ทุ่งกุลาร้องไห้ เป็นหนึ่งในตำนานพื้นบ้านของไทยที่ควรรู้จัก โดยทุ่งกุลาร้องไห้นี้กว้างไกล อยู่ในพื้นที่ถึง 5 จังหวัดด้วยกันคือ จังหวัดสุรินทร์ จังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดมหาสารคาม จังหวัดบุรีรัมย์ และจังหวัดยโสธร
จังหวัด: สุรินทร์ ร้อยเอ็ด มหาสารคาม บุรีรัมย์ และยโสธร
เนื้อเรื่อง
ในอดีต ทุ่งกุลาร้องไห้ เคยเป็นท้องทะเลอันกว้างใหญ่ไพศาลมาก่อน ผนวกกับการปลูกข้าวหอมมะลิบนผืนดินแห่งนี้ ต้องเผชิญกับสภาพ 5 มหาโหด คือ ดินทราย รสเค็ม น้ำท่วมหนัก สภาพแห้งแล้ง อากาศหนาวเย็น และหมอกลงจัด ซึ่งบ่มเพาะให้ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้มีเอกลักษณ์ด้านรสชาติ และกลิ่นอันแตกต่างจากข้าวหอมมะลิในพื้นที่อื่นๆ
เมื่อหลายร้อยปีมาแล้ว ได้มีการไปมาค้าขายติดต่อกับพ่อค้าต่างบ้านต่างเมือง ทั้งที่ใกล้เคียงและห่างไกลกัน มีพ่อค้าหาบสินค้าเที่ยวขายไปตามหมู่บ้านแถบทุ่งกว้างนี้เป็นประจำ โดยเฉพาะในฤดูแล้งบรรดาพ่อค้าที่มาค้าขายในเขตทุ่งกุลาร้องไห้นี้ ได้มีพ่อค้าพม่าเผ่าหนึ่งมีชื่อว่า เผ่ากุลา ได้นำสินค้ามาเร่ขาย และมากันเป็นหมู่ หมู่ละ 20 – 30 คน
สินค้าที่นำมาขายได้แก่ สีย้อมผ้า เข็ม เสื้อผ้า ยาสมุนไพร เครื่องถม ซึ่งสารด้วยไม้ไผ่ทารักลงสี ลวดลายสวยงามเป็นกล่องคล้ายกระติบข้าวเหนียว ชาวบ้านนิยมซื้อไว้ใส่บุหรี่แลหมากพลู
เวลาเดินทางไปไหนมาไหนพวกพ่อค้าจะนำสินค้าใส่ถึงใบใหญ่ ที่เรียกว่า ถึงกระเทียว มาขายจะหาบเร่ร่อนรอนแรมไปเรื่อย ๆ เป็นแรมเดือนแรมปี ขายหมดที่ใดจะซื้อสินค้าหาบขายไปเรื่อย ๆ
ครั้งหนึ่ง ได้มีกุลาพวกหนึ่งเที่ยวเร่ขายสินค้าจาก อุบลราชธานี ศรีสะเกษ เรื่อยมาจนถึงสุรินทร์พอมาถึงอำเภอท่าตูม พวกกุลาได้ซื้อครั่งเป็นจำนวนมาก เพื่อนำไปขายต่อพอหาบครั่งข้ามแม่น้ำมูล มาได้สักหน่อยหนึ่งก็ถึงท้องทุ่งอันกว้างใหญ่ หมายใจว่าจะเดินตัดทุ่งไปสู่เมืองป่าหลาน (อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย) มหาสารคาม ขอนแก่น อุดรธานี ขึ้นเหนือไปเรื่อย ๆ
แต่ทว่าพ่อค้าพวกนี้ยังไม่เคยเดินผ่านทุ่งแห่งนี้มาก่อนทำให้ไม่ทราบระยะทางที่แท้จริง เพราะมองเห็นเมืองป่าหลาน อยู่หลัด ๆ หาทราบไม่ว่า ใกล้ตาแต่ไกลตีน (สำนวนภาษาอีสาน แปลว่า มองเห็นเป็นใกล้แต่ต้องเดินไกล)
ขณะเดินทางข้ามทุ่ง รู้สึกเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้ามากและในช่วงนั้นเป็นฤดูแล้งด้วย น้ำจะดื่มก็ไม่มี ต้นไม้จะอาศัยร่มเงาแม้แต่เพียงต้นเดียวก็ไม่มี ทั้งแดดก็ร้อนจัด ต่างพากันอิดโรยไปตาม ๆ กันครั่งที่หาบมาจะทิ้งก็เสียดาย จึงพากันโอดครวญและคิดว่าคงจะเอาชีวิตมาตายในทุ่งแห่งนี้เป็นแน่แท้ จึงพากันร้องไห้ไปตาม ๆ กันพวกกุลาต่างพากันร้องไห้ (ครั้งแรก)
แล้วได้นั่งพักผ่อน พอหายเหนื่อยจึงเดินทางต่อไป แต่ครั่งที่หาบมามันหนักมาก พวกกุลาจึงพากันเทครั่งน้อยทิ้งหมด (ครั่งน้อย คือ ครั่งที่แยกตัวครั่งออกแล้วราคาไม่คอยดี) ซึ่งจุดที่ทิ้งครั้งน้อยนี้ ต่อมากลายเป็นหมู่บ้านชื่อ บ้านดงครั่งน้อย อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด
เมื่อพวกกุลาเดินต่อไปอีก รู้สึกอิดโรยมาก ครั้นไปถึงกลางทุ่งจึงตัดสินใจเทครั่งใหญ่ทั้งหมดทิ้ง (ครั่งใหญ่ คือ ครั่งที่ยังไม่แยกตัวครั่งออกจากครั่งเพราะเวลาย่อมไหมจะมีสีแดงสดและได้ ราคาดี) คงเหลือไว้แต่อาหารเท่านั้น บริเวณที่พวกกุลาเทครั่งทั้งหมดนี้ ต่อมาได้กลายเป็นหมู่บ้านชื่อ บ้านดงครั่งใหญ่ อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด
เมื่อพวกกุลาเดินทางมาพ้นทุ่งแล้ว เข้าสู่หมู่บ้านมีคนมามุงดูเพื่อจะซื้อสินค้าเป็นจำนวนมาก แต่พวกกุลาไม่มีสินค้าที่จะขายให้แก่ชาวบ้าน พวกกุลาพากันเสียใจและเสียดายสินค้าที่ตนได้เททิ้งที่กลางทุ่ง พวกกุลาจึงพากันร้องไห้อีก (ครั้งที่สอง) ทำให้เกิดเป็นชื่อเรียกท้องทุ่งอันกว้างใหญ่ไพศาลนี้ว่า ทุ่งกุลาร้องไห้ มาตราบเท่าทุกวันนี้
ปัจจุบันเป็นทุ่งกุลาสดใส
ในปัจจุบัน กุลาเลิกร้องไห้ที่ทุ่งนี้แล้ว และเรียกดินแดนแถบนี้ว่า “ทุ่งกุลาสดใส” ทั้งนี้เพราะรัฐบาลไทยร่วมมือกับรัฐบาลออสเตรเลีย ส่งเจ้าหน้าที่ผู้มีความเชี่ยวชาญในการพลิกผืนดินที่ไร้ประโยชน์ ให้สามารถทำประโยชน์ได้ด้วยการทำถนน สร้างอ่างเก็บน้ำที่มีอย่างเหลือเฟือในฤดูฝน ขุดคลองซอยอย่างถี่ยิบ แล้วผันน้ำเข้สู่คลองซอย ผืนดินที่แห้งแล้งสีน้ำตลก็เปลี่ยนเป็นสีเขียวเข้ม เต็มไปด้วยพืชพรรณธัญญาหาร ทุ่งกุลาร้องไห้ จึงถูกเรียกใหม่เป็น ทุ่งกุลาสดใส
Ben Zino says
เยี่ยมยอดมากๆครับ
Mark Paon says
โกหกทั้งเพ ก่อนจะนำเรื่องมาเขียนช่วยไปศึกษาค้นคว้ามาก่อนจะดีมากทุ่งกุลาร้องไห้มาจากเรื่องจริงไม่อิงนิยาย นายฮ้อยกุลาซึ่งเป็นชาวไทใหญ่เดินทางมาค้าขายงัวควายบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำมูน (มูน-สะกดด้วย น.หนู) ที่ราบลุ่มแม่น้ำมูนเป็นพื้นที่กว้างมีหมู่บ้านคนตั้งรกรากอาศัยอยู่เป็นหย่อม ๆ นายฮ้อยกุลาเดินทางมาค้าขายแต่โดนปล้น นายฮ้อยจึงไปร้องทุกข์เจ้าเมืองฮ้อยเอ็จ แต่เจ้าเมืองไม่ช่วย คงเพราะเห็นว่านายฮ้อยไม่ใช่คนในพื้นที่ เหมือนกำลังถูกเหยียดหยามกลาย ๆ เมื่อไม่มีใครช่วยเลยลองนึกดูถ้าเป็นคุณเจอสถานการณ์เดียวกันคุณก็ต้องร้องไห้ เพราะมันอับจนหนทางแล้ว การอพยพจากบ้านเกิดเมืองนอนถิ่นเดิมเอาสินค้าสิ่งของงัวควายมาขายแต่กลับถูกปล้นแล้วไม่เหลืออะไรเลยมันเป็นเรื่องที่น่าเศร้าและอดสูนะคุณ จริง ๆ ไม่ควรเอาคำว่า [ร้องไห้] ต่อท้ายด้วยซ้ำ ควรเรียกทุ่งกุลาเฉย ๆ แล้วไอ้ภาพประกอบทุ่งกุลาเป็นรูปพื้นดินแตกระแหงเพราะความแห้งแล้งมันไม่เคยเกิดขึ้นที่ทุ่งกุลาเลย ทุ่งกุลามันเป็นทุ่งหญ้าเลี้ยงงัวเลี้ยงควายทั้งนั้น ใครเขาจะอยากเดินทางผ่านพื้นที่ทะเลทราย? ไม่มีเลย พื้นที่บริเวณแถบนั้นอุดมสมบูรณ์จะตายไม่งั้นเขาจะเอางัวควายไปปล่อยให้หากินทำไม