นิราศภูเขาทอง เป็นนิราศที่สุนทรภู่ประพันธ์ขณะบวชเป็นพระภิกษุ ระหว่างการเดินทางไปนมัสการพระเจดีย์ภูเขาทองที่กรุงเก่า (จังหวัดพระนครศรีอยุธยาในปัจจุบัน) เมื่อเดือนสิบเอ็ด ปีชวด (พ.ศ. 2371) โดยในขณะนั้นท่านสุนทรภู่มีอายุ 42 ปี
เนื่องในโอกาสวันสุนทรภู่ หรือวันที่ 26 มิถุนายนของทุกปี เว็บไซต์ติวฟรีดอทคอมจึงขอแนะนำผลงานที่ดีที่สุดของสุนทรภู่ เพื่อเชิดชูเกียรติยศของท่านสุนทรภู่อีกแรงหนึ่ง
ความสำคัญของนิราศภูเขาทอง
นิราศภูเขาทอง ได้รับการยกย่องว่าเป็นนิราศที่ดีที่สุดของสุนทรภู่ ถึงแม้ว่าเป็นบทประพันธ์ที่ค่อนข้างสั้นเมื่อเทียบกับนิราศอื่นๆแล้ว แต่กลับมีใจความครบถ้วน และสมบูรณ์แบบทางด้านกวีภายในตัวเอง มีการใช้ถ้อยคำ หรือประโยคที่เรียบง่าย แต่กลับสื่อความหมายได้อย่างชัดเจน พร้อมทั้งคติธรรมคำสอบ ข้อเตือนใจ และแง่คิดในการดำรงชีวิตที่เต็มเปี่ยม
คุณค่าด้านเนื้อหาของนิราศภูเขาทอง
๑ สะท้อนวิถีชีวิตและวัฒนธรรมแสดงให้เห็นถึงสภาพบ้านเมือง สังคม วัฒนธรรม และวิถีชีวิตของผู้คน อาทิ
๑.๑ การติดต่อค้าขาย ภาพการค้าขายดำเนินไปอย่างคึกคัก
๑.๒ ชุมชนชาวต่างชาติ กล่าวถึงหญิงสาวชาวมอญ ซึ่งอาศัยอยู่ในย่านปากเกร็ด (เขตจังหวัดนนทบุรี)
๑. ๓ การละเล่นและงานมหรสพ อาทิ งานลองผ้าป่า มีการประดับประดาโคมไฟ การขับเสภา ร้องเพลงเรือเกี้ยวกัน
๒ ตำนานสถานที่ อาทิ วัดประโคนปัก เหตุที่วัดชื่อว่าประโคนปัก เนื่องจากมีการเล่าสืบต่อกันมาว่าบริเวณนี้เป็นที่ปักเสาประโคนเพื่อปักเขตแดน
๓ ความเชื่อของไทย มักเกี่ยวเนื่องในพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะเรื่องนรก-สวรรค์ อาทิ ความเชื่อที่ว่าหากใครคบชู้ คือผู้นั้นจะตกนรกและต้องปีนต้นงิ้ว
๔.แง่คิดเกี่ยวกับความจริงในชีวิต บทประพันธ์ของสุนทรภู่มักได้รับการยกย่องอยู่เสมอว่ามี เนื้อหาที่สอดแทรกข้อคิด คติการดำเนินชีวิต และช่วยยกระดับจิตใจของผู้อ่าน สุนทรภู่ยังให้แง่คิดเรื่องการเลือกคบคนว่า ไม่ควรประมาทและไมควรวางใจผู้ใดง่ายๆเนื่องจากบางคนพูดหรือ ทำให้เราเห็นว่าเขาเป็นคนดี แต่แท้จริงแล้วเขาอาจเป็นคนที่มีจิตใจไม่ดี
คุณค่าด้านวรรณศิลป์ของนิราศภูเขาทอง
การเล่นเสียง เช่น
ดูน้ำวิ่งกลิ้งเชี่ยวเป็นเกลียวกลอก | กลับกระฉอกฉาดฉันฉวัดเฉวียน |
บ้างพลุ่งพลุ่งวุ้งวงเหมือนกงเกวียน | ดูเปลี่ยนเปลี่ยนคว้างคว้างเป็นหว่างวน |
เปรียบเทียบลึกซึ้งกินใจ เช่น
เมื่อเคราะห์ร้ายกายเราก็เท่านี้ | ไม่มีที่พสุธาจะอาศัย |
ล้วนหนามเหน็บเจ็บแสบคับแคบใจ | เหมือนนกไร้รังเร่อยู่เอกาฯ |
การใช้คำเพื่อสร้างจินตภาพหรือเกิดภาพพจน์ชัดเจน เช่น
จนแจ่มแจ้งแสงตะวันเห็นพันธุ์ผัก | ดูน่ารักบรรจงส่งเกสร |
เหล่าบัวเผื่อนแลสล้างริมทางจร | ก้ามกุ้งซ้อนเสียดสาหร่ายใต้คงคา |
เนื้อหาของนิราศภูเขาทอง
จากคำพรรณนาความรู้สึกอาลัยอาวรณ์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) ในนิราศภูเขาทอง ทำให้เห็นว่าสุนทรภู่ยังคงจงรักภักดีต่อพระองค์ตลอดมา และไม่เคยลืมความสุขที่ตนเองเคยได้รับจากพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ แม้ว่าท่านทรงเสด็จสวรรคตไปหลายปี โดยเมื่อเห็นภาพต่าง ๆ ระหว่างเดินทาง มักทำให้ย้อนนึกถึงเรื่องราวเมื่อครั้งอดีต นอกจากนี้ยังมีการเปรียบเปรยการใช้ชีวิตเมื่อยังหนุ่ม กับชีวิตในขณะปัจจุบันที่ผ่านการปฏิบัติธรรมทำให้มีมุมมองชีวิตที่แตกต่างไปจากเดิม
สุนทรภู่ได้กล่าวถึงความสุขหนหลังในสมัยรัชกาลที่ 2 ในบทนี้
สิ้นแผ่นดินสิ้นนามตามเสด็จ | ต้องเที่ยวเตร็ดเตร่หาที่อาศัย |
แม้นกำเนิดเกิดชาติใดใด | ขอให้ได้เป็นข้าฝ่าธุลี |
สิ้นแผ่นดินขอให้สิ้นชีวิตบ้าง | อย่ารู้ร้างบงกชบทศรี |
เหลืออาลัยใจตรมระทมทวี | ทุกวันนี้ก็ซังตายทรงกายมา |
เส้นทางเดินทางในนิราศภูเขาทอง
นิราศภูเขาทองเริ่มต้นเล่าการเดินทางทางเรือจากวัดราชบุรณะ กรุงเทพมหานคร จุดหมายปลายทางคือพระเจดีย์ภูเขาทองที่กรุงเก่า (จังหวัดพระนครศรีอยุธยาในปัจจุบัน) โดยเดินทางผ่านสถานที่เหล่านี้ตามลำดับ
กรุงเทพมหานคร
- วัดราชบุรณะ (จุดเริ่มต้น)
- พระบรมมหาราชวัง
- วัดประโคนปัก
- โรงเหล้า
- บางจาก
- บางพลู
- บางพลัด
- บางโพ
- บ้านญวน
จังหวัดนนทบุรี
- วัดเขมา
- ตลาดแก้ว
- ตลาดขวัญ
- บางธรณี
- เกาะเกร็ด
- บางพูด
- บ้านใหม่
จังหวัดปทุมธานี
- บางเดื่อ
- บางหลวง
- สามโคก
- บ้านงิ้ว
จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
- ผ่านหน้าจวนเจ้าเมือง
- วัดหน้าพระเมรุ
- เจดีย์ภูเขาทอง (จุดหมายปลายทาง)
เรื่องย่อของนิราศภูเขาทอง
สุนทรภู่เริ่มเรื่องด้วยการปรารภถึงสาเหตุที่ต้องออกจากวัดราชบุรณะ และการเดินทางโดยเรือพร้อมหนูพัดซึ่งเป็นบุตรชาย ล่องไปตามลำน้ำเจ้าพระยาผ่านพระบรมมหาราชวัง จนมาถึงวัดประโคนปัก ผ่านโรงเหล้า บางจาก บางพลู บางโพ บ้านญวน วัดเขมา ตลาดแก้ว ตลาดขวัญ บางธรณี เกาะเกร็ด บางพูด บ้านใหม่ บางเดื่อ บางหลวง เชิงราก สามโคก บ้านงิ้ว เกาะใหญ่ราชคราม จนถึงกรุงเก่าเมื่อเวลาเย็น โดยจอดเรือพักที่ท่าน้ำวัดพระเมรุ ครั้นรุ่งเช้าจึงไปนมัสการเจดีย์ภูเขาทองส่วนขากลับ สุนทรภู่กล่าวแต่เพียงว่า เมื่อถึงกรุงเทพ ได้จอดเทียบเรือท่าน้ำหน้าวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร
ถึงเดือน ๑๑ ซึ่งออกจากการจำพรรษาแล้ว เมื่อรับกฐินอย่างยินดีเสร็จแล้ว ก็ต้องลงเรือไปด้วยความเศร้าโศก ออกจากวัดก็มองดูวัดที่เคยอาศัย เมื่อปีที่ผ่านมาได้อยู่อาศัย อีกทั้ง ๓ ฤดูที่อยู่มาก็ไม่มีอะไรมากวนใจ อีกทั้งวัดราชบุรณะพระวิหารนี้คงอีกนานกว่าจะได้มาเห็น นึกแล้วเศร้าใจยิ่งนักทั้งนี้เป็นเพราะมีคนพาลมารังแกใส่ร้าย คิดจะนำผู้ใหญ่คอยช่วยเหลือท่านก็ไม่มีความยุติธรรม จึงต้องอำลาวัดไปจนต้องมาอ้างว้างอยู่กลางสายน้ำ
ถึงหน้าวังก็เศร้าโศกมาก คิดถึงพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยผู้ซึ่งมีพระคุณกับสุนทรภู่อย่างมาก เมื่อก่อนเคยเข้าเฝ้าท่านอย่างใกล้ชิดและบ่อยครั้ง เมื่อพระองค์สวรรคตก็เหมือนกับสุนทรภู่ตายไปด้วย เพราะไม่มีญาติหรือคนคอยช่วยเหลือ ชีวิตจึงยากแค้นแสนเข็ญ อีกทั้งมีโรคมีกรรมเข้ามารุมล้อม ไม่เห็นใครที่จะพึ่งพาได้ จึงได้บวชเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่รัชกาลที่ ๒ ประพฤติตนอยู่ในศีลธรรมตลอดเวลา เพื่อเป็นสิ่งทดแทนคุณพระองค์ แม้เกิดชาติใดใดก็ขอให้เป็นข้ารับใช้พระองค์ตลอดไป
เมื่อถึงหน้าแพก็เห็นเรือพระที่นั่ง คิดถึงเมื่อก่อนก็เศร้าจนน้ำตาไหล เคยหมอบกราบรัชกาลที่ ๒ กับพระจมื่นไวย แล้วก็ลงไปในเรือบัลลังก์ทอง เคยแต่งแปลงบทความ เคยรับราชโองการอ่านในงานฉลอง จนเรือที่มาทอดกฐินหมดแล้วก็ยังมิได้ทำให้พระองค์ขัดใจแต่อย่างใด เคยหมอบกราบใกล้จนได้กลิ่นหอมจากพระวรกาย กลิ่นหอมนั้นหอมจนติดจมูก แต่เมื่อพระองค์สวรรคตก็สิ้นกลิ่นหอมไปด้วย อีกทั้งยังเหมือนวาสนาของสุนทรภู่ก็สิ้นตามกลิ่นไป
มองไปในวังยังเห็นหอที่เก็บพระอัฐิของรัชกาลที่ ๒ ก็ตั้งสติถวายส่วยบุญสวยกุศล ทั้งส่งส่วนกุศลไปให้รัชกาลที่ ๓ ให้พ้นภัยในการปกครองบ้านเมือง
ถึงวัดประโคนปักก็มองไปไม่เห็นเสาหินที่ลือกัน เป็นเสาที่สำคัญในแผ่นดิน ถึงจะไม่เห็นก็ขอเดชะพระพุทธคุณช่วย ขอให้อายุยืนหมื่นๆปีเท่าดังเสาศิลา อยู่คู่ฟ้าดินได้ตลอดไป พอเรือล่องเลยวัดก็มองดูริมท่าน้ำ มีแพมาจอดขายของอยู่เรียงราย มีขายทั้งผ้าแพรสีม่วงและสีอื่นๆ ทั้งสิ่งของทีมาจากเมืองจีน
ถึงโรงเหล้าก็มีควันออกมาจากเตากลั่นมากมาย มีเครื่องตักน้ำผูกไว้ปลายเสา สุนทรภู่เคยดื่มน้ำเหล้าจนเมาเหมือนคนบ้า จึงได้บวชเพื่อจะได้พ้นจากอบายมุข ขอให้ได้ตรัสรู้ดังพระพุทธเจ้า แต่เหล้าเคยทำให้รอดชีวิตดังนั้นจะเมินไปก็เกินไป ถึงจะไม่เมาเหล้าแต่ยังเมารักอยู่ หักห้ามจิตใจไม่ให้รักไม่ได้ การเมาเหล้านั้นพอรุ่งขึ้นก็หายไป แต่การเมารักนี้จะเป็นทุกๆคืน
ถึงบางจากไม่อยากได้ยินคำว่าจาก เพราะสุนทรภู่จากหลายๆอย่างมา ต้องมีใจมัวหมองเพราะรักนั้นไม่ยืนยาว จึงต้องจากเมืองพรากมา
ถึงบางพลูคิดถึงนางจันเมื่อแต่งงานกัน เคยส่งหมากพลูโดยใส่ซองให้ทั้งหมดเป็นใบเหลืองซึ่งอร่อยมาก ถึงบางพลัดก็ไม่อยากได้ยินคำว่าพลัดเพราะได้พลัดจากนางจัน ทั้งยังพลัดจากเมืองและอื่นๆอย่างร้อนรน
ถึงบางโพก็คิดถึงต้นโพธิ์ให้ร่มเงาให้ความร่มเย็นทั้งยังทำให้โคนต้นไม้งอกงามได้ ขอเดชะของพระพุทธเจ้า ให้พ้นภัยพาลตลอดไป
ถึงบ้านญวนเห็นมีโรงแลมากมาย มีคนค้าขายของเช่นกุ้งหรือปลาโดยการขังไว้ในข้อง ข้างหน้าโรงวางที่สำหรับดักปลาวางเรียงไว้ มีทั้งผู้หญิงและผู้ชายมาจับจ่ายซื้อของ จะมองกลับไปยังประเทศบ้านเกิดก็ทรมานเหมือนโดนไฟไหม้ จิตใจก็หม่นหมอง ล่องเรือมาจนถึงวัดเขมา ก็รู้ว่าพึ่งเลิกงานฉลองไปเมื่อวานซืน
คิดถึงเมื่อก่อนซึ่งรัชกาลที่ ๒ ได้มาตัดหวายลูกนิมิต ได้ชมพระพิมพ์ทั้ง ๘๔,๐๐๐ องค์ซึ่งเท่ากับจำนวนพระธรรมที่อยู่ในพระไตรปิฎกที่อยู่ริมผนัง แต่ครั้งนี้ไม่ได้เห็นการเล่นฉลองเพราะสุนทรภู่ต้องหมดวาสนาและลำบาก เป็นเพราะบุญน้อยก็นึกเศร้า แต่แล้วเรือก็ติดน้ำวน มองเห็นน้ำวิ่งเชี่ยวหมุนเป็นเกลียว พุ่งไปมาตัดกัน บางส่วนก็พุ่งวนเหมือนกงเกวียน ดูเวียนๆเป็นเหมือนพายุวน ทั้งหัวท้ายเรือได้รับแจวเรือดังนั้นเรือจึงหลุดน้ำวนออกมาได้ แต่ถึงเรือจะพ้นน้ำวนมาแล้วแต่ใจก็ยังไม่พ้นจากความรัก
ถึงตลาดแก้วแต่ไม่เห็นมีตลาดตั้งขายของทั้งสองฝั่งเห็นแต่ต้นไม้พืชพันธุ์ต่างๆ ได้กลิ่นดอกไม้หอมไปเรื่อยๆตลอดทางและกลิ่นเหมือนผ้าแพรที่ย้อมด้วยมะเกลือ เห็นต้นโศกใหญ่และต้นระกำเป็นแผงแต่แปลกที่มีต้นรักขึ้นแซมอยู่ด้วย เหมือนความโศกเศร้าระกำใจที่สุนทรภู่ต้องเป็นเพราะรักแม่จัน
ถึงจังหวัดนนทบุรีก็เห็นมีตลาดน้ำ มีแพอยู่ซึ่งขายเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม มีทั้งเรือจอดอยู่เพื่อขายผลไม้จากสวนแท้ มีทั้งผู้หญิงผู้ชายมาประชุมซื้อของกันทุกวันทุกคืน
มาถึงหมู่บ้านบางธรณีก็โศกเศร้ามากขึ้นมาก เพราะตอนลำบากพาให้ใจสะอื้นมาก ทั้งที่แผ่นดินหนาขนาดสองแสนสี่หมื่นโยชน์แต่เมื่อถึงคราวลำบากแม้แต่แผ่นดินก็ไม่มีที่อาศัย เหมือนโดนหนามเสียดแทงเจ็บแสบมาก เหมือนกับนกไม่มีรังที่จะอาศัยต้องเร่ร่อนไปเรื่อยๆ
ถึงตำบลปากเกร็ดซึ่งเป็นบริเวณที่ชาวมอญอพยพมา ตามธรรมเนียมผู้หญิงมอญจะเกล้าผม แต่สมัยนี้ผู้หญิงมอญมาถอนไรผมเหมือนตุ๊กตา ทั้งยังใช้เครื่องสำอาง ใช้แป้งผัดหน้าซึ่งเหมือนกับชาวไทย ทำให้เห็นได้ว่าสมัยนี้ทุกสิ่งทุกอย่างไม่มีความเที่ยงแท้ เหมือนดังที่ชาวมอญละทิ้งประเพณีวัฒนธรรมของตนเองแล้วจะนับประสาอะไรกับจิตใจของคน ซึ่งไม่มีใครมีใจเดียวแต่มีหลายใจ
ถึงหมู่บ้านบางพูดสุนทรภู่ก็นึกถึงคำว่าพูด ดังว่า ถ้าใครพูดดีก็จะมีคนรัก แต่ถ้าพูดไม่ดีก็อาจจะเป็นภัยต่อตนเองได้อีกทั้งยังไม่มีใครคบ ไม่มีเพื่อนสนิทมิตรสหาย ทั้งการจะดูว่าใครดีไม่ดีดูได้จากการพูด
ถึงหมู่บ้านบ้านใหม่ สุนทรภู่ก็คิดอยากจะได้บ้านซักหลังตามที่ต้องการโดยขอกับเทวดาให้สมดังปรารถนา เพราะ การมีบ้านใหม่จะได้มีความสุขและมีที่อาศัยอย่างปลอดภัย
ถึงหมู่บ้านบางเดื่อ ก็คิดถึงลูกมะเดื่อที่ภายนอกนั้นดูสวยงามน่ารับประทาน แต่ภายในกลับมีแมลงมีหนอนชอนไชอยู่ เหมือนกับคนพาลที่ปากพูดดีแต่ในใจคิดทำอันตราย
ถึงบางหลวงเหมือนจากนางจันมานานแล้ว เราต้องสละจากยศถาบรรดาศักดิ์เพื่อมาบวช เพื่อจะได้พ้นจากกิเลสทั้งหลายทั้งปวง ถึงจะมีนางฟ้ามายั่วก็ไม่สนใจ
ถึงสามโคกก็คิดถึงพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยซึ่งพระองค์ปกครองเมืองกรุงเทพฯ พระองค์ได้พระราชทานนามเมืองจากสามโคกซึ่งเป็นหัวเมืองชั้นสามเป็นเมืองปทุมธานีเป็นเพราะมีบัวเยอะ ถึงพระองค์จะเสด็จสวรรคตไปแล้วแต่ชื่อปทุมธานีคงอยู่ตลอดไป แต่ทำไมชื่อของสุนทรภู่ชื่อขุนสุนทรโวหารที่ได้รับพระราชทานนามมา แต่กลับไม่มีชื่อในแผ่นดินหลังจากพระองค์สวรรคตเลยซึ่งต่างกับปทุมธานี สุนทรภู่ต้องเร่ร่อนหาที่อาศัยเพราะขณะนี้ไม่มีบ้าน สุนทรภู่ขอให้เกิดทุกชาติได้เป็นข้ารับใช้พระองค์ตลอดไป พอพระองค์สวรรคตสุนทรภู่ก็ขออยากตายตามบ้างเพื่อจะได้รับใช้และพึ่งพระองค์ เดี๋ยวนี้ก็เศร้าโศกใจทุกข์ระทมอย่างทวีคูณมาก ต้องเร่ร่อนไปเรื่อยๆชีวิตไม่มีจุดมุ่งหมาย
ถึงหมู่บ้านบ้านงิ้วก็เห็นมีแต่ต้นงิ้ว ซึ่งไม่มีนกหรือสัตว์อื่นๆอยู่บนกิ่งเลย เพราะต้นงิ้วมีหนามขึ้นอยู่มากมายนึกถึงก็น่ากลัวหนาม เพราะถ้าโดนคงเจ็บมาก แต่งิ้วในนรกยาวถึง ๑๖ ข้อนิ้วแหลมเหมือนกับไม้ไผ่เหลาทำกับดัก ซึ่งใครมีชู้เมื่อตายไปแล้วก็ต้องไปปีนต้นงิ้วในนรก แต่สุนทรภู่เกิดมาอายุมากแล้วแต่ยังครองตัวอยู่ในศีลธรรมไม่มีชู้ แต่ทุกวันนี้ผู้คนวิปริตมีชู้กันมากคงต้องไปปีนต้นงิ้วในนรกกันบ้าง
ทั้งหมดที่คิดมานั้นสุนทรภู่สามารถตัดขาดได้ แต่การตัดความรักนั้นยากยิ่งนักนั่งนึกอนาถใจไป จนเย็นก็ถึงเกาะใหญ่ราชคราม มองไปเห็นบ้านเรือนต่างๆอยู่ห่างจากสองฝั่งมากในที่นี้ต้องระวังจระเข้จะทำร้าย ทั้งที่นี่ยังเป็นที่อยู่ของผู้ร้ายซึ่งมาคอยดักตีเรือ สุนทรภู่คิดแล้วน่าเบื่อยิ่งนัก
เมื่อพระอาทิตย์ตกก็มีเมฆมืดครึ้มมาจนดูมืดมัวไปทุกทิศทุกทาง พายเรือถึงทางลัดซึ่งเป็นทางตัดกลางนาก็เห็นมีต้นแฝกต้นคาต้นแขมต้นกกขึ้นปะปนกันอยู่มากมาย เงาของต้นพวกนี้ทอดลงน้ำทำให้ดูเวิ้งว้างดูกว้างขวางเหลียวมองทีไรก็รู้สึกขวัญหายทุกที มองเห็นเงาของหญิงชายทั้งยังมีเสียงคุยกัน เรือของพวกเขาเพรียวเล็กและมีปลาอยู่บนเรืออีกด้วย พวกเขาถ่อเรือคล่องแคล่วเดินทางไปอย่างรวดเร็ว แต่เรือของสุนทรภู่ไปช้ามากช่างน่าสงสารลูกศิษย์ที่ต้องถ่อเรืออย่างเหน็ดเหนื่อยทั้งๆที่ไม่เคยเส้นทาง บางทีเรือก็เสยเข้าพงหญ้ารกรุงรัง จะถอยหลังก็ถอยยาก เรือก็โคลงจนกระโถนใส่หมากหก พอเงี่ยหูฟังก็ไม่ได้ยินเสียงสัตว์เลยซักตัว มีแต่น้ำค้างตกเพราะลมพัด มองไปไม่เห็นคลองเลยต้องค้างอยู่กลางทุ่ง แต่พอหยุดเรือหยุดก็มารุมกัดเจ็บเหมือนโดนทรายซัด เลยไม่ได้นอนเพราะต้องนั่งตบยุง
สุนทรภู่รู้สึกอ้างว้างมาก มองไปในทุ่งกว้างเห็นมีแต่ต้นแขมขึ้นอยู่ปะปนกัน จนดึกก็มีดาวอยู่กลางท้องฟ้า มีนกกระเรียนบินร่อนและร้องก้องเมื่อตอนเที่ยงคืน มีเสียงกบเขียดร้องเรื่อยๆ มีลมพัดเฉื่อยๆ สุนทรภู่รู้สึกวังเวงก็คิดรำพึงเมื่อตอนมียศถาบรรดาศักดิ์ ได้หัวเราะเฮฮากับเพื่อน มีคนคอยปรนนิบัติรับใช้ แต่ยามลำบากเห็นแต่หนูพัดลูกชายคอยช่วยนั่งปัดยุงให้จนพระจันทร์ขึ้นก็เห็นต้นกระจับจอก มีดอกบัวเผื่อนขึ้นมากเมื่อคืนเดือนหงาย มองเห็นคลองทั้งสองด้านหัวท้ายเรือก็รีบถ่อเรือลงคลอง จนพระอาทิตย์ขึ้นก็เห็นพันธุ์ผักดูน่ารักส่งเกสรแก่กัน มีบัวเผื่อนอยู่สองข้างทางที่เรือพายไป มีต้นก้ามกุ้งขึ้นอยู่กับสาหร่ายใต้น้ำ มีต้นสายติ่งขึ้นสลับกับต้นตับเต่าเป็นกลุ่มๆมองไปเหมือนกับดาวบนท้องฟ้า เหล่านี้ถ้าผู้หญิงได้มาเห็นก็คงจะลงเล่นกลางทุ่ง ที่มีเรือก็คงจะพายไปเก็บสายบัว ถ้าสุนทรภู่มีโยมผู้หญิงก็คงไม่นิ่งเฉยให้อายดอกไม้ คงจะใช้ให้ศิษย์ไปเก็บของฝากเท่าที่ทำได้ในตอนนี้ แต่นี่จนใจไม่มีเงินซักนิด ทั้งยังขี้เกียจเก็บจึงเลยมา พอมีแสงอ่อนๆของพระอาทิตย์ก็ถึง กรุงศรีอยุธยา สุนทรภู่รู้สึกเศร้าใจ
เมื่อถึงหน้าจวนของเพื่อนของสุนทรภู่ สุนทรภู่ก็คิดถึงเมื่อก่อนจนน้ำตาไหล สุนทรภู่ตั้งใจจะแวะหาถ้ายังเหมือนเมื่อก่อนก็คงจะได้รับนิมนต์ขึ้นบนจวน แต่ถ้าหากว่าท่านแปลกไปก็คงจะโดนหัวเราะเยาะจะต้องอายมาก รู้สึกไม่กล้าใฝ่สูงเป็นเพื่อนได้ จึงได้เดินทางต่อไปยังเจดีย์ภูเขาทอง
จอดเรือที่ข้างวัดพระเมรุซึ่งริมวัดมีเรือจอดเรียงอยู่ บางลำมีคนร้องเล่นเต้นสำราญ บางลำก็ร้องเพลงเกี้ยวกัน บางลำฉลองผ้าป่าด้วยการขับเสภา ทั้งยังมีคนตีระนาดซึ่งตีเก่งเหมือนนายเส็ง (คนเก่งระนาดสมัยสุนทรภู่) มีโคมแขวนอยู่เรียงรายเหมือนอยู่สามเพ็ง เมื่อคราวเคร่งในพระศาสนาก็ไม่ได้ดู มีเรือลำหนึ่งกลอนมันมาก ร้องกลอนยากลากเลื้อยฟังแล้วเหนื่อยหู กลอนลดเลี้ยวเหมือนทางงู จนลูกคู่บอกว่าง่วงนอน ได้การละเล่นต่างๆที่ข้างวัดพอดึกก็นอน ประมาณสามยามก็มีโจรขึ้นเรือ พอมีเสียงกุกกักสุนทรภู่ก็ลุกขึ้นโวยวาย โจรก็รีบดำน้ำไปอย่างว่องไว มองไปไม่เห็นหน้าลูกศิษย์ก็รู้สึกทำอะไรไม่ถูกด้วยความกลัวแต่หนูพัดจุดเทียนส่องดูว่ามีอะไรหายไปบ้าง แต่ไม่มีเลยแม้แต่เครื่องอัฐบริขาร ทั้งนี้ด้วย เดชะตบะบุญ และพระพุทธ ทำให้ชนะมารได้
วันรุ่งขึ้นจะเป็นวันพระซึ่งจะได้บูชาพระธรรม ได้ไปเจดีย์ภูเขาทองซึ่งดูสูงเสียดฟ้า อยู่กลางทุ่งดูโดดเด่นมีน้ำใสอยู่รอบๆที่ฐานพื้นที่เป็นรูปกลีบบัวถัดจากบันไดมีน้ำไหลล้อมรอบเป็นขอบ มีเจดีย์มีวิหารมีลานวัด มีกำแพงกั้นอยู่ การย่อเหลี่ยมไม้ ๑๒ มุมอย่างสวยงาม มีเป็นสามชั้นอย่างงดงาม บันไดมี ๔ ด้าน คณะของสุนทรภู่ชวนกันขึ้นไปชั้น ๓ ตั้งใจเดินวนขวา ๓ รอบจนครบก็กราบเจดีย์ มีห้องที่เป็นถ้ำสำหรับจุดเทียนเพราะลมจะพัดแรงพาธูปเทียนดับ ตอนนั้นบังเกิดสิ่งอัศจรรย์มีลมพัดเวียนขวาราวกับจะเวียนเทียนด้วย ทุกวันนี้พระเจดีย์เก่าและทรุดโทรมมาก ที่ฐานร้าวถึงเก้าแฉก ที่ยอดก็หัก องค์พระเจดีย์ก็ทรุด เป็นเพราะเจดีย์ไม่มีคนคอยดูแล นึกแล้วเสียดายจนน่าร้องไห้ แล้ววจะเทียบอะไรกับชื่อเสียงเกียรติยศของมนุษย์ ก็คงหมดไปในไม่นาน เหมือนกับเป็นผู้ดีแล้วลำบาก เป็นคนมั่งมีแล้วยากจน คิดแล้วทุกอย่างไม่แท้เที่ยง
ขอเดชะแห่งเจดีย์ภูเขาทองซึ่งบรรจุพระบรมสาริกธาตุ สุนทรภู่ขอให้ที่ได้มากราบในครั้งนี้ให้เป็นบุญเพื่อเป็นอานิสงส์ให้พ้นภัยต่างๆ ถ้าจะเกิดชาติไหนๆก็ขอให้ตนบริสุทธิ์ทั้งกายและใจ ทั้งความทุกข์ความโศกอย่าได้มาใกล้ สบายไปตลอดกาล ทั้งความโลภ โกรธ หลง ขอให้ตนชนะได้ ขอให้มีสติปัญญาหลักแหลม ให้มีศีลธรรมอยู่ในใจ ทั้งผู้หญิงร้ายและผู้ชายชั่วก็ขอให้อย่าได้รู้จักคบหากัน ขอให้สมดังหวังแม้แต่ชาติหน้าก็ขอให้เป็นดังหวัง
พอก้มลงกราบพระพุทธรูป เงยขึ้นมาก็เห็นดอกบัว และก็เห็นพระบรมสารีริกธาตุอยู่ในเกสร ก็ดีใจมากและช้อนประคองลงเรือ พอหนูพัดกราบไว้เสร็จแล้วก็ใส่พระบรมสารีริกธาตุไว้ในขวดแก้วแล้วก็วางไว้ใกล้ศีรษะเมื่อนอน ตั้งใจว่าจะไปนอนที่กรุงศรีอยุธยา และรุ่งเช้าจะบูชาพระบรมสารีริกธาตุ แต่พอตื่นมามองไม่เห็นพระบรมสารีริกธาตุ ก็ตกใจอย่างมากทั้งที่วางไว้ใกล้ศีรษะ สุนทรภู่ว่าเป็นเพราะบุญตนน้อยทำให้พระธาตุลอยน้ำไปไกล สุนทรภู่คิดว่าไม่สามารถอยู่ที่เจดีย์ภูเขาทองต่อได้เพราะจะยิ่งเศร้าโศกและร้อนใจยิ่งขึ้น พอเช้าตรู่พระอาทิตย์ขึ้นส่องฉาย ก็ล่องเรือถึงกรุงเทพฯโดยใช้เวลาเดินทาง ๑ วัน
ถึงหน้าวัดอรุณก็ค่อยสร่างจากความเศร้าเพราะได้กราบพระพุทธรูป นิราศภูเขาทองของสุนทรภู่เรื่องนี้ไว้เป็นที่อ่านเมื่อเศร้าจะได้มีความสุข เพราะได้ไปกราบไว้พระพุทธรูป ทั้งกราบไว้พระบรมสารีริกธาตุ เพราะคนที่นับถือศาสนาพุทธเมื่อไม่สบายใจก็จะกราบไหว้พระพุทธรูปเพื่อให้สบายใจ ตอนนี้สุนทรภู่ใช่ว่าจะมีคนรักหรือพึ่งจะจากรักมา แต่ที่กล่าวถึงผู้หญิงก็เพราะเป็นธรรมเนียมการแต่งนิราศแต่โบราณ เหมือนแม่ครัวจะปรุงอาหารประเภทพะแนง นอกจากจะใส่เครื่องปรุงและเนื้อสัตว์แล้ว ยังต้องใส่พริกไทยใบผักชี เพื่อเพิ่มความน่ารับประทานแก่อาหาร และผู้หญิงก็เหมือนพริกไทยใบผักชีเพื่อนให้นิราศนี้น่าอ่าน ขอให้ทราบความจริงทุกๆอย่างว่าสุนทรภู่ไม่ได้มีผู้หญิงเลยขออย่าได้นินทาให้เสียหาย เพราะคนที่มีความสามรถในเชิงกลอนจะนั่งๆนอนๆเฉยๆก็จะน่าเบื่อและเศร้าใจ จึงจะต้องแต่งกลอนเพื่อคลายเหงาและคลายความเศร้าใจ และให้ได้ผลงานเป็นที่ประจักษ์
นิราศภูเขาทอง โดยท่านสุนทรภู่
๏ เดือนสิบเอ็ดเสร็จธุระพระวสา | |
รับกฐินภิญโญโมทนา | ชุลีลาลงเรือเหลืออาไลย |
ออกจากวัดทัศนาดูอาวาศ | เมื่อตรุษสารทพระวสาได้อาไศรย |
สามระดูอยู่ดีไม่มีไภย | มาจำไกลอารามเมื่อยามเย็น |
โอ้อาวาศราชบุรณะพระวิหาร | แต่นี้นานนับทิวาจะมาเห็น |
เหลือรำฦกนึกน่าน้ำตากระเด็น | เพราะขุกเข็ญคนพาลมารานทาง |
จะยกหยิบธิบดีเปนที่ตั้ง | ก็ใช้ถังแทนสัดเห็นขัดขวาง |
จึ่งจำลาอาวาศนิราศร้าง | มาอ้างว้างวิญญาในสาคร |
ถึงน่าวังดังหนึ่งใจจะขาด | คิดถึงบาทบพิตรอดิศร |
โอ้ผ่านเกล้าเจ้าประคุณของสุนทร | แต่ปางก่อนเคยเฝ้าทุกเช้าเย็น |
พระนิพพานปานประหนึ่งศีศะขาด | ด้วยไร้ญาติยากแค้นถึงแสนเข็ญ |
ทั้งโรคซ้ำกรรมซัดวิบัติเปน | ไม่เลงเห็นที่ซึ่งจะพึ่งพา |
จะสร้างพรตอดส่าห์ส่งบุญถวาย | ประพฤฒิฝ่ายสมถะทั้งวสา |
เปนสิ่งของฉลองคุณมุลิกา | ขอเปนข้าเคียงพระบาททุกชาติไป |
ถึงน่าแพแลเห็นเรือที่นั่ง | คิดถึงครั้งก่อนมาน้ำตาไหล |
เคยหมอบรับกับพระจมื่นไวย | แล้วลงในเรือที่นั่งบัลลังก์ทอง |
เคยทรงแต่งแปลงบทพจนาดถ์ | เคยรับราชโองการอ่านฉลอง |
จนกฐินสิ้นแม่น้ำในลำคลอง | มิได้ข้องเคืองขัดหัทยา |
เคยหมอบใกล้ได้กลิ่นสุคนธ์ตระหลบ | ลอองอบรศรื่นชื่นนาสา |
สิ้นแผ่นดินสิ้นรศสุคนธา | วาศนาเราก็สิ้นเหมือนกลิ่นสุคนธ์ |
ดูในวังยังเห็นหอพระอัฐิ | ตั้งสติเติมถวายฝ่ายกุศล |
ทั้งปิ่นเกล้าเจ้าพิภพจบสกล | ให้ผ่องพ้นไภยสำราญผ่านบุริน |
ถึงอารามนามวัดประโคนปัก | ไม่เห็นหลักฦๅเล่าว่าเสาหิน |
เปนสำคัญปันแดนในแผ่นดิน | มิรู้สิ้นสุดชื่อที่ฦๅชา |
ขอเดชะพระพุทธคุณช่วย | แม้นมอดม้วยกลับชาติวาศนา |
อายุยืนหมื่นเท่าเสาศิลา | อยู่คู่ฟ้าดินได้ดังใจปอง |
ไปพ้นวัดทัศนาริมท่าน้ำ | แพประจำจอดรายเขาขายของ |
มีแพรผ้าสารพัดสีม่วงตอง | ทั้งสิ่งของขาวเหลืองเครื่องสำเภา |
ถึงโรงเหล้าเตากลั่นควันโขมง | มีคันโพงผูกสายไว้ปลายเสา |
โอ้บาปกรรมน้ำนรกเจียวอกเรา | ให้มัวเมาเหมือนหนึ่งบ้าเปนน่าอาย |
ทำบุญบวชกรวดน้ำขอสำเร็จ | สรรเพ็ชญ์โพธิญาณประมาณหมาย |
ถึงสุราพารอดไม่วอดวาย | ไม่ใกล้กรายแกล้งเมินก็เกินไป |
ไม่เมาเหล้าแล้วแต่เรายังเมารัก | สุดจะหักห้ามจิตรจะคิดไฉน |
ถึงเมาเหล้าเช้าสายก็หายไป | แต่เมาใจนี้ประจำทุกค่ำคืน |
ถึงบางจากจากวัดพลัดพี่น้อง | มามัวหมองม้วนหน้าไม่ฝ่าฝืน |
เพราะรักใคร่ใจจืดไม่ยืดยืน | จึงต้องขืนใจพรากมาจากเมือง |
ถึงบางพลูคิดถึงคู่เมื่ออยู่ครอง | เคยใส่ซองส่งให้ล้วนใบเหลือง |
ถึงบางพลัดเหมือนพี่พลัดมาขัดเคือง | ทั้งพลัดเมืองพลัดสมรมาร้อนรน |
ถึงบางโพธิ์โอ้พระศรีมหาโพธิ์ | ร่มนิโรธรุกขมูลให้ภูลผล |
ขอเดชะอานุภาพพระทศพล | ให้ผ่องพ้นไภยพาลสำราญกาย |
ถึงบ้านญวนล้วนแต่โรงแลสพรั่ง | มีของขังกุ้งปลาไว้ค้าขาย |
ตรงน่าโรงโพงพางเขาวางราย | พวกหญิงชายพร้อมเพรียงมาเมียงมอง |
จะเหลียวกลับลับเขตรประเทศสถาน | ทรมานหม่นไหม้ฤไทยหมอง |
ถึงเขมาอารามอร่ามทอง | พึ่งฉลองเลิกงานเมื่อวานซืน |
โอ้ปางหลังครั้งสมเด็จพระบรมโกษฐ์ | มาผูกโบสถ์ก็ได้มาบูชาชื่น |
ชมพระพิมพ์ริมผนังยังยั่งยืน | ทั้งแปดหมื่นสี่พันได้วันทา |
โอ้ครั้งนี้มิได้เห็นเล่นฉลอง | เพราะตัวต้องตกประดาษวาศนา |
เปนบุญน้อยพลอยนึกโมทนา | พอนาวาติดชลเข้าวนเวียน |
ดูน้ำวิ่งกลิ้งเชี่ยวเปนเกลียวกลอก | กลับกระฉอกฉาดฉัดฉวัดเฉวียน |
บ้างพลุ่งพลุ่งวุ้งวงเหมือนกงเกวียน | ดูเปลี่ยนเปลี่ยนคว้างคว้างเปนหว่างวน |
ทั้งหัวท้ายกรายแจวกระชากจ้วง | ครรไลล่วงเลยทางมากลางหน |
โอ้เรือพ้นวนมาในสาชล | ใจยังวนหวังสวาดิ์ไม่คลาศคลา |
ตลาดแก้วแล้วไม่เห็นตลาดตั้ง | สองฟากฝั่งก็แต่ล้วนสวนพฤกษา |
โอ้รินรินกลิ่นดอกไม้ใกล้คงคา | เหมือนกลิ่นผ้าแพรร่ำดำมะเกลือ |
เห็นโศกใหญ่ใกล้น้ำระกำแฝง | ทั้งรักแซงแซมสวาดิ์ประหลาดเหลือ |
เหมือนโศกพี่ที่ระกำก็ซ้ำเจือ | เพราะรักเรื้อแรมสวาดิ์มาคลาศคลาย |
ถึงแขวงนนท์ชลมารถตลาดขวัญ | มีพ่วงแพแพรพรันเขาค้าขาย |
ทั้งของสวนล้วนแต่เรือเรียงราย | พวกหญิงชายชุมกันทุกวันคืน |
มาถึงบางธรณีทวีโศก | ยามวิโยคยากใจให้สอื้น |
โอ้สุธาหนาแน่นเปนแผ่นพื้น | ถึงสี่หมื่นสองแสนทั้งแดนไตร |
เมื่อเคราะห์ร้ายกายเราก็เท่านี้ | ไม่มีที่พสุธาจะอาไศรย |
ล้วนหนามเหน็บเจ็บแสบคับแคบใจ | เหมือนนกไร้รังเร่อยู่เอกา |
ถึงเกร็ดย่านบ้านมอญแต่ก่อนเก่า | ผู้หญิงเกล้ามวยงามตามภาษา |
เดี๋ยวนี้มอญถอนไรจุกเหมือนตุ๊กตา | ทั้งผัดหน้าจับกระเหม่าเหมือนชาวไทย |
โอ้สามัญผันแปรไม่แท้เที่ยง | เหมือนอย่างเยี่ยงชายหญิงทิ้งวิไสย |
นี่ฤๅจิตรคิดหมายมีหลายใจ | ที่จิตรใครจะเปนหนึ่งอย่าพึงคิด |
ถึงบางพูดพูดดีเปนศรีศักดิ์ | มีคนรักรศถ้อยอร่อยจิตร |
แม้นพูดชั่วตัวตายทำลายมิตร | จะชอบผิดในมนุษย์เพราะพูดจา |
ถึงบ้านใหม่ใจจิตรก็คิดอ่าน | จะหาบ้านใหม่มาดเหมือนปราถนา |
ขอให้สมคะเนเถิดเทวา | จะได้ผาศุกสวัสดิ์กำจัดไภย |
ถึงบางเดื่อโอ้มะเดื่อเหลือประหลาด | บังเกิดชาติแมลงหวี่มีในไส้ |
เหมือนคนพาลหวานนอกย่อมขมใน | อุประมัยเหมือนมะเดื่อเหลือระอา |
ถึงบางหลวงเชิงรากเหมือนจากรัก | สู้เสียศักดิ์สังวาศพระสาสนา |
เปนล่วงพ้นรนราคราคา | ถึงนางฟ้าจะมาให้ไม่ไยดี |
ถึงสามโคกโศกถวิลถึงปิ่นเกล้า | พระพุทธเจ้าหลวงบำรุงซึ่งกรุงศรี |
ประทานนามสามโคกเปนเมืองตรี | ชื่อประทุมธานีเพราะมีบัว |
โอ้พระคุณสูญลับไม่กลับหลัง | แต่ชื่อตั้งก็ยังอยู่เขารู้ทั่ว |
โอ้เรานี้ที่สุนทรประทานตัว | ไม่รอดชั่วเช่นสามโคกยิ่งโศกใจ |
สิ้นแผ่นดินสิ้นนามตามเสด็จ | ต้องเที่ยวเตร็ดเตร่หาที่อาไศรย |
แม้นกำเนิดเกิดชาติใดใด | ขอให้ได้เปนข้าฝ่าธุลี |
สิ้นแผ่นดินขอให้สิ้นชีวิตรบ้าง | อย่ารู้ร้างบงกชบทศรี |
เหลืออาไลยใจตรมระทมทวี | ทุกวันนี้ก็ซังตายทรงกายมา |
ถึงบ้านงิ้วเห็นแต่งิ้วละลิ่วสูง | ไม่มีฝูงสัตว์สิงกิ่งพฤกษา |
ด้วยหนามดกรกดาษระดะตา | นึกก็น่ากลัวหนามขามขามใจ |
งิ้วนรกสิบหกองคุลีแหลม | ดังขวากแซมเซี่ยมแซกแตกไสว |
ใครทำชู้คู่ท่านครั้นบรรไลย | ก็ต้องไปปีนต้นน่าขนพอง |
เราเกิดมาอายุเพียงนี้แล้ว | ยังคลาศแคล้วครองตัวไม่มัวหมอง |
ทุกวันนี้วิปริตผิดทำนอง | เจียนจะต้องปีนบ้างฤๅอย่างไร |
โอ้คิดมาสารพัดจะตัดขาด | ตัดสวาดิ์ตัดรักมิยักไหว |
ถวิลหวังนั่งนึกอนาถใจ | ถึงเกาะใหญ่ราชครามพอยามเย็น |
ดูห่างย่านบ้านช่องทั้งสองฝั่ง | ระวังทั้งสัตว์น้ำจะทำเข็ญ |
เปนที่อยู่ผู้ร้ายไม่วายเว้น | เที่ยวซ่อนเร้นตีเรือเหลือระอา |
พระสุริยงลงลับพยับฝน | ดูมัวมนมืดมิดทุกทิศา |
ถึงทางลัดตัดทางมากลางนา | ทั้งแฝกคาแขมกกขึ้นรกเรี้ยว |
เปนเงาง้ำน้ำเจิ่งดูเวิ้งว้าง | ทั้งกว้างขวางขวัญหายไม่วายเหลียว |
เห็นดุ่มดุ่มหนุ่มสาวเสียงกราวเกรียว | ล้วนเรือเพรียวพร้อมหน้าพวกปลาเลย |
เขาถ่อคล่องว่องไวไปเปนยืด | เรือเราฝืดเฝือมานิจาเอ๋ย |
ต้องถ่อค้ำร่ำไปทั้งไม่เคย | ประเดี๋ยวเสยสวบตรงเข้าพงรก |
กลับถอยหลังรั้งรอเฝ้าถ่อถอน | เรือขย่อนโยกโยนกะโถนหก |
เงียบสงัดสัตว์ป่าคณานก | น้ำค้างตกพร่างพรายพระพายพัด |
ไม่เห็นคลองต้องค้างอยู่กลางทุ่ง | พอหยุดยุงฉูชุมมารุมกัด |
เปนกลุ่มกลุ่มกลุ้มกายเหมือนทรายซัด | ต้องนั่งปัดแปะไปมิได้นอน |
แสนวิตกอกเอ๋ยมาอ้างว้าง | ในทุ่งกว้างเห็นแต่แขมแซมสลอน |
จนดึกดาวพราวพร่างกลางอัมพร | กะเรียนร่อนร้องก้องเมื่อสองยาม |
ทั้งกบเขียดเกรียดกรีดจังหรีดเรื่อย | พระพายเฉื่อยฉิวฉิววะหวิวหวาม |
วังเวงจิตรคิดคนึงรำพึงความ | ถึงเมื่อยามยังอุดมโสมนัศ |
สำรวลกับเพื่อนรักสพรักพร้อม | อยู่แวดล้อมหลายคนปรนนิบัติ |
โอ้ยามเข็ญเห็นอยู่แต่หนูพัด | ช่วยนั่งปัดยุงให้ไม่ไกลกาย |
จนเดือนเด่นเห็นนกกระจับจอก | รดะดอกบัวเผื่อนเมื่อเดือนหงาย |
เห็นร่องน้ำลำคลองทั้งสองฝ่าย | ข้างน่าท้ายถ่อมาในสาคร |
จนแจ่มแจ้งแสงตวันเห็นพรรณผัก | ดูน่ารักบรรจงส่งเกสร |
เหล่าบัวเผื่อนแลสล้างริมทางจร | ก้ามกุ้งซ้อนเสียดสาหร่ายใต้คงคา |
สายติ่งแกมแซมสลับต้นตับเต่า | เปนเหล่าเหล่าแลรายทั้งซ้ายขวา |
กระจับจอกดอกบัวบานผกา | ดาษดาดูขาวดั่งดาวพราย |
โอ้เช่นนี้สีกาได้มาเห็น | จะลงเล่นกลางทุ่งเหมือนมุ่งหมาย |
ที่มีเรือน้อยน้อยจะลอยพาย | เที่ยวถอนสายบัวผันสันตวา |
ถึงตัวเราเล่าถ้ายังมีโยมหญิง | ไหนจะนิ่งดูดายอายบุบผา |
คงจะใช้ให้ศิษย์ที่ติดมา | อุส่าห์หาเอาไปฝากตามยากจน |
นี่จนใจไม่มีเท่าขี้เล็บ | ขี้เกียจเก็บเลยทางมากลางหน |
พอรอนรอนอ่อนแสงพระสุริยน | ถึงตำบลกรุงเก่ายิ่งเศร้าใจ |
มาทางท่าน่าจวนจอมผู้รั้ง | คิดถึงครั้งก่อนมาน้ำตาไหล |
จะแวะหาถ้าท่านเหมือนเมื่อเปนไวย[๑] | ก็จะได้รับนิมนต์ขึ้นบนจวน |
แต่ยามยากหากว่าถ้าท่านแปลก | อกมิแตกเสียฤๅเราเขาจะสรวล |
เหมือนเข็ญใจใฝ่สูงไม่สมควร | จะต้องม้วนหน้ากลับอัประมาณ |
มาจอดท่าหน้าวัดพระเมรุข้าม | ริมอารามเรือเรียงเคียงขนาน |
บ้างขึ้นล่องร้องลำเล่นสำราญ | ทั้งเพลงการเกี้ยวแก้กันแซ่เซง |
บ้างฉลองผ้าป่าเสภาขับ | ระนาดรับรัวคล้ายกับนายเส็ง |
มีโคมรายแลอร่ามเหมือนสำเพ็ง | เมื่อคราวเคร่งก็มิใคร่จะได้ดู |
อ้ายลำหนึ่งครึ่งท่อนกลอนมันมาก | ช่างยาวลากเลื้อยเจื้อยจนเหนื่อยหู |
ไม่จบบทลดเลี้ยวเหมือนเงี้ยวงู | จนลูกคู่ขอทุเลาว่าหาวนอน |
ได้ฟังเล่นต่างต่างที่ข้างวัด | จนสงัดเงียบหลับลงกับหมอน |
ประมาณสามยามคล้ำในอัมพร | อ้ายโจรจรจู่จ้วงเข้าล้วงเรือ |
นาวาเอียงเสียงกุกลุกขึ้นร้อง | มันดำล่องน้ำไปช่างไวเหลือ |
ไม่เห็นหน้าสานุศิษย์ที่ชิดเชื้อ | เหมือนเนื้อเบื้อบ้าเคอะดูเซอะซะ |
แต่หนูพัดจัดแจงจุดเทียนส่อง | ไม่เสียของขาวเหลืองเครื่องอัฏฐะ |
ด้วยเดชะตบะบุญกับคุณพระ | ไชยชนะมารได้ดังใจปอง |
ครั้นรุ่งเช้าเข้าเปนวันอุโบสถ | เจริญรศธรรมาบูชาฉลอง |
ไปเจดีย์ที่ชื่อภูเขาทอง | ดูสูงล่องลอยฟ้านภาไลย |
อยู่กลางทุ่งรุ่งโรจน์สันโดดเด่น | เปนที่เล่นนาวาคงคาใส |
ที่พื้นลานฐานบัตรถัดบันได | คงคงไลยล้อมรอบเปนขอบคัน |
มีเจดีย์วิหารเปนลานวัด | ในจังหวัดวงแขวงกำแพงกั้น |
ที่องค์ก่อย่อเหลี่ยมสลับกัน | เปนสามชั้นเชิงชานตระหง่านงาม |
บันไดมีสี่ด้านสำราญรื่น | ต่างชมชื่นชวนกันขึ้นชั้นสาม |
ประทักษิณจินตนาพยายาม | ได้เสร็จสามรอบคำนับอภิวันท์ |
มีห้องถ้ำสำหรับจุดเทียนถวาย | ด้วยพระพายพัดเวียนอยู่เหียนหัน |
เปนลมทักขิณาวัตรน่าอัศจรรย์ | แต่ทุกวันนี้ชราหนักหนานัก |
ทั้งองค์ฐานรานร้าวถึงเก้าแสก | เผลอแยกยอดสุดก็หลุดหัก |
โอ้เจดีย์ที่สร้างยังร้างรัก | เสียดายนักนึกน่าน้ำตากระเด็น |
กระนี้ฤๅชื่อเสียงเกียรติยศ | จะมิหมดล่วงน่าทันตาเห็น |
เปนผู้ดีมีมากแล้วยากเย็น | คิดก็เปนอนิจจังเสียทั้งนั้น |
ขอเดชะพระเจดีย์คิรีมาศ | บรรจุธาตุที่ตั้งนรังสรรค์ |
ข้าอุส่าห์มาเคารพอภิวันท์ | เปนอนันต์อานิสงส์ดำรงกาย |
จะเกิดชาติใดใดในมนุษย์ | ให้บริสุทธสมจิตรที่คิดหมาย |
ทั้งทุกข์โศกโรคไภยอย่าใกล้กราย | แสนสบายบริบูรณ์ประยูรวงค์ |
ทั้งโลโภโทโสแลโมหะ | ให้ชนะใจได้อย่าใหลหลง |
ขอฟุ้งเฟื่องเรืองวิชาปัญญายง | ทั้งให้ทรงศีลขันธ์ในสันดาน |
อีกสองสิ่งหญิงร้ายแลชายชั่ว | อย่าเมามัวหมายรักสมัคสมาน |
ขอสมหวังตั้งประโยชน์โพธิญาณ | ตราบนิพพานภาคน่าให้ถาวร |
พอกราบพระปะดอกประทุมชาต | พบพระธาตุสถิตย์ในเกสร |
สมถวิลยินดีชุลีกร | ประคองช้อนเชิญองค์ลงนาวา |
กับหนูพัดมัสการสำเร็จแล้ว | ใส่ขวดแก้ววางไว้ใกล้เกษา |
มานอนกรุงรุ่งขึ้นจะบูชา | ไม่ปะตาตันอกยิ่งตกใจ |
แสนเสียดายหมายจะชมบรมธาตุ | ใจจะขาดคิดมาน้ำตาไหล |
โอ้บุญน้อยลอยลับครรไลไกล | เสียน้ำใจเจียนจะดิ้นสิ้นชีวัน |
สุดจะอยู่ดูอื่นไม่ฝืนโศก | กำเริบโรคร้อนฤไทยเฝ้าใฝ่ฝัน |
พอกรู่กรู่สุริฉายขึ้นพรายพรรณ | ให้ล่องวันหนึ่งมาถึงธานี |
ประทับท่าน่าอรุณอารามหลวง | ค่อยสร่างทรวงทรงศีลพระชินศรี |
นิราศเรื่องเมืองเก่าของเรานี้ | ไว้เปนที่โสมนัสทัศนา |
ด้วยได้ไปเคารพพระพุทธรูป | ทั้งสถูปบรมธาตุพระสาสนา |
เปนนิไสยไว้เหมือนเตือนศรัทธา | ตามภาษาไม่สบายพอคลายใจ |
ใช่จะมีที่รักสมัคมาด | แรมนิราศร้างมิตรพิศมัย |
ซึ่งครวญคร่ำทำทีพิรี้พิไร | ตามนิไสยกาพย์กลอนแต่ก่อนมา |
เหมือนแม่ครัวขั้วแกงแพนงผัด | สารพัดเพียญฉนังเครื่องมังสา |
อันพริกไทยใบผักชีเหมือนสีกา | ต้องโรยหน้าเสียสักหน่อยอร่อยใจ |
จงทราบความตามจริงทุกสิ่งสิ้น | อย่านึกนินทาแกล้งแหนงไฉน |
นักเลงกลอนนอนเปล่าก็เศร้าใจ | จึงร่ำไรเรื่องร้างเล่นบ้างเอย ฯ |
ที่มา
แพร สุพิศรา says
วรยุทธ์ของเจ้าร้ายกาจมาก เลื่อมใสๆ
Dan Akstar says
ต้องชื่นชมว่าเป็นผลงานที่ยอดเยี่ยม
punjasin says
เว็บติวฟรีนี้ดีมากจริงๆครับ ผมเข้ามาหาความรู้อ่านทุกวันเลย จะแชร์บอกเพื่อนๆให้เข้ามาอ่านด้วยนะครับ ความรู้ดีๆมีอยู่เต็มไปหมด ถ้าเราสนใจมัน