นิราศอิเหนา ถือเป็นวรรณกรรมชิ้นสำคัญยิ่งแห่งยุครัตนโกสินทร์ ที่ประพันธ์โดยท่านบรมครูแห่งยุค สุนทรภู่ ด้วย กลอนแปดสุภาพ นิราศอิเหนามีการสะท้อนให้เห็นถึงเรื่องโชคลาง เทพเทวดาต่างๆ อีกทั้งยังมีการสะท้อนถึงวิถีชีวิตของบุคลในเรื่อง รวมถึงการเดินทาง กรใช้ชีวิตในป่า การรบ และการบวชอีกด้วย
นิราศอิเหนา ถือเป็นกระบวนบทละครรำที่มีชื่อเสียงเป็นที่สุด ตั้งแต่ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
ประวัตินิราศอิเหนา
สุนทรภู่เป็นผู้แต่งนิราศอิเหนา ตอนท่านบวชในสมัยรัชกาลที่ ๓ เมื่อช่วงก่อนปี พ.ศ. ๒๓๗๘ เพื่อขึ้นเพื่อถวายพระองค์เจ้าลักขณานุคุณ เมื่อครั้งที่สุนทรภู่ได้อาศัยพึ่งพาพระบารมีของพระองค์
คุณค่าด้านวรรณศิลป์ของนิราศอิเหนา
นิราศอิเหนามีความสำคัญและคุณค่าต่างๆตามนี้
- การเลือกใช้คำเลียนเสียงธรรมชาติ
- การเลือกใช้คำพ้องเสียง คำซ้ำ
- การเลือกใช้คำโดยคำนึงถึงเสียงสัมผัส
- การใช้คำให้ถูกต้องตรงตามความหมาย
- การเลือกคำให้เหมาะสมกับเรื่องและฐานะของบุคคลในเรื่อง
ลักษณะพิเศษของนิราศอิเหนา
โดยทั่วไปแล้วนิราศที่สุนทรภู่เป็นผู้แต่งขึ้น ท่านจะใส่ให้ตัวเองลงไปอยู่ในบทนิราศด้วยอยู่เสมอๆ เพื่อเป็นการบรรยายถึงตัวท่าน ความคิดและอารมณ์ของท่าน ภายใต้สภาพแวดล้อมต่างๆในขณะนั้น ที่ท่านเดินทางไปในสถานที่ต่างๆ
นิราศอื่นๆของสุนทรภู่ประกอบไปด้วย นิราศเมืองแกลง นิราศพระบาท นิราศภูเขาทอง นิราศเมืองสุพรรณ นิราศวัดเจ้าฟ้า นิราศอิเหนา นิราศพระแน่นดงรัง นิราศพระปฐม และนิราศเมืองเพชรบุรี
โดยนิราศอิเหนาจะมีความพิเศษ แตกต่างจากนิราศอื่นๆที่ท่านสุนทรภู่แต่งขึ้นอย่างชัดเจน ความพิเศษของนิราศอิเหนาคือ สุนทรภู่จะไม่ใส่ตัวเองลงไปในบทประพันธ์เลย แต่จะเป็นการบรรยายถึงความรักของอิเหนา ตัวละครเอกของวรรณกรรมชิ้นนี้
เนื้อเรื่องย่อของนิราศอิเหนา
- อิเหนาเป็นชื่อที่เราเรียกตัวเอกของเรื่อง คือระเด่นมนตรี ผู้เป็นเจ้าชายแห่งเมืองกุเรปัน
- เมื่อยังเด็ก อิเหนาได้หมั้นหมายไว้กับระเด่นบุษบา เจ้าหญิงเมืองดาหา
- เมื่ออิเหนาเติบโตเป็นหนุ่มต้องไปราชกิจต่างเมือง และได้พบกับนางจินตหรา ธิดาของเจ้าระตูบ้านนอก จนได้นางเป็นชายา
- ความทราบถึงเมืองดาหา ท้าวดาหาโกรธนัก จึงยกนางบุษบาให้แก่ระตูจรกา ผู้รูปชั่วตัวดำแต่มีใจมั่นคงสัตย์ซื่อ
- ครั้นมาภายหลัง อิเหนาได้พบกับบุษบา และเกิดหลงรักนางจนสุดชีวิตจิตใจ นึกเสียดายที่ตนต้องเสียคู่หมั้นแสนสวยให้แก่ระตูรูปชั่ว อิเหนาจึงลักพาตัวนางบุษบามาไว้ยังถ้ำทอง
- อิเหนากลับจากไปแก้สงสัยที่เมืองดาหา แล้วพบว่านางบุษบาที่ตนลักตัวมาซ่อนไว้ที่ถ้ำทอง ถูกลมพายุพัดหายไปเสียแล้ว
- เจ้าเมืองต่างก็แกรงกลัวอิเหนา ต่างนำราชนิดามาถวาย แต่อิเหนาไม่สนใจ เพียงพูดคุยตามมารยาทเท่านั้น เหล่าทหารต่างอ่อนแรง
- เมื่อมาถึงเมืองดาหลัง อิเหนาตัดสินใจบวชอยากอุทศผลบุญให้นางบุษบา หากนางตายไปแล้วจริงๆ และกรวดน้ำอธิฐานขออุทิศส่วนบุญกุศลให้นางบุษบาไปเกิดที่ไหนแห่งไหน ขอให้ได้เกิดมาเป็นคู่กัน
- เมื่อกรวดน้ำเสร็จก็เดินเข้าห้องทุกเช้าค่ำยังเฝ้าแต่นึกถึงนางบุษบา
- อิเหนาโศกเศร้าเมื่อนึกถึงบุษบาที่ถูกพระพายพัดหายไป นึกถึงบุษบาว่าตอนนี้นางจะเป็นเช่นไร เมื่องมองตามไปก็เห็นแต่กลุ่มเมฆ มองดูท้องฟ้าก็โศกเศร้า เมื่อเดินเข้าไปในห้องยังคงนึกถึงนาง นึกถึงตักที่เคยหนุนตอนนี้นางจะอยู่ที่ใด ครั้นเมื่อหลับตานอนยังคงเฝ้าฝันถึงนาง สะดุ้งตื่นยิ่งเห็นสิ่งของในห้องทำให้ยิ่งคิดถึง ทั้งกลิ่นหอมดอกไม้หมอเหมือนกลิ่นกายของนาง
- เมื่อสว่างพระพายยังไม่พานางบุษบามาคืน จึงออกตามหาและเปลี่ยนชื่อเป็นปันจุเหร็จไปกับเหล่าทหารและน้องวิยะดา
- เมื่อเดินทางไปเรื่อยๆ ก็พบหวยน้ำลำธรและผ่านเมืองต่างๆ ก็ยังไม่พบนางบุษบาสักที
- เมื่อเวลาผ่านไป ๗ เดือน อิเหนาผอมเพราะตรอมใจ
- อิเหนาตามหานางบุษบาอยู่เจ็ดเดือนก็หาไม่พบ เนื้อเรื่องจบลงที่อิเหนาและไพร่พลออกบวชอุทิศกุศลให้นางบุษบา ซึ่งอิเหนาคิดว่าคงจะตายไปแล้ว
เนื้อเรื่องเต็มของนิราศอิเหนา
เนื้อเรื่องของนิราศอิเหนา ได้ถูกแบ่งออกเป็น ตอนๆ ยาวถึง 17 ตอน โดยมีเนื้อหาของแต่ละตอนดังนี้
ตอนที่ ๑ กล่าวถึงเมืองหมันหยา มีธงไชยผุดขึ้น ๔ ทิศทางให้เกิดข้าวยากหมากแพงกษัตริย์วงศ์เทวัญทั้ง ๔ องค์ คือ กุเรปัน ดาหา และสิงหัดส่าหรี มาอาสาถอนธงไชยนั้นได้ ท้าวหมันหยาจึงยกธิดาทั้ง ๔ ให้และแบ่งเมืองให้ครอบครอง จากนั้นเป็นประวัติของอิเหนา จินตะหรา บุษบาและสียะตรา อิเหนาโอรสของท้าวกุเรปันได้หมั้นหมายกับบุษบาธิดาของท้าวดาหา แต่ทั้งสององค์ไม่เคยพบกันเลย
ตอนที่ ๒ อิเหนาไปช่วยงานพระศพพระอัยกีที่เมืองหมันหยา ได้พบจินตะหราและรักใคร่ชอบพอกัน เมื่อท้าวกุเรปันขอให้ท้าวดาหาเตรียมการอภิเษกอิเหนากับบุษบา อิเหนาไม่เคยพบบุษบาจึงทำอุบายไปเที่ยวป่าเพื่อหนีพิธีสยุมพร
ตอนที่ ๓ อิเหนากลับมาจากหมันหยา วิยะดาประสูติ ท้าวดาหาของหมั้นวิยะดาให้สียะตราน้องบุษบา ท้าวกุเรปันของให้ท้าวดาหาเตรียมการอภิเษกอิเหนากับบุษบา อิเหนาไม่เคยพบบุษบาจึงทำอุบายไปเที่ยวป่าเพื่อหนีพิธีสยุมพร
ตอนที่ ๔ อิเหนาปลอมตัวเป็นชาวป่าชื่อมิสาระปันหยี และได้รบชนะท้าวปักมาหงันกับ ๒ พี่น้อง ได้นางมาหยารัศมีและสการะวาตีเป็นบรรณาการ ได้สังคามาระตาเป็นน้อง
ตอนที่ ๕ อิเหนาเข้าเมืองหมันหยา ได้จินตะหราและอยู่ด้วยกัน ท้าวกุเรปันให้คนไปตาม ก็ไม่ยอมกลับ และอิเหนายังออกปากอนุญาตให้บุษบาเลือกชายอื่นอภิเษกได้ ท้าวดาหาจึงประกาศบุษบาให้ใครก็ได้ที่มาสู่ขอ
ตอนที่ ๖ กล่าวถึงระตูจรการูปชั่วตัวดำ แต่ต้องการมีมเหสีที่รูปงาม จึงให้ช่างไปวาดรูป หญิงสาวตามเมืองต่าง ๆ มาให้เลือก ช่างไปวาดรูปบุษบาได้ ๒ รูป ระหว่างทางองค์ปะตาระกาหลาได้บันดาลให้รูปหายรูปหนึ่ง จรกาเห็นรูปบุษบาก็หลงรักและให้ท้าวล่าสำผู้เชษฐาไปสู่ขอ ท้าวดาหาก็ประทานบุษบาให้จรกา
ตอนที่ ๗ วิหยาสะกำ โอรสของท้าวกะหมังกุหนิงได้รูปบุษบาที่ช่างวาดของจรกาทำหาย ก็เพ้อถึงบุษบารบเร้าให้บิดาไปสู่ขอ ท้าวดาหาปฏิเสธ ท้าวกะหมังกุหนิงจึงยกทัพมาตีดาหา กษัตริย์วงศ์เทวาทั้งสามเมืองยกทัพมาช่วยป้องกันเมืองดาหา จรกายกทัพมาถึงเมื่อสงครามสิ้นสุดลงแล้ว
ตอนที่ ๘ อิเหนาเข้าเฝ้าท้าวดาหาได้พบนางบุษบาก็หลงรักและเสียดายนาง จรกาเร่งให้ทำพิธีอภิเษก อิเหนาล้มเจ็บลงทำให้ต้องเลื่อนพิธีออกไป เมื่ออิเหนาหายป่วย ท้าวดาหาจึงเตรียมอภิเษกบุษบากับจรกา อิเหนาหาอุบายจะลักพาบุษบา
ตอนที่ ๙ อิเหนาปลอมเป็นชาวเมืองกะหมังกุหนิง เข้าปล้นเมืองดาหาขณะที่ในเมืองกำลังมีมหรสพฉลองก่อนพิธีอภิเษก ท้าวกุเรปันและท้าวดาหาไปบัญชาดับไฟ อิเหนาแอบไปลักพาบุษบาไปไว้ในถ้ำ
ตอนที่ ๑๐ อิเหนาเข้าเมืองมาแก้สงสัยและอาสาติดตามนางบุษบา เอาวิยะดาไปด้วย ปรากฏว่าบุษบาถูกลมหอบไปเสียแล้ว อิเหนาจึงปลอมเป็นชาวป่าชื่อปันหยีและปลอมวิยะดาเป็นเกนหลงหนึ่งหรัด ออกติดตามบุษบาทั่วเกาะชวาก็ไม่พบจึงไปบวชเป็นอายัน (ฤาษี)
ตอนที่ ๑๑ ฝ่ายบุษบาซึ่งถูกลมหอบไป องค์ปะตาระกาหลาแปลงตัวให้เป็นชายชื่ออุณากรรณ ได้เป็นบุตรบุญธรรมของท้าวประมอตัน วันที่อิเหนาบวชนั้นให้เร่าร้อนใจ จึงขออนุญาตบิดาบุญธรรม
ออกท่องเที่ยวหาสตรีที่พอใจ โดยเจตนาจะตามหาอิเหนา ระหว่างการเดินทางได้เมืองขึ้นหลายเมืองและได้นางกุสุมาเป็นคู่หมั้นของสังคามาระตาเป็นมเหสี แต่แสร้งกล่าวว่ายังร่วมกับสตรีไม่ได้ภายใน ๓ ปี เพราะบนไว้
ตอนที่ ๑๒ อุณากรรณยกทัพเมืองประมอตันไปพบปันหยี แต่จำกันไม่ได้จึงเลยเข้าเมืองกาหลัง ท้าวกาหลังรับไว้เป็นโอรสบุญธรรม ปันหยีสงสัยว่าอุณากรรณคือบุษบา จึงลาผนวชติดตามเข้าเมืองกาหลังด้วย ระหว่างนั้นกาหลังเกิดศึก ปันหยีและอุณากรรณช่วยรบจนชนะ อุณากรรณเกรงปันหยีจะทราบว่าตนเป็นสตรี จึงทูลลาท้าวกาหลังออกตามหาอิเหนาต่อ
ตอนที่ ๑๓ สังคามาระตาเชื่อว่าอุณากรรณคือบุษบา และหลังรักนางกุสุมาคู่หมั้นของตนเอง จึงให้มหาดเล็กไปแอบดูเวลาอุณากรรณลงสรงก็ทราบว่าเป็นหญิง อุณากรรณลาปันหยีแล้วยกทัพออกจากเมือง และปลีกตัวจากกองทัพไปบวชชี (แอหนัง) พร้อมกับพี่เลี้ยง
ตอนที่ ๑๔ สียะตราออกติดตามหาอิเหนา บุษบาและวิยะดา โดยปลอมเป็นชาวป่าชื่อ ย่าหรัน องค์ปะตาระกาหลาแปลงเป็นนกยูงมาล่อให้ย่าหรันเข้าเมืองกาหลังไปพบปันหยีและเกนหลง สังคามาระตาเป็นใจให้ย่าหรันรักเกนหลง ปันหยีตามไปรับแต่ไม่แพ้ชนะกัน สังคามาระตาจึงขอ กริชย่าหรันให้ปันหยีดูจึงได้รู้จักกัน
ตอนที่ ๑๕ ระตูมะงาดาให้คนมาลักตัวปันหยีเพื่อจะได้สู่ขอนางสกาหนึ่งรัด ธิดาท้าวกาหลังไปให้อนุชาของตน แต่ลักผิดตัวได้ย่าหรันไปขังไว้ ระเด่นตะราหงันธิดาของระตูมะงาดาช่วยย่าหรันและย่าหรันได้นางเป็นชายา ปันหยีออกตามหาย่าหรันไปพบบุษบาซึ่งบวชเป็นแอหนัง เข้าใจว่านางเป็นมเหสีของอุณากรรณ
ตอนที่ ๑๖ สังคามาระตาทำอุบายเชิดหนังเป็นเรื่องราวระหว่างอิเหนากับบุษบาตั้งแต่ต้นแอหนังบุษบาเศร้าโศกมาก พี่เลี้ยงออกมาดูคนเชิดหนังเห็นเป็นปะสันตาก็จำได้ อิเหนาจึงลักนางบุษบาไปอยู่ร่วมกันในเมืองกาหลัง ฝ่ายย่าหรันกับนางดะราหวันหนีจากเมืองมะงาดามาได้ ระตูมะงาดา ตามมารบแต่แพ้จึงยอมเป็นเมืองขึ้นต่อกาหลัง
ตอนที่ ๑๗ ตอนสุดท้ายสังคามาระตาไปช่วยท้าวประมอตันรบกับระตูล่าสำ และได้ระเด่นกุสุมาซึ่งไปกับกองทัพของอุณากรรณนั้น สียะตราลอบส่งข่าวไปถึงท้าวกุเรปันและท้าวดาหา กษัตริย์ทั้งสองเดินทางมาเมืองกาหลัง และจัดพิธีอภิเษกสมรสระเด่นที่หมั้นกันแล้วทุกคู่ รวมทั้งเชิญจินตะหรามาร่วมพิธีด้วย
บทประพันธ์นิราศอิเหนา
๏ ปางอิเหนาเศร้าสุดถึงบุษบา | พระพายพาพัดน้องเที่ยวล่องลอย |
ตะลึงเหลียวเปลี่ยวเปล่าให้เหงาหงิม | สุชลปริ่มเปี่ยมเหยาะเผาะเผาะผอย |
โอ้เย็นค่ำน้ำค้างลงพร่างพร้อย | น้องจะลอยลมบนไปหนใด |
หรือเทวัญชั้นฟ้ามาพาน้อง | ไปไว้ห้องช่องสวรรค์ที่ชั้นไหน |
แม้นน้องน้อยลอยถึงชั้นตรึงส์ตรัย | สหัสนัยน์จะช่วยรับประคับประคอง |
หรือไปปะพระอาทิตย์พิศวาส | ไปร่วมอาสน์เวชยันต์ผันผยอง |
หรือเมขลาพาชวนนวลละออง | เที่ยวลอยล่องเลียบฟ้าชมสาคร |
หรือไปริมหิมพานต์ชานไกรลาส | บริเวณเมรุมาศราชสิงขร |
โอ้ลมแดงแสงแดดจะแผดส่อง | จะมัวหมองมิ่งขวัญจะหวั่นไหว |
จะดั้นหมอกออกเมฆวิเวกใจ | นี่เวรใดเด็ดสวาทให้คลาดคลาฯ |
๏ พระผันแปรแลรอบขอบทวีป | เห็นแต่กลีบเมฆเคลื่อนเกลื่อนเวหา |
จะแลดูสุริยนก็สนธยา | จะดูฟ้าฟ้าคล้ำให้รำจวน |
ฝืนวิโยคโศกเศร้าเข้าในห้อง | เห็นแท่นทองที่ประทมภิรมย์สงวน |
ไม่เห็นนุชสุดจะทรงพระองค์ซวน | ละห้อยหวนหิวโหยด้วยโรยแรง |
ยลยี่ภู่ปูเปล่าเศร้าสลด | ระทวยทดทอดทบซบกันแสง |
โอ้สุดแสนแค้นอารมณ์ด้วยลมแดง | ดูเหมือนแกล้งพัดไปให้ไกลทรวง |
เสียดายเอ๋ยเคยแอบแนบสนิท | ถึงชีวิตวอดวายไม่หายห่วง |
โอ้น้องนุชบุษบาสุดาดวง | พี่เปล่าทรวงทรวงดังจะพังโทรมฯ |
๏ โอ้โพล้เพล้เวลาปานฉะนี้ | เคยเข้าที่พี่เคยได้เชยโฉม |
เห็นแต่ห้องน้องน้อยลอยโพยม | ยามประโลมมิรู้ลืมเจ้าปลื้มใจ |
โอ้เขนยเคยหนุนยังอุ่นอ่อน | แต่น้องน้อยลอยร่อนไปนอนไหน |
ยี่ภู่เอ๋ยเคยชิดสนิทใน | วันนี้ไกลกลอยสวาทอนาถนอน |
โอ้รินรินกลิ่นนวลยังหวนหอม | เคยถนอมแนบทรวงดวงสมร |
ยังรื่นรื่นชื่นใจอาลัยวอน | สะอื้นอ้อนอ่อนอารมณ์ระทมทวี |
จนฆ้องค่ำย่ำหึ่งหึ่งกระหึม | ยิ่งเศร้าซึมโศกาถึงยาหยี |
โอ้ยามอยู่คูหาเวลานี้ | เคยพาทีทอดประทับไว้กับทรวงฯ |
๏ โอ้อกเอ๋ยเคยอุ่นละมุนละม่อม | เคยโอบอ้อมอ่อนตามไม่ห้ามหวง |
ยังเคลิ้มเคล้นเช่นปทุมกระพุ่มพวง | เคยแนบทรวงไสยาสน์ไม่คลาดคลาย |
จนเคลิ้มองค์หลงเชยเขนยหนุน | ถนอมอุ่นแอบประโลมว่าโฉมฉาย |
ครั้นรู้สึกดึกดื่นสะอื้นอาย | แสนเสียดายสุดจะดิ้นสิ้นชีวัน |
เห็นสิ่งของน้องนุชยิ่งสุดเศร้า | พระทัยเฝ้าเคลิ้มไคล้ดังใฝ่ฝัน |
ยิ่งรำลึกตรึกตรายิ่งจาบัลย์ | สุดจะกลั้นรีบออกนอกบรรพตฯ |
๏ พินิจจันทร์วันเพ็งขึ้นเปล่งแสง | กระจ่างแจ้งแจ่มวงทั้งทรงกลด |
สี่พี่เลี้ยงเคียงพร้อมน้อมประณต | พระเลี้ยวลดแลแสวงดูแสงเดือน |
ดูเก๋งก่อต่อเตาเห็นเงาคล้าย | เขม้นหมายมุ่งไปก็ไม่เหมือน |
เห็นเงาไม้ไหวหวั่นให้ฟั่นเฟือน | จนเดือนเคลื่อนคล้อยฟ้าให้อาวรณ์ |
เห็นสระศรีที่เคยมาประพาส | ระดะดาษดอกดวงบัวหลวงสลอน |
ลมรำเพยเชยชายกระจายจร | หอมเกสรเสาวคนธ์ที่หล่นโรยฯ |
๏ โอ้รินรินกลิ่นบุหงาสะตาหมัน | เหมือนกลิ่นจันทน์เจือนวลให้หวนโหย |
หอมยี่หุบสุกรมดอกยมโดย | พระพายโชยเฉื่อยชื่นยืนตะลึง |
โอ้ที่นี่ศีลาเคยมานั่ง | เห็นบัลลังก์แล้วยิ่งนึกรำลึกถึง |
ดูเงื้อมเขาเงาไม้พระไทรซึ้ง | เสียงหึ่งหึ่งผึ้งรวงเฝ้าหวงรัง |
จังหรีดหริ่งกิ่งไทรเรไรร้อง | แว่วว่าน้องนึกเสียวพระเหลียวหลัง |
เห็นน้ำพุดุดั้นตรงบัลลังก์ | เคยมานั่งสรงชลที่บนเตียง |
เจ้าสรงด้วยช่วยพี่สีขนอง | แต่น้ำต้องถูกนิดก็หวีดเสียง |
โอ้รื่นรื่นชื่นเชยที่เคยเคียง | พระทรวงเพียงเผ่าร้อนถอนฤทัย |
ทุกเงื้อมเขาเหงาเงียบเซียบสงัด | ใบไม้กวัดแกว่งกิ่งประวิงไหว |
ยะเยือกเย็นเส้นหญ้าพนาลัย | ยิ่งเยือกในทรวงช้ำระยำเย็น |
เที่ยวรอบสระปทุมาสะตาหมัน | เคยเห็นขวัญเนตรที่ไหนก็ไม่เห็น |
ชลนัยน์ไหลซกตกกระเซ็น | ยิ่งเยือกเย็นหยุดยืนกลืนน้ำตา |
จนดึกดื่นรื่นรินกลิ่นกุหลาบ | ตะลึงเหลียวเสียวซาบอาบนาสา |
เหมือนปรางทองน้องนุชบุษบา | หรือกลับมายืนแฝงอยู่แห่งใด |
เที่ยวดูดาวเปล่าเปลี่ยวเสียวสะดุ้ง | จนจวนรุ่งรางรางสว่างไสว |
หนาวน้ำค้างพร่างพรมพนมไพร | ดวงดอกไม้บานแบ่งรับแสงทอง |
หอมมณฑาสารภีดอกยี่หุบ | บ้างร่วงหรุบถูกอุระพระขนอง |
ภุมรินบินว่อนมาร่อนร้อง | อาบละอองเกสรขจรจายฯ |
๏ จนแจ่มแจ้งแสงสว่างนภางค์พื้น | ถอนสะอื้นอาลัยพระทัยหาย |
ดูเวหาว่าแสนแค้นพระพาย | ไม่พาสายสวาทคืนมาชื่นใจ |
จำจะตามทรามชมทางลมพัด | เผื่อจะพลัดตกลงที่ตรงไหน |
ดำริพลางทางสะท้อนถอนฤทัย | ให้เตรียมพลสกลไกรจะไคลคลา |
จึงแปลงนามตามกันเป็นปันจุเหร็จ | จะเที่ยวเตร็ดเตร่ในไพรพฤกษา |
พลางอุ้มองค์ยาหยีวิยะดา | ขึ้นรถแก้วแววฟ้าแล้วพาไปฯ |
๏ พระเหลียวดูภูผาสะตาหมัน | ที่สำคัญคูหาเคยอาศัย |
จะแลลับนับปีแต่นี้ไป | จะมิได้มาเห็นเหมือนเช่นเคย |
เสียแรงแต่งแปลงสร้างจะร้างเริด | ค่อยอยู่เถิดแผ่นผาคูหาเอ๋ย |
โอ้มิ่งไม้ไพรพนมเคยชมเชย | จะแลเลยลับแล้วทุกแนวเนินฯ |
๏ โอ้นกเอ๋ยเคยพากันมาจับ | จะแลลับฝูงนกระหกระเหิน |
โอ้เขาสูงฝูงหงส์เคยลงเดิน | เคยเพลิดเพลินพิศวงด้วยหงส์ทอง |
จะเริดร้างห่างหงส์ไปดงอื่น | ทุกวันคืนค่ำเช้าจะเศร้าหมอง |
โอ้ก้านกิ่งมิ่งไม้เรไรร้อง | ประสานซ้องเสียงดังดูวังเวง |
ได้เคยฟังครั้งนี้มาวิบาก | ต้องพลัดพรากเพราะว่าลมทำข่มเหง |
แม้นพบเห็นเป็นตัวไม่กลัวเกรง | จะรำเพลงกริชผลาญสังหารลม |
นี่จนใจไม่เห็นด้วยเป็นเคราะห์ | มาจำเพาะพลัดคู่เคยสู่สม |
ยิ่งสุดแสนแค้นขัดอัดอารมณ์ | จะแลชมอื่นอื่นไม่ชื่นใจ |
แต่จำเป็นเกนหลงมาดงด้วย | ต้องชี้ช่วยชมผาพฤกษาไสว |
กรดกระถินอินจันพรรณไม้ | มีดอกใบก้านกิ่งขึ้นพริ้งเพรียว |
บ้างแก่อ่อนซ้อนซับสลับสล้าง | บ้างสดสร่างสีชุ่มชอุ่มเขียว |
ที่ตายตอหน่อหนุนขึ้นรุ่นเรียว | เถาวัลย์เกี่ยวกอดกิ่งเหมือนชิงช้าฯ |
๏ พระชวนพลอดกอดน้องประคองอุ้ม | ให้ชมเพลินเดินมะงุมมะงาหรา |
ป่าประเทศเขตแคว้นแดนชวา | อินทะผาลัมชุมสลุมพัน |
โกฐสดำจำปาดะดงองุ่น | สหัสคุณขึ้นระคนปนปาหนัน |
สลาสล้างนางแย้มเข้าแกมกัน | หญ้าฝรั่นฝรั่งเรียงขึ้นเคียงดง |
โกฐกระวานกานพลูดูระบัด | กำจายกำจัดสารพันต้นตันหยง |
หอมระรื่นชื่นใจที่ในดง | พฤกษาทรงเสาวคนธ์ดังปนปรุง |
ที่พื้นปราบราบรายล้วนทรายอ่อน | เข้าดงดอนเลียบเดินเนินกุหนุง |
เทียนยี่หร่าป่าฝิ่นส่งกลิ่นฟุ้ง | สมส้มกุ้งโกฐจุฬาการบูรฯ |
๏ คิดถึงนุชบุษบานิจจาเอ๋ย | มิได้เชยชมสบายมาหายสูญ |
ยิ่งโศกเสียวเหลียวหาให้อาดูร | ยิ่งเพิ่มพูนพิศวงในดงแดน |
ดูเล็บนางนึกถึงนางเหมือนอย่างเล็บ | เคยข่วนเจ็บรอยมีอยู่ที่แขน |
เห็นนมนางกลางพนมนึกชมแทน | ละม้ายแม้นเหมือนเหมือนจะเยื้อนยิ้ม |
มะปรางต้นผลอย่างพระปรางน้อง | น้ำเนตรคลองคลอคล้อยย้อยหยิมหยิม |
ฝืนอารมณ์ชมพลับต้นทับทิม | ขึ้นรอบริมหว่างเขาลำเนาเนินฯ |
๏ พนมมาศลาดเลี่ยนเตียนตลิบ | บ้างสูงลิบลอยแหงนเป็นแผ่นเผิน |
บ้างทะมึนทึนเทิ่งเป็นเชิงเทิน | เป็นกรอกเกริ่นโกรกกรวยลำห้วยธาร |
เสียงสินธุดุดั้นลั่นพิลึก | สะท้านสะทึกโถมฟาดฉาดฉาดฉาน |
ที่น้ำโจนโผนพังดังสะท้าน | บ้างพุซ่านสาดสายสุหร่ายริน |
คะนึงถึงนุชบุษบาแม้นมาเห็น | จะลงเล่นลำธารละหานหิน |
ฝูงปลาทองท่องไล่เล็มไคลกิน | กระดิกดิ้นดูงามตามกระบวน |
ปลาเนื้ออ่อนอ่อนกายขึ้นว่ายเกลื่อน | ไม่อ่อนเหมือนเนื้อน้องประคองสงวน |
ปลานวลจันทร์นั้นก็งามแต่นามนวล | ไม่งามชวนชื่นเช่นระเด่นดวง |
พลางรีบทัพขับรถกำหนดแสวง | ทุกหล้าแหล่งลำเนาภูเขาหลวง |
ไม่ประสบพบเห็นให้เย็นทรวง | ให้เหงาง่วงเงียบเหงาเศร้าพระทัย |
ถึงพลมากจากมิตรแต่จิตเปลี่ยว | เหมือนมาเดียวดั่งจะพาน้ำตาไหล |
เห็นนกหกผกโผนโจนจับไม้ | บ้างฟุบไซ้ปีกหางต่างต่างกัน |
นกกระตั้วคลัวเคลียตัวเมียป้อน | เหมือนขวัญอ่อนแอบประทับพี่รับขวัญ |
ป้อนสลาพาชื่นทุกคืนวัน | มาจากกันกรรมเอ๋ยไม่เคยเป็น |
เห็นนกเปล้าเคล้าคู่เข้าชูชื่น | ถอนสะอื้นเหมือนไม่พอใจเห็น |
พอเวลาสายัณห์ตะวันเย็น | นกยูงเล่นลมเพลินบนเนินเตียน |
บ้างเยื้องอกหกหางก้อกางปีก | แฉลกฉลีกเลี้ยวลัดฉวัดเฉวียน |
บ้างย่างย่องจ้องประจงที่วงเวียน | ออกกลางเตียนตีนขวิดดูกรีดกรายฯ |
๏ คิดถึงไปใช้บนได้ยลสมร | เมื่อทอดกรฟ้อนรำระบำถวาย |
โอ้อาภัพลับนุชสุดเสียดาย | สะอื้นอายมยุราให้อาวรณ์ |
เห็นเขาเขียวเดี่ยวโดดล้วนโสดสูง | แต่ล้วนฝูงหงส์จับสลับสลอน |
หงส์ก็งามตามอย่างเพราะหางงอน | เป็นคู่ป้อนปกปิดกันชิดชม |
อรหันนั้นหน้าเหมือนมนุษย์ | ปีกเหมือนครุฑครีบเท้ามีเผ้าผม |
พวกม่าเหมี่ยวเที่ยวเดินเนินพนม | ลูกเล็กล้มลากจูงเหมือนฝูงคน |
เหล่าละเมาะเงาะป่าคุลาอยู่ | เที่ยวกินปูเปี้ยวป่าผลาผล |
สิงโตตื่นยืนหยัดสะบัดตน | เห็นผู้คนโผนข้ามลำเนาเนิน |
ฝูงมฤคถึกเถื่อนเที่ยวเกลื่อนกลุ้ม | เป็นคู่คุมเคียงนางไม่ห่างเหิน |
เห็นกวางทองย่องเยื้องชำเลืองเดิน | เหมือนน้องเชิญพานผ้าประหม่าเมียง |
พี่เข้าด้วยช่วยประคองพระน้องนุช | สงสารสุดสุดสวาทไม่อาจเถียง |
โอ้ยามนี้มิได้น้องประคองเคียง | พี่ก็เสี่ยงบุญตามเจ้าทรามเชย |
เป็นกุศลหนหลังเราทั้งสอง | คงได้น้องคืนมาเรียงเคียงเขนย |
แม้นกรรมหนุนบุญน้อยจะลอยเลย | มิได้เชยบุษบาพะงางอนฯ |
๏ พระครวญคร่ำร่ำไรมาในรถ | โศกกำสรดแสนเสียดายสายสมร |
พอเวลาสายัณห์ตะวันรอน | ปักษาร่อนรีบกลับมาจับรัง |
โอ้นกเอ๋ยเคยอยู่มาสู่ถิ่น | แต่ยุพินลิบลับไม่กลับหลัง |
ครั้นแลดูสุริย์แสงก็แดงดัง | หนึ่งน้ำครั่งคล้ำฟ้านภาลัย |
เหมือนครั้งนี้พี่มาโศกแสนเทวษ | ชลเนตรแดงเดือดดังเลือดไหล |
โอ้ตะวันครั้นจะลบภพไตร | ก็อาลัยโลกยังหยุดรั้งรอ |
ประหลาดนักรักเอ๋ยมาเลยลับ | เหมือนเพลิงดับเด็ดเดี่ยวไปเจียวหนอ |
ชลนัยน์ไหลหลั่งลงคลั่งคลอ | ยิ่งเย็นย่อเสียวทรวงให้ร่วงโรย |
ชะนีน้อยห้อยไม้เรไรร้อง | เสียงแซ่ซ้องเริ่มรัวเรียกผัวโหวย |
เหมือนอกพี่ที่ถวิลให้ดิ้นโดย | ละห้อยโหยหานางมากลางไพรฯ |
๏ พระสุริยงลงลับพยับค่ำ | ถึงแนวน้ำเนินผาพฤกษาไสว |
หยุดสำนักพักพลสกลไกร | พระเนาในรถทองกับน้องยา |
ถนอมแนบแอบองค์หลงหนึ่งหรัด | ให้บรรทมโสมนัสในรัถา |
ต้องจากวังครั้งนี้เพราะพี่พา | พระน้องมาอ้างว้างวังเวงใจ |
นอนเถิดหนายาหยีพี่จะกล่อม | งามละม่อมมิ่งขวัญอย่าหวั่นไหว |
คิรีรอบขอบเคียงเหมือนเวียงชัย | อยู่ร่มไม้เหมือนปราสาทราชวัง |
เคยสำเนียงเสียงนางสุรางค์เห่ | มาฟังเรไรแซ่เหมือนแตรสังข์ |
เคยมีวิสูตรรูดกั้นบนบัลลังก์ | มากำบังใบไม้ในไพรวัน |
หนาวน้ำค้างกลางคืนสะอื้นอ้อน | จะกางกรกอดน้องประคองขวัญ |
เอาดวงดาราระยับกับพระจันทร์ | ต่างช่อชั้นชวาลาระย้าย้อย |
จักจั่นหวั่นแว่วแจ้วแจ้วเสียง | ต่างสำเนียงขับครวญหวนละห้อย |
พระพายเอ๋ยเชยมาต้องพระน้องน้อย | เหมือนนางคอยหมอบกรานอยู่งานพัด |
โอ้เวลาปานฉะนี้เจ้าพี่เอ๋ย | กระไรเลยแลเงียบเชียบสงัด |
น้ำค้างเผาะเหยาะเย็นกระเซ็นซัด | ดึกสงัดดวงจิตจงนิทรา |
พระขวัญเอ๋ยเคยนอนอย่าร่อนเร่ | ไปว้าเหว่หว่างไม้ไพรพฤกษา |
ขวัญมาอยู่สู่ที่พระพี่ยา | พระมารดาบิตุเรศนิเวศน์เวียง |
พระขวัญเอ๋ยเคยแอบแนบถนอม | มาฟังกล่อมกลอนเพราะเสนาะเสียง |
โอ้แรมล่วงดวงเดือนก็เลื่อนเอียง | พี่พิศเพียงพักตร์แฝงพลิกแพลงบัง |
บุษบายาหยีเจ้าพี่เอ๋ย | ช่างลอยเลยลิบลับไม่กลับหลัง |
เมื่ออุ้มออกนอกเขตนิเวศน์วัง | พระน้องนั่งรถทรงที่ตรงริม |
พี่หยอกเย้าเซ้าซี้มีแต่โกรธ | สะอื้นโอษฐ์โอษฐ์เอี่ยมเสงี่ยมหงิม |
อยู่ใกล้เคียงเพี้ยงเอ๋ยได้เชยชิม | ถนอมนิ่มเนื้อน่วมร่วมฤทัย |
พระครวญคร่ำรำลึกจนดึกเงียบ | เย็นระเยียบหย่อมหญ้าพฤกษาไสว |
สงบเสียงสิงสัตว์สงัดไพร | ทุกกอกิ่งมิ่งไม้พระไทรครึ้ม |
สุมามาลย์บานกลิ่นระรินรื่น | ในเที่ยงคืนเสียงแต่ผึ้งหึ่งระหึม |
ผีพระไทรไม้พุ่มงุมงุมงึม | โขมดพึมผิวกู่หวิวหวู่โวย |
เหล่ามารยาป่าโป่งเที่ยวโทงเถื่อน | ตะโกนเพื่อนเพิกเสียงสำเนียงโหย |
น้ำค้างพรมลมเรื่อยเฉื่อยเฉื่อยโชย | ยิ่งดิ้นโดยเดือนดับไม่หลับเลย |
จนทรวงเจ็บเหน็บแน่นแหงนดูฟ้า | องค์ประตาระกาหลาเจ้าข้าเอ๋ย |
พระน้องนุชบุษบาเจ้าข้าเคย | เป็นคู่เชยชมชื่นให้คืนมา |
ทั้งโกสีย์ตรีเนตรเห็นเหตุสิ้น | ว่ายุพินอยู่ที่ไหนนำไปหา |
หาไม่ฉันวานแต่พระสุชาดา | ช่วยอุ้มพามาให้พบประสบกัน |
ทั้งพรหมานวานแต่พาหนะหงส์ | จะได้ทรงเหาะแสวงทุกแห่งสวรรค์ |
แม้นได้นุชบุษบาวิลาวัณย์ | จะทำขวัญหงส์พรหมให้สมยศฯ |
๏ จนพลบค่ำรำลึกนึกอนาถ | ไม่ไสยาสน์ยามวิโยคโศกกำสรด |
จนแจ่มแจ้งแสงตะวันให้รันทด | ให้ยกทัพขับรถเลี้ยวลดเดิน |
ทุกแว่นแคว้นแดนชวาสุธาทวีป | เที่ยวเร็วรีบรอบเกาะดังเหาะเหิน |
ไม่พบเห็นเป็นเคราะห์จำเพาะเผอิญ | ไปจนเกินมะละกาพารารายฯ |
๏ เมืองระตูรู้ทั่วกลัวอำนาจ | ต่างแต่งราชธิดามาถวาย |
ไม่ไยดีอีนังแต่ซังตาย | แม้นแก้วหายได้ปัดไม่ทัดเทียม |
แม้นมิเหมือนเพื่อนเชยที่เคยชิด | ไม่ขอคิดนึกหน่ายละอายเหนียม |
แต่ปราศรัยไต่ถามตามธรรมเนียม | ไม่และเลียมเลยแสวงทุกแห่งไปฯ |
๏ ถึงเจ็ดเดือนเคลื่อนคลาดประหลาดแล้ว | ไม่พบแก้วกลอยจิตพิสมัย |
จนพระรูปซูบผอมเพราะตรอมใจ | ทั้งนายไพร่พลนิกรอ่อนกำลัง |
จนถึงทางร่วมที่บุรีรัตน์ | ที่จะตัดมรคาไปกาหลัง |
เห็นเขาเขินเนินร่มพนมวัง | ต้นดงรังครึกครื้นระรื่นเย็น |
ที่ธารถ้ำน้ำพุทะลุลั่น | เป็นช่องชั้นบัลลังก์น่านั่งเล่น |
ผลาผลหล่นกลาดดาษกระเด็น | ดอกไม้เป็นดอกพร้อมหอมรัญจวน |
จะใคร่บวชสวดมนต์อยู่บนเขา | เพราะแสนเศร้าสุดจะตามทรามสงวน |
แม้นมิตามความรักเฝ้าชักชวน | ให้ปั่นป่วนไปตามเพราะความรัก |
จะหักอื่นขืนหักก็จักได้ | หักอาลัยนี้ไม่หลุดสุดจะหัก |
สารพัดตัดขาดประหลาดนัก | แต่ตัดรักนี้ไม่ขาดประหลาดใจ |
จะสร้างพรตอดรักหักสวาท | เผื่อจะขาดข้อคิดพิสมัย |
แม้นน้องนุชบุษบานิคาลัย | จะได้ไปสู่สวรรค์ชั้นโสฬส |
จึงหยุดทัพยับยั้งตั้งอาศรม | รักษาพรหมจรรย์ด้วยกันหมด |
ปะตาปาอายันอยู่บรรพต | อุตส่าห์อดอาลัยก็ไม่คลาย |
ภาวนาว่าจะตั้งปลงสังเวช | ก็หลับเนตรเห็นคู่ไม่รู้หาย |
จะสวดมนต์ต้นถูกถึงผูกปลาย | ก็กลับกลายเรื่องราวเป็นกล่าวกลอนฯ |
๏ คิดถึงนุชบุษบาออกมานั่ง | บนบัลลังก์เหลี่ยมผาหน้าสิงขร |
พระตรวจน้ำร่ำว่าด้วยอาวรณ์ | หวังสมรเหมือนจะคลาดในชาตินี้ |
จะอุตส่าห์ปะตาปารักษากิจ | อวยอุทิศผลผลาถึงยาหยี |
จะเกิดไหนในจังหวัดปัถพี | ให้เหมือนปี่กับขลุ่ยต้องทำนองกัน |
เป็นจีนจามพราหมณ์ฝรั่งแลอังกฤษ | ให้สนิทเสน่หาตุนาหงัน |
แม้นเป็นไทยให้เป็นวงศ์ร่วมพงศ์พันธุ์ | พอโสกันต์ให้ได้อยู่เป็นคู่ครอง |
ครั้นกรวดน้ำสำเร็จเสด็จกลับ | เข้าห้องหับโหยไห้พระทัยหมอง |
ทุกเช้าค่ำรำลึกเฝ้าตรึกตรอง | จนขาดครองคราวสวาทนิราศเอยฯ |
ที่มา:
- สุนทรภู่. “นิราศอิเหนา.” ใน ประชุมนิราศสุนทรภู่, หน้า 73-79. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2556. (พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นายเวชชภัณฑ์ ศุขสุเมฆ วันที่ 22 ธันวาคม 2555)
- https://th.wikipedia.org/wiki/นิราศอิเหนา
- https://prezi.com/glcw7g6xuihu/presentation/
Wittaya Laohapongkul says
ขอสนับสนุนให้ทีมงานสร้างสรรค์ผลงานดีๆแบบนี้ออกมาให้ต่อเนื่องเลยนะคะ