณคดีเรื่องนี้กำเนิดจากพระราชพิธีในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แสดงถึงอิทธิพลของวัฒนธรรมเขมรและพราหมณ์อย่างชัดเจน สมเด็จพระเจ้าอู่ทองทรงรับการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และพระราชพิธีศรีสัจจปานกาลจากเขมรมาใช้ เพื่อให้เหมาะสมกับภาวการณ์ของบ้านเมืองที่ต้องการสร้างอำนาจปกครองของพระเจ้าแผ่นดิน และความมั่งคั่งมั่นคงของบ้านเมืองในระยะที่เพิ่งก่อตั้งอาณาจักร
ข้อมูลเพิ่มเติมของลิลิตโองการแช่งน้ำ
มหาชาติคำหลวง
ผู้แต่ง
สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถรับสั่งให้นักปราชญ์ราชบัณฑิตช่วยกันแต่งเมื่อจุลศักราช ๘๔๔ หรือพุทธศักราช ๒๐๒๕
ประวัติ
มหาชาติคำหลวงนี้ถือเป็นหนังสือเรื่องมหาชาติฉบับภาษาไทย และหนังสือคำหลวงเรื่องแรกของไทย ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นพบว่า ฉบับเดิมสูญหายไป ๖ กัณฑ์ คือ กัณฑ์หิมพานต์ ทานกัณฑ์ จุลพน มัทรี สักกบรรพ และฉกษัตริย์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยจึงมีพระบรมราชโองการ ให้พระราชาคณะและนักปราชญ์ราชบัณฑิต แต่งซ่อมให้ครบ ๑๓ กัณฑ์ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๕๗
ทำนองแต่ง
เป็นหนังสือประเภทคำหลวง มีคำประพันธ์หลายอย่าง คือ โคลง ร่าย กาพย์ และฉันท์ มีภาษาบาลีแทรกตลอดเรื่อง
ความมุ่งหมาย
เพื่อใช้อ่านหรือสวดในวันสำคัญทางศาสนา
เรื่องย่อ
เป็นเรื่องราวของพระเวสสันดร ซึ่งเป็นนิทานชาดกเกี่ยวกับการบำเพ็ญทานบารมีของพระพุทธเจ้าในพระชาติสุดท้ายก่อนได้ตรัสรู้ เนื้อเรื่องแบ่งเป็น ๑๓ กัณฑ์ คือ กัณฑ์ทศพร กัณฑ์หิมพานต์ กัณฑ์ทานกัณฑ์ กัณฑ์วนปเวสน์ กัณฑ์ชูชก กัณฑ์จุลพน กัณฑ์มหาพน กัณฑ์กุมาร กัณฑ์มัทรี กัณฑ์สักกบรรพ กัณฑ์มหาราช กัณฑ์ฉกษัตริย์ และกัณฑ์นครกัณฑ์
คุณค่าของวรรณคดี
มหาชาติคำหลวงเป็นวรรณกรรมทางพระพุทธศาสนาโดยตรง แต่งโดยแทรกภาษาบาลีลงไปทำให้ค่อนข้างอ่านยาก แต่ก็เป็นวรรณกรรมที่ทรงคุณค่าทั้งด้านภาษาศาสตร์ มีอิทธิพลต่อวัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อ และค่านิยมของคนไทยมาจนทุกวันนี้ อนึ่ง มหาชาติคำหลวงยังเป็นต้นแบบให้กวีหรือนักปราชญ์ราชบัณฑิตสมัยหลัง ใช้เป็นแนวทางในการนิพนธ์เรื่องมหาชาติขึ้นอีกหลายสำนวน เช่น กาพย์มหาชาติในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมมหาชาติคำฉันท์สมัยรัตนโกสินทร์ และภาพจิตรกรรมเรื่องมหาชาติตามผนังโบสถ์วิหารต่าง ๆ ด้วย
ข้อมูลเพิ่มเติมของมหาชาติคำหลวง
ลิลิตยวนพ่าย
ผู้แต่ง
ไม่ปรากฏผู้แต่ง
ประวัติ
สันนิษฐานว่าแต่งในรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ราว พ.ศ. ๒๐๑๗ แต่ก็มีความเห็นอีกฝ่ายหนึ่งที่สันนิษฐานว่าแต่งในรัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ พ.ศ. ๒๐๓๒–๒๐๗๒ คำว่า “ยวน” ในลิลิตเรื่องนี้หมายถึง โยนกหรือชาวล้านนา คำว่า “ยวนพ่าย” จึงหมายถึง “ชาวล้านนาแพ้” เนื้อเรื่องของลิลิตยวนพ่ายจึงกล่าวถึงชาวล้านนาในสมัยพระเจ้าติโลกราช ซึ่งพ่ายแพ้แก่กรุงศรีอยุธยาในรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ
ทำนองแต่ง
แต่งเป็นลิลิตดั้น ประกอบด้วยร่ายดั้น ๒ บทกับโคลงดั้นบาทกุญชร และโคลงดั้นวิวิธมาลี ๒๙๖ บท รวมทั้งหมด ๒๙๘ บท (ฉบับองค์การค้าของคุรุสภา ๒๕๒๔)
ความมุ่งหมาย
เพื่อยอพระเกียรติของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ และสดุดีชัยชนะที่มีต่อเชียงใหม่ในรัชกาลนั้น
เรื่องย่อ
เนื้อเรื่องเป็นการบรรยายภาพการทำสงครามระหว่างไทยกับล้านนา โดยฝ่ายไทยมีสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเป็นจอมทัพ ฝ่ายล้านนามีพระเจ้าติโลกราชเป็นจอมทัพ จบลงด้วยชัยชนะของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ
คุณค่าของวรรณคดี
ลิลิตยวนพ่ายมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ การรบทัพจับศึก ค้านิยมทางสังคม และหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้นอย่างยิ่ง นอกจากนี้ลิลิตยวนพ่ายที่ตกทอดมาถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นวรรณกรรมเก่าที่สมบูรณ์ไม่ชำรุดหรือถูกแต่งเติม ยังมีคุณค่าด้านภาษาศาสตร์ทำให้ได้เห็นถึงวิธีการใช้ภาษา คำสำนวน โวหาร ของกวีสมัยโบราณ และเป็นแบบอย่างของวรรณคดีประเภทสดุดี
ข้อมูลเพิ่มเติมของลิลิตยวนพ่าย
ลิลิตพระลอ
ผู้แต่ง
กวีที่แต่งเป็นใคร มีตำแหน่งทางราชการอย่างไร ไม่ทราบแน่ชัด
ประวัติ
ไม่ปรากฏหลักฐานว่าแต่งในสมัยใด แต่พิจารณาจากคำที่ใช้ บางคำใช้ภาษาเก่ากว่าภาษาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชและแต่งด้วยลิลิต ซึ่งเป็นรูปแบบวรรณกรรมที่แต่งในสมัยอยุธยาตอนต้น นอกจากนี้ข้อความบางตอนในลิลิต เช่น คำว่า “จบเสร็จเยาวราชเจ้าบรรจง” คำว่า “เยาวราช” น่าจะหมายถึง พระมหาอุปราชในรัชกาลใดรัชกาลหนึ่งเป็นผู้แต่ง
ทำนองแต่ง
แต่งเป็นคำประพันธ์ประเภทลิลิตสุภาพ ประกอบด้วยร่ายสุภาพและโคลงสุภาพเป็นส่วนใหญ่ บางโคลงคล้ายโคลงดั้นและโคลงโบราณ ร่ายบางบทเป็นร่ายโบราณและร่ายดั้น
ความมุ่งหมาย
แต่งถวายพระเจ้าแผ่นดิน เพื่อให้เป็นที่สำราญพระราชหฤทัย
เรื่องย่อ
เมืองสรวงและเมืองสรองเป็นศัตรูกัน พระลอกษัตริย์แห่งเมืองสรวงทรงพระสิริโฉมยิ่งนัก จนเป็นที่ต้องพระทัยของพระเพื่อนพระแพงราชธิดาของท้าวพิชัยพิษณุกรกษัตริย์แห่งเมืองสรอง นางรื่นนางโรยพระพี่เลี้ยงได้ขอให้ปู่เจ้าสมิงพรายทำเสน่ห์ให้ พระลอเสด็จมาเมืองสรอง เมื่อพระลอต้องเสน่ห์ได้ตรัสลาพระนางบุญเหลือพระราชมารดาและพระนางลักษณวดีพระมเหสี เสด็จไปเมืองสรองพร้อมนายแก้วนายขวัญพระพี่เลี้ยง
พระลอทรงเสี่ยงน้ำ ที่แม่น้ำกาหลง ถึงแม้จะปรากฏลางร้ายก็ทรงฝืนพระทัยเสด็จต่อไป ไก่ผีของปู่เจ้าสมิงพรายล่อพระลอกับนายแก้วและนายขวัญไปจนถึงสวนหลวง นางรื่นนางโรยออกอุบายลอบนำพระลอกับนายแก้วนายขวัญไปไว้ในตำหนักของพระเพื่อนพระแพง
ท้าวพิชัยพิษณุกรทรงทราบเรื่องก็ทรงพระเมตตา รับสั่งจะจัดการอภิเษกพระลอกับพระเพื่อนพระแพงให้ แต่พระเจ้าย่าเลี้ยงของพระเพื่อนพระแพงทรงพยาบาทพระลอ อ้างรับสั่งท้าวพิชัยพิษณุกรตรัสใช้ให้ทหารไปรุมจับพระลอ พระเพื่อนพระแพง และพระพี่เลี้ยงทั้ง ๔ คน ช่วยกันต่อสู้จนสิ้นชีวิตหมด ท้าวพิชัยพิษณุกรทรงพระพิโรธพระเจ้าย่าและทหาร รับสั่งให้ประหารชีวิตทุกคน พระนางบุญเหลือทรงสั่งทูตมาร่วมงานพระศพกษัตริย์ทั้งสาม ในที่สุดเมืองสรวงและเมืองสรองกลับเป็นไมตรีต่อกัน
คุณค่าของวรรณคดี
ลิลิตพระลอได้รับการตัดสินจากวรรณคดีสโมสรในสมัยรัชกาลที่ ๖ ให้เป็นยอดแห่งวรรณคดีประเภทลิลิต เพราะมีความโดดเด่น คือ ให้แง่คิดด้านความรัก ความกล้าหาญ ความสะเทือนใจ ใช้ภาษาได้ไพเราะคมคาย เป็นแบบอย่างของการแต่งโคลงและวรรณคดีประเภทลิลิต
ประโยชน์ของวรรณคดี ในสมัยอยุธยาตอนต้น
วรรณคดีเหล่านี้ล้วนเป็นผลงานชิ้นเอกที่สร้างสรรค์โดยนักปราชญ์และปัญญาชนในสมัยอยุธยาตอนต้น สะท้อนให้เห็นถึงภูมิปัญญาและวัฒนธรรมอันล้ำค่าของไทย วรรณคดีเหล่านี้ยังคงมีความสำคัญและคุณค่าในยุคปัจจุบัน เป็นแหล่งเรียนรู้และแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นหลังได้เป็นอย่างดี
นอกจากนี้ วรรณคดีในสมัยอยุธยาตอนต้นยังแสดงให้เห็นถึงพัฒนาการของภาษาไทยอีกด้วย วรรณคดีเหล่านี้ใช้ภาษาไทยที่มีความไพเราะ งดงาม และเต็มไปด้วยจินตนาการ สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นเอกลักษณ์ของภาษาไทยในสมัยนั้น
วรรณคดีในสมัยอยุธยาตอนต้นจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการศึกษาประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และภาษาไทย การศึกษาวรรณคดีในสมัยอยุธยาตอนต้นจะช่วยให้เราเข้าใจความเป็นมาของชาติไทยและภูมิปัญญาของบรรพบุรุษได้ดียิ่งขึ้น
นอกจากนี้ วรรณคดีในสมัยอยุธยาตอนต้นยังสะท้อนให้เห็นถึงพัฒนาการทางสังคมและวัฒนธรรมของไทยในยุคนั้นได้เป็นอย่างดี วรรณคดีเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยจากสังคมแบบจารีตนิยมไปสู่สังคมแบบเปิดกว้างมากขึ้น สะท้อนให้เห็นถึงอิทธิพลของวัฒนธรรมต่างชาติที่มีต่อสังคมไทยมากขึ้น และสะท้อนให้เห็นถึงพัฒนาการของความคิดและความเชื่อของคนไทยในยุคนั้น
วรรณคดีในสมัยอยุธยาตอนต้นจึงเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์และสืบทอดต่อไป เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้และแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นหลังได้ศึกษาและเข้าใจความเป็นมาของชาติไทยและภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ
บทสรุป
สรุปได้ว่าวรรณคดีสำคัญในสมัยอยุธยาตอนต้น สะท้อนให้เห็นถึงพัฒนาการทางสังคม วัฒนธรรม และวรรณกรรมของไทยในยุคนั้นได้เป็นอย่างดี วรรณคดีเหล่านี้ไม่เพียงแต่เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญเท่านั้น แต่ยังเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์และสืบทอดต่อไป
ที่มา:
หนังสือเรียนรายวิชาพื้นฐาน ภาษาไทย ม.4 เล่ม 2 กระทรวงศึกษาธิการ
อนุสรณ์ บุนนาค says
ช่วงนี้ยังหัวแล่นอยู่ ก็ต้องกักตุนความรู้ให้เต็มที่ครับ
Roman Mentello says
ดูยังไงครับ ผมไม่เข้าใจ
Pornpim Ling Yenareepong says
ขอบคุณมากๆเลยค่ะ ดิฉันได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งอย่างแล้วในวันนี้
Dr. Jintana says
ดีมากๆค่ะ