สรงน้ำ
สรงน้ำ เป็นคำที่เกิดจากคำว่า สรง กับคำว่า น้ำ สรง เป็นคำจากภาษาเขมรว่า สฺรง่ (อ่านว่า ซร็อง) แปลว่า สงขึ้นจากน้ำ ช่วยให้พ้นทุกข์ เมื่อเป็นสมณศัพท์ใช้ว่า สฺรง่ทึก (อ่านว่า ซร็อง-ตึ๊ก) แปลว่า อาบน้ำ
ในภาษาไทย สรง แปลว่า อาบ ชำระล้าง ใช้เป็นคำราชาศัพท์และสมณศัพท์ เช่น สรงพระพักตร์ แปลว่า ล้างหน้า สรงน้ำ แปลว่า อาบน้ำ รดน้ำ
สรงน้ำ หมายความว่า อาบน้ำให้ รดน้ำให้ได้ด้วย เช่น เวลาสงกรานต์ ประชาชนพากันไปสรงน้ำพระพุทธสิหิงค์ นอกจากสรงน้ำพระพุทธรูปแล้ว เราสรงน้ำพระภิกษุที่เคารพนับถือด้วย
น้ำเป็นสิ่งสำคัญที่สุดต่อชีวิตมนุษย์ ในสังคมไทยจึงใช้น้ำเป็นเครื่องหมายในการประกอบพิธีกรรมที่เกี่ยวกับชีวิตทุกอย่าง เช่น อาบน้ำเมื่อเกิด รดน้ำเมื่อให้พร ใช้น้ำรดในพิธีแต่งงาน รดน้ำในพิธีศพ
สรง
สรง แปลว่า อาบน้ำ เป็นคำราชาศัพท์ใช้สำหรับพระเจ้าแผ่นดิน พระราชวงศ์ สิ่งสำคัญทางศาสนา และพระภิกษุ เช่น ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระเจ้าแผ่นดินจะสรงพระมุรธาภิเษก ในวันสงกรานต์ มีประเพณีสรงน้ำพระพุทธรูป พระธาตุ และพระภิกษุ
คำว่า สรง เป็นคำที่รับมาจากภาษาเขมรว่า สฺรง่ (อ่านว่า ซฺร็อง)
ลงสรง
คำว่า สรง ใช้ว่า ลงสรง แปลตรง ๆ ว่า ลงอาบน้ำ เช่น พระรามลงสรงในแม่น้ำและได้พบนางเบญกายแปลงเป็นนางสีดาลอยทวนน้ำมา
คำว่า พระรามลงสรง นำมาใช้เป็นชื่ออาหาร ที่ประกอบด้วย เนื้อวัวหรือเนื้อหมู กับผักบุ้งลวก ราดน้ำปรุงรสที่คล้ายน้ำแกงเผ็ดแต่มีเครื่องเทศบางชนิดเป็นส่วนผสมด้วย
ที่เรียกว่า พระรามลงสรง เพราะมีผักบุ้งสีเขียวเหมือนสีผิวกายของพระราม นอกจากนั้นคำว่า ลงสรง ยังใช้เรียกชื่อของหวานชนิดหนึ่งด้วย คือ จรกาลงสรง เป็นถั่วดำต้มน้ำตาลใส่กะทิ ถั่วดำเปรียบเป็นจรกาซึ่งมีผิวดำ
ที่มา:
ร่วมแสดงความคิดเห็นในหัวข้อ “การใช้คำราชาศัพท์ “สรงน้ำ” และ “ลงสรง””