ตำนานพระธาตุก่องข้าวน้อยฆ่าแม่ เป็นหนึ่งในตำนานพื้นบ้านของไทยในภาคอีสาน เรื่องราวเกิดขึ้นในยุคสมัยพระนครศรีอยุธยา ที่ตำบลบ้านตาดทอง อำเภอเมืองยโสธร จังหวัดยโสธร
จังหวัด: ยโสธร
เนื้อเรื่อง
ครั้งหนึ่งนานมาแล้วในฤดูฝน มีการเตรียมปักดำกล้าข้าว ทุกครอบครัวจะออกไปไถนาเตรียมการเพาะปลูก มีครอบครัวของชายหนุ่มคนหนึ่งกำพร้าพ่อ ก็จะออกไปปฏิบัติภารกิจเช่นเดียวกัน วันหนึ่งเขาไถนาอยู่นานจนสายตะวันขึ้นสูงแล้ว เขารู้สึกเหน็ดเหนื่อยอ่อนเพลียมากกว่าปกติและหิวข้าวมากกว่าทุกวัน ปกติแล้วแม่ผู้ชราจะมาส่งข้าวให้ทุกวัน แต่วันนี้กลับมาช้าผิดปกติเขาจึงหยุดไถนา เข้ามาพักผ่อนอยู่ใต้ต้นไม้ปล่อยเจ้าทุยไปกินหญ้า สายตาเหมือนมองไปทางบ้านรอคอยแม่ที่จะมาส่งข้าวด้วยความรู้สึกกระวนกระวายใจ ยิ่งสายตะวันขึ้นสูงแดดยิ่งร้อนความหิวกระหายยิ่งทวีคูณขึ้น
ทันใดนั้นเขามองเห็นแม่เดินเลียบมาตามคันนา พร้อมกับก่องข้าวน้อยๆ เขารู้สึกไม่พอใจที่แม่เอาก่องข้าวน้อยนั้นมาช้ามาก ด้วยความหิวกระหายจนตาลายอารมณ์พลุ่งพล่าน เขาคิดว่าในก่องข้าวน้อยนั้นคงกินไม่อิ่มเป็นแน่ จึงเอ่ยต่อว่าแม่ของตนว่า “อีแก่มึงไปทำอะไรอยู่ถึงมาส่งข้าวให้กูกินช้านัก ก่องข้าวก็เอามาแต่ก่องน้อยๆ กูจะกินอิ่มหรือ”
ผู้เป็นแม่เอ่ยปากตอบลูกว่า “ถึงก่องข้าวจะน้อยแต่ก็น้อยต้อนแต้นแน่นในดอกลูกเอ๋ย ลองกินเบิ่งก่อน”
ความหิว ความเหน็ดเหนื่อย ความโมโหหูอื้อตาลาย ไม่ยอมฟังเสียงใดๆเกิดบันดาลโทสะอย่างแรง จึงคว้าได้ไม้เข้าตีแม่ที่แก่ชราล้มลง แล้วเดินไปกินข้าวจนอิ่มแล้วแต่ข้าวยังไม่หมดก่อง
หลังจากรู้สึกตัว จึงรีบไปดูอาการของแม่ เมื่อเห็นว่าแม่ตายแล้ว ชายหนุ่มร้องไห้โฮ สวมกอดร่างของผู้เป็นแม่ สำนึกผิดที่ฆ่าแม่ของตนด้วยอารมณ์เพียงชั่ววูบ เมื่อชายหนุ่มปลงศพแม่แล้วขอร้องชักชวนญาติมิตรชาวบ้าน ช่วยกันปั้นอิฐก่อเป็นธาตุเจดีย์บรรจุอัฐิแม่ไว้จึงให้ชื่อว่า “ธาตุก่องข้าวน้อยฆ่าแม่” จนตราบทุกวันนี้
พระธาตุก่องข้าวน้อย
“ธาตุก่องข้าวน้อย” หรือ “ธาตุตาดทอง” อยู่กลางทุ่งนา ที่บ้านตาดทอง อำเภอเมืองยโสธร บริเวณบ้านตาดทองเคยเป็นแหล่งชุมชนมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ พบหลักฐานการอยู่อาศัยเป็นแหล่งฝังศพและมีเศษภาชนะแบบที่พบในทุ่งกุลาร้องไห้ มีเนินดินขนาดราว ๕๐๐ X ๖๕๐ เมตรรูปวงรี มีคูน้ำล้อมรอบ แต่ปัจจุบันทางหลวงตัดผ่านกลางเนิน จนแบ่งออกเป็นสองฟากและมีบ้านเรือนตั้งอยู่หนาแน่น
พบใบเสมาจำนวนมาก ทำให้ทราบว่าบริเวณลุ่มน้ำชีตอนปลายต่อเนื่องกับอำนาจเจริญและอุบลราชธานี มีการผสมผสานของวัฒนธรรมแบบทวารวดีและแบบเจนละ ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๑-๑๒ ดังพบจากโบราณสถานที่ดงเมืองเตยซึ่งอยู่ไม่ห่างไกลนัก
ต่อมาบริเวณนี้เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมล้านช้าง มีการสร้างธาตุซึ่งมีเรือนธาตุเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยม มีซุ้มจระนำอยู่ทั้งสี่ทิศ และมีรูปทรงคอดที่กลางเรือนธาตุทำให้คล้ายกับรูปร่างของก่องข้าว ซึ่งเป็นทรงสูงแบบก่องใส่ข้าวที่พบในท้องถิ่น ในตำนานของบ้านตาดทองซึ่งผูกพันกับพระธาตุพนมในวัฒนธรรมในเขตลุ่มน้ำโขง เล่ากันว่า ชาวบ้านกลุ่มหนึ่งได้นำเอาของมีค่าต่างๆ รวบรวมใส่ถาดทองคำเพื่อจะนำไปบรรจุไว้ในพระธาตุพนม แต่องค์พระธาตุพนมสร้างเสร็จเสียก่อน ชาวบ้านจึงได้สร้างธาตุตาดทองและนำของมีค่ามาบรรจุไว้ในนี้แทน ส่วน “ธาตุลูกฆ่าแม่” ที่เชื่อว่าสร้างตามตำนานก่องข้าวน้อยฆ่าแม่นั้น เป็นเรื่องของหนุ่มชาวนาที่ทำนา ตั้งแต่เช้าจนเพล มารดาส่งข้าวสายเกิดหิวข้าวจนตาลายอารมณ์ชั่ววูบทำให้เขากระทำมาตุฆาต ด้วยเหตุเพียงข้าวที่เอามาส่งดูจะน้อยไม่พอกิน ครั้นเมื่อกินข้าวอิ่มแล้ว ข้าวยังไม่หมดจึงได้สติคิดสำนึกผิดที่ตนกระทำมาตุฆาต สันนิษฐานว่าน่าจะอยู่ที่ “วัดทุ่งสะเดา” ห่างไปราว ๒ กิโลเมตร เป็นสถูป ๒ องค์ ตั้งอยู่ใกล้กัน องค์หนึ่งเหลือแต่ฐานอีกองค์หนึ่งมีฐานและเรือนธาตุเป็นรูปแปดเหลี่ยมมียอดเรียวแหลม
Panicha Yodyeumworawan says
เยี่ยมยอดดด