ตำนานชาละวัน เป็นหนึ่งในตำนานพื้นบ้านของไทยที่ควรรู้จัก เรื่องราวเกิดขึ้นในยุคสมัยประมาณพุทธศักราชที่ ๑๘๐๐ ที่แม่น้ำน่านเก่าเมืองพิจิตร จังหวัดพิจิตร
จังหวัด: พิจิตร
ตำนานพื้นบ้านของไทยเรื่องชาละวัน ไกรทอง เกิดขึ้นที่จังหวัดพิจิตร ในบริเวณแม่น้ำน่านเก่า และเป็นที่เล่าขานกันตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ในทุกวันนี้นักท่องเที่ยวที่ไปเที่ยวในเขตแม่น้ำน่านเก่า ก็ยังคงผวากลัวจระเข้ยักษ์ หัวซ้ายหันขวากันอยู่เลย ถือเป็นอีกสีสันหนึ่งของจังหวัดพิจิตร
เนื้อเรื่องชาละวัน ไกรทอง
ชาละวัน จระเข้ยักษ์ ที่ถูกเลี้ยงเอาไว้โดยตายาย
ชาละวัน เป็นจระเข้ใหญ่เลื่องชื่อแห่งแม่น้ำน่านเก่าเมืองพิจิตร สันนิษฐานว่าเกิดขึ้นในสมัยที่พิจิตรมีเจ้าเมืองปกครอง ตามตำนานกล่าวว่า มีตายายสองสามีภรรยา ออกไปหาปลาพบไข่จระเข้ที่สระน้ำแห่งหนึ่ง จึงเก็บมาฟักเป็นตัวแล้วเลี้ยงไว้ในอ่างน้ำ เพราะยายอยากเลี้ยงไว้แทนลูก
ต่อมาจระเข้ตัวใหญ่ขึ้นจึงนำไปเลี้ยงไว้ในสระใกล้บ้าน ตายายหาปลามาให้จระเข้กินเป็นประจำ ต่อมาตายายหาปลามาให้เป็นอาหารไม่พออิ่ม จระเข้ตัวนั้นจึงกินตายายเป็นอาหาร

ชาละวันออกจากสระ ไปอยู่ในแม่น้ำน่านเก่า
เมื่อขาดคนเลี้ยงดูให้อาหาร จระเข้ใหญ่จึงออกจากสระไปอาศัยอยู่ในแม่น้ำน่านเก่า ซึ่งอยู่ห่างจากสระตายาย ประมาณ ๕๐๐ เมตร จนถึงบ้านบางคลาน จระเข้ใหญ่ก็เที่ยวออกอาละวาดอยู่ในแม่น้ำตั้งแต่ย่านเหนือเขตวังกระดี่ทอง ดงชะพลู จนถึงเมืองเก่า
แต่ด้วยจระเข้ใหญ่ของตายายได้เคยลิ้มเนื้อมนุษย์แล้ว จึงเที่ยวอาละวาดกัดกินคนทั้งบนบกและในน้ำไม่มีเว้นแต่ละวัน จึงถูกขนานนามว่า “ไอ้ตาละวัน” ตามสำเนียงภาษาพูดของชาวบ้านที่เรียกตามความดุร้ายที่มันทำร้ายคน ไม่เว้นแต่ละวัน ต่อมาก็เรียกเพี้ยนเสียงเป็น “ไอ้ชาละวัน” และเขียนเป็น “ชาลวัน”
ชาละวันไปคาบบุตรสาวของเศรษฐี จึงเกิดประกาศจับขึ้น
ตามเนื้อเรื่องในพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ ๒ ชื่อของชาลวันแพร่สะพัดไปทั่วเพราะเจ้าชาลวันไปคาบเอาบุตรสาวคนหนึ่งของ เศรษฐีเมืองพิจิตรขณะกำลังอาบน้ำอยู่ที่แพท่าน้ำหน้าบ้าน เศรษฐีจึงประกาศให้สินบนหลายสิบชั่ง พร้อมทั้งยกลูกสาวที่มีอยู่อีกคนหนึ่งให้แก่ผู้ที่ฆ่าชาลวันได้
ไกรทองรับอาสาปราบจระเข้ยักษ์

ไกรทอง พ่อค้าจากเมืองล่าง สันนิษฐานว่าจากเมืองนนทบุรี รับอาสาปราบจระเข้ใหญ่ด้วยหอกลงอาคมหมอจระเข้ถ้ำชาลวัน สันนิษฐานว่าอยู่กลางแม่น้ำน่านเก่า ปัจจุบันอยู่ห่างจากที่พักสงฆ์ถ้ำชาลวัน บ้านวังกระดี่ทอง ตำบลย่านยาว ไปทางใต้ประมาณ ๓๐๐ เมตร ทางลงปากถ้ำเป็นโพรงลึกเป็นรูปวงกลมมีขนาดพอดีจระเข้ขนาดใหญ่มากเข้าได้ อย่างสบาย
คนรุ่นเก่าได้เล่าถึงความใหญ่โตของชาลวันว่า เวลามันอวดศักดาลอยตัวปริ่มน้ำขวางคลอง ลำตัวของมันจะยาวคับคลอง คือหัวอยู่ฝั่งนี้ หางอยู่ฝั่งโน้นเรื่องชาลวันเป็นเรื่องที่เลื่องลือมาก จนล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๒ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงพระราชนิพนธ์บทละครนอกเรื่อง “ไกรทอง” และให้นามจระเข้ใหญ่ “พญาชาลวัน”

แม่น้ำน่านเก่า
แม่น้ำน่านเก่าในสมัยนั้นยังอุดมสมบูรณ์ไปด้วยพันธุ์ปลานานาชนิด และมีน้ำบริบูรณ์ตลอดปี แม่น้ำน่านเก่าขณะนั้นไหลผ่านบ้านวังกระดี่ทอง บ้านดงเศรษฐี ล่องไปทางใต้ ไหลผ่านบ้านดงชะพลู บ้านคะเชนทร์ บ้านเมืองพิจิตรเก่า บ้านท่าข่อย
เยี่ยมยอดมากๆครับ ชื่นชมจากใจ