สรุปประวัติสุนทรภู่อย่างละเอียด เนื่องในวันสุนทรภู่ หรือวันที่ 26 มิถุนายนของทุกปี ซึ่งเป็นวันประสูติของพระสุนทรโวหาร เว็บไซท์ติวฟรีจึงขอนำเสนอประวัติสุนทรภู่อย่างละเอียด เพื่อให้ผู้ที่สนใจได้ทำความรู้จักกับท่านสุนทรภู่ ประวัติของสุนทรภู่ และผลงานของท่าน
สารบัญ
วันสุนทรภู่ 26 มิถุนายน
วันสุนทรภู่ กำหนดให้ตรงกับ วันที่ 26 มิถุนายน ของทุกปี ซึ่งตรงกับวันประสูติของพระสุนทรโวหาร หรือ นามเดิมว่า ภู่ หรือเป็นที่รู้จักในนาม สุนทรภู่ ท่านเป็นบุคคลที่ได้รับยกย่องจากองค์การยูเนสโกว่าเป็นบุคคลสำคัญของโลกทางด้านวรรณกรรมเมื่อปี พ.ศ.2529 ในโอกาสครบรอบวันเกิด 200 ปี ท่านสุนทรภู่มีความสามารถประจักษ์เชิงกวี ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็น เชกสเปียร์ของเมืองไทย และทางเว็บไซท์ติวฟรีก็ได้รวบรวม ประวัติสุนทรภู่ อย่างละเอียดมาให้ท่านผู้อ่านทำความรู้จักกันได้อย่างถ่องแท้
ประวัติสุนทรภู่ โดยสังเขป
ท่านสุนทรภู่ เกิดเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2329 ในวันจันทร์ เดือน 8 ขึ้น 1 ค่ำ ปีมะเมีย จุลศักราช 1148 เวลา 8 นาฬิกา หรือ 2 โมงเช้า ซึ่งตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ณ บริเวณด้านเหนือของพระราชวังหลัง ปัจจุบันเป็นบริเวณสถานีรถไฟบางกอกน้อย บิดาเป็นชาวบ้านกร่ำ อำเภอแกลง จ.ระยอง ส่วนมารดาเป็นชาวเมืองอื่น
หลังจากท่านเกิดได้ไม่นาน มีข้อสันนิษฐานว่า บิดามารดาของท่านได้หย่าร้างกัน โดยบิดาออกไปบวชอยู่ที่วัดป่ากร่ำ ภูมิลำเนาเดิม ท่านสุนทรภู่และมารดาได้เข้าไปอยู่ในพระราชวังหลัง ซึ่งมารดาของท่านสุนทรภู่ถวายตัวเป็นนางนมของพระองค์เจ้าหญิงจงกล พระธิดาในเจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์ จึงเป็นเหตุให้ท่านสุนทรภู่ อาศัยอยู่ในพระราชวังหลังกับมารดา ต่อมาได้ถวายตัวเป็นข้าราชการในกรมพระราชวังหลัง ท่านสุนทรภู่มีน้องสาวต่างบิดาอีกสองคน ชื่อฉิมและนิ่ม
การศึกษาของท่านสุนทรภู่
ในวัยเด็กเข้าศึกษาเล่าเรียนที่สำนักวัดชีปะขาว อยู่ริมคลองบางกอกน้อย (ต่อมาได้รับพระราชทานนามจากรัชกาลที่ 4 ว่า วัดศรีสุดาราม ข้อมูลนี้ปรากฏในผลงานของท่านสุนทรภู่ เป็นเนื้อความส่วนหนึ่งจากเรื่อง นิราศสุพรรณ)
ครอบครัวของท่านสุนทรภู่
ท่านสุนทรภู่ คบหากับและแม่จัน นางข้าหลวงในวังหลัง แต่แม่จันเป็นบุตรหลานผู้มีตระกูล จึงเป็นรักต้องห้าม ทั้งสองจึงถูกกรมพระราชวังหลังกริ้ว จนทำโทษโดยการโบยและจำคุกคนทั้งสอง ต่อมาหลังจากที่กรมพระราชวังหลังเสด็จทิวงคตในปี พ.ศ. 2349 จึงได้รับการอภัยโทษเพื่อถวายเป็นพระราชกุศล
หลังจากได้รับการอภัยโทษ ท่านสุนทรภู่เดินทางไปหาบิดาที่เมืองแกลง จังหวัดระยอง ซึ่งปรากฏผลงานนิราศชิ้นเอก พรรณนาลักษณะการเดินทางต่าง ๆ เอาไว้อย่างละเอียด ชื่อ นิราศเมืองแกลง
โอ้คลองขวางทางแดนแสนโสทก ดูบนบกก็แต่ล้วนลิงแสม
เลียบตลิ่งวิ่งตามชาวเรือแพ ทำลอบแลหลอนหลอกตะคอกคน
คำโบราณท่านผูกถูกทุกสิ่ง เขาว่าลิงจองหองมันพองขน
ทำหลุกหลิกเหลือกลานพาลลุกลน เขาด่าคนจึงว่าลิงโลนลำพอง
นิราศเมืองแกลง ท่านลงท้ายว่าแต่งมาให้แก่แม่จัน “เป็นขันหมากมิ่งมิตรพิสมัย” ในนิราศเมืองแกลงยังปรากฏสมณศักดิ์ของบิดาของท่านสุนทรภู่ไว้ว่า เป็น “พระครูธรรมรังษี” เจ้าอาวาสวัดป่ากร่ำ หลังจากกลับจากเมืองแกลงคราวนี้ ท่านสุนทรภู่จึงได้แม่จันเป็นภรรยา
ท่านสุนทรภู่กับแม่จันมีบุตรด้วยกันคนหนึ่ง ชื่อพัด ได้อยู่ในความอุปการะของเจ้าครอกทองอยู่ ภายหลังท่านสุนทรภู่ได้เลิกรากับแม่จันไป ต่อมาท่านสมรสใหม่กับแม่นิ่ม มีบุตรด้วยกันหนึ่งคน ชื่อพ่อตาบ นอกจากนี้ ท่านยังมีบุตรชายอีกหนึ่งคน คือ พ่อนิล เกิดจากภรรยาที่ชื่อแม่ม่วง และปรากฏชื่อบุตรบุญธรรมอีกสองคน ชื่อพ่อกลั่น และพ่อชุบ ผู้ที่สืบเชื้อสายมาจากท่านสุนทรภู่ จะได้รับนามสกุลคือ “ภู่เรือหงส์”
การรับราชการของท่านสุนทรภู่
เริ่มแรกท่านเข้ารับราชการเป็นเสมียนนายระวางกรมพระคลังสวน ในกรมพระคลังสวน ด้วยความที่ท่านชอบแต่งบทกลอน ซึ่งท่านแต่งได้ดี ไพเราะ เสนาะหูตั้งแต่ยังเป็นหนุ่ม จากข้อมูลจากสำนวนกลอนนิทานเรื่อง โคบุตร อาจกล่าวได้ว่าท่านมี ผลงานการประพันธ์ตั้งแต่ก่อนอายุได้ 20 ปี
ช่วงหลังจากกลับจากเมืองแกลง ท่านเป็นมหาดเล็กได้รับหน้าที่ติดตามพระองค์เจ้าปฐมวงศ์ตามเสด็จไปในงานพิธีมาฆบูชาที่พระพุทธบาท จึงได้แต่ง นิราศพระบาท พรรณนาการเดินทางครั้งนี้อีกด้วย และไม่ปรากฏผลงานของท่านอีกจนถึงเข้ารับราชการในปี พ.ศ. 2359
ท่านสุนทรภู่ เข้ารับราชการในกรมพระอาลักษณ์เมื่อ พ.ศ. 2359 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์) เดิมมีหน้าที่เฝ้าเวลาทรงพระอักษรเพื่อคอยรับใช้ แต่ด้วยความสามารถเชิงกวี และมีโอกาสได้แสดงฝีมือกลอน เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงแต่งกลอนบทละครในเรื่อง “รามเกียรติ์” ท่านสุนทรภู่ช่วยต่อกลอนได้ตรงพระราชหฤทัย ทรงพอพระทัยจึงทรงพระกรุณาฯ เลื่อนขั้นให้เป็น ขุนสุนทรโวหาร และต่อมาได้เลื่อนยศเป็น หลวงสุนทรโวหาร ได้รับพระราชทานบ้านหลวง อาศัยอยู่ที่ท่าช้าง ใกล้กับวังท่าพระ หน้าที่ของท่านคือ คอยถวายความเห็นเกี่ยวกับพระราชนิพนธ์และพระนิพนธ์วรรณคดี รวมถึงได้ร่วมในกิจการฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ โดยเป็นหนึ่งในคณะร่วมแต่ง ขุนช้างขุนแผน ขึ้นใหม่
ท่านสุนทรภู่รับราชการอยู่ทั้งสิ้น 8 ปี หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จสวรรคต เมื่อปี พ.ศ. 2367 ท่านสุนทรภู่ก็ออกบวช
ท่านสุนทรภู่ต้องโทษจำคุก
ด้วยเพราะถูกอุทธรณ์ว่าเมาสุราทำร้ายญาติผู้ใหญ่ เป็นเหตุให้ท่านต้องถูกจำคุก ไม่นานท่านสุนทรภู่ก็ได้รับพระราชทานอภัยโทษ ว่ากันว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่อทรงติดขัดในบทประพันธ์ มิอาจหาใครต่อเติมได้ต้องพระทัยเท่าท่านสุนทรภู่ ในครั้งนั้น เป็นบทประพันธ์เรื่องสังข์ทอง
ท่านสุนทรภู่ ยังเป็นพระอาจารย์ถวายอักษรสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอาภรณ์ พระราชโอรสในรัชกาลที่ 2 โดยพบผลงานเรื่อง สวัสดิรักษา ในช่วงเวลานี้
ท่านสุนทรภู่ออกบวช
ท่านออกบวช เมื่อปี พ.ศ. 2369 ขณะนั้นท่านอายุได้ 41 ปี ณ วัดเทพธิดาราม เป็นวัดหนึ่งที่ท่านได้จำพรรษา และเป็นสถานที่ค้นพบวรรณกรรมเลื่องชื่อ เช่น พระอภัยมณี โดยพบเก็บซ่อนไว้ใต้เพดานหลังคากุฏิของท่าน
ท่านสุนทรภู่บวชอยู่เป็นเวลา 18 ปี ได้มีการย้ายไปอยู่วัดต่าง ๆ หลายแห่ง ซึ่งพบหลักฐานในงานเขียนของท่าน ระบุไว้ ได้แก่ วัดเลียบ วัดแจ้ง วัดโพธิ์ วัดมหาธาตุ และวัดเทพธิดาราม ผลจากการเดินทางธุดงค์ไปที่ต่างๆ เป็นการสร้างสรรค์ผลงานนิราศเรื่องต่างๆ มากมาย ก่อนลาสิกขาบท ผลงานเขียนชิ้นสุดท้ายที่ท่านได้แต่งไว้ คือ รำพันพิลาป เป็นการพรรณนาถึงความฝันและเล่าเรื่องราว ที่ได้ประสบมาในชีวิต แต่งขณะจำพรรษาอยู่ที่วัดเทพธิดาราม พ.ศ. 2385 ขณะนั้นสุนทรภู่มีอายุได้ 56 ปี
บั้นปลายของชีวิตท่านสุนทรภู่
หลังจากลาสิกขาบท ท่านสุนทรภู่ได้รับใช้ในด้านงานวรรณคดี ให้กับเจ้าฟ้าน้อย หรือสมเด็จเจ้าฟ้าจุฑามณี กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ (ภายหลังได้รับการสถาปนาเป็น พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว) ท่านสุนทรภู่แต่ง เสภาพระราชพงศาวดาร บทเห่กล่อมพระบรรทม บทละครเรื่องอภัยนุราช ถวาย รวมถึงยังแต่งเรื่อง พระอภัยมณี ถวายให้กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพด้วย
เมื่อถึงปี พ.ศ. 2394 ในรัชสมัยของพระบาทมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์) ท่านสุนทรภู่จึงได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้ากรมอาลักษณ์ฝ่ายพระราชวังบวร มีบรรดาศักดิ์เป็น พระสุนทรโวหาร และรับราชการยาวถึง 4 ปี ได้แต่งนิราศอีก 2 เรื่อง คือ นิราศพระประธม และ นิราศเมืองเพชร
บางช่วงจาก นิราศพระประธม
๏ ถวิลวันจันทร์ทิวาขึ้นห้าค่ำ
ลงนาวาคลาเคลื่อนออกเลื่อนลำ
พอเสียงย่ำยามสองกลองประโคม
น้ำค้างย้อยพรอยพรมเป็นลมว่าว
อนาถหนาวนึกเคยได้เชยโฉม
มาลับเหมือนเดือนดับพยับโพยม
ยิ่งทุกข์โทมนัสในใจรัญจวน
โอ้หน้าหนาวคราวนี้เป็นที่สุด
ไม่มีนุชแนบชมเมื่อลมหวน
พี่เห็นนางห่างเหยังเรรวน
มิได้ชวนเจ้าไปชมประธมประโทน ฯ
๏ ที่ปลูกรักจักได้ชื่นทุกคืนค่ำ
ก็เตี้ยต่ำตายฝอยกรองกร๋อยโกร๋น
ที่ชื่นเชยเคยรักเหมือนหลักประโคน
ก็หักโค่นขาดสูญประยูรวงศ์
ยังเหลือแต่แม่ศรีสาครอยู่
ไปสิงสู่เสน่หานางสาหงส์
จะเชิญเจ้าเท่าไรก็ไม่ลง
ให้คนทรงเสียใจมิได้เชย ฯ
ท่านสุนทรภู่พำนักอยู่ในเขตพระราชวังเดิม มีห้องส่วนตัวที่เรียกชื่อกันว่า ห้องสุนทรภู่ ท่านถึงอนิจกรรมเมื่อปี พ.ศ. 2398 สิริรวมอายุได้ 69 ปี
ท่านสุนทรภู่ได้รับการตีพิมพ์ผลงาน
ในปี พ.ศ. 2413 โรงพิมพ์ของหมอสมิทที่บางคอแหลม ได้ตีพิมพ์ผลงานของท่านสุนทรภู่เป็นครั้งแรก โดยตีพิมพ์เรื่องพระอภัยมณี ผลตอบรับดีมาก ได้รับความนิยมอย่างสูงจนหมอสมิทมีรายได้สูงขนาดสร้างตึกเป็นของตัวเองได้ หลังจากนั้นมีโรงพิมพ์อื่น ๆ ที่นำผลงานของท่านสุนทรภู่มาตีพิมพ์ เพื่อจำหน่ายอีกหลายครั้ง
ซึ่งผลงานของสุนทรภู่ทุกเรื่องได้ตีพิมพ์ในสมัยรัชกาลที่ 5
ผลงานของท่านสุนทรภู่ ได้แก่
นิราศ – นิราศเมืองแกลง, นิราศพระบาท, นิราศภูเขาทอง, นิราศวัดเจ้าฟ้า, นิราศอิเหนา, นิราศสุพรรณ, นิราศพระประธม, นิราศเมืองเพชร, รำพันพิราป
นิทาน – โคบุตร, พระอภัยมณี, พระไชยสุริยา, ลักษณวงศ์, สิงหไตรภพ
สุภาษิต – สวัสดิรักษา, เพลงยาวถวายโอวาท, สุภาษิตสอนหญิง
บทละคร – อภัยนุราช
บทเสภา – ขุนช้างขุนแผน, เสภาพระราชพงศาวดาร
ตัวอย่างบทกวี ที่ได้รับความนิยม
สุภาษิตสอนหญิง
มีสลึงพึงบรรจบให้ครบบาท อย่าให้ขาดสิ่งของต้องประสงค์
จงมักน้อยกินน้อยค่อยบรรจง อย่าจ่ายลงให้มากจะยากนาน
พระอภัยมณี
อันนินทากาเลเหมือนเทน้ำ ไม่ชอกช้ำเหมือนเอามีดมากรีดหิน
แค่องค์พระปฏิมายังราคิน คนเดินดินหรือจะสิ้นคนนินทา
นิราศอิเหนา
จะหักอื่นขืนหักก็จักได้ หักอาลัยนี้ไม่หลุดสุดจะหัก
สารพัดตัดขาดประหลาดนัก แต่ตัดรักนี้ไม่ขาดประหลาดใจ
อนุสาวรีย์และหุ่นปั้น
อนุสาวรีย์และหุ่นปั้นของท่านสุนทรภู่ ปรากฏในหลายสถานที่ ล้วนเป็นสถานที่ ที่ท่านได้เคยไปพำนัก หรือเดินทางไปเยือนทั้งสิ้น ได้แก่ อนุสาวรีย์สุนทรภู่ อยู่ที่ จ.ระยอง(สร้างเนื่องจากครบรอบ 100 ปี หลังจากอนิจกรรม) นอกจากหุ่นปั้นของท่านแล้ว ยังมีหุ่นของตัวละครพระอภัยมณี ในวรรณคดีเรื่องยอดนิยมของท่านอีกด้วย นอกจากนี้ ยังมีอนุสาวรีย์สุนทรภู่ ที่ วัดศรีสุดาราม คาดว่าเพราะท่านเคยได้เล่าเรียนที่นี่ และยังมีอนุสาวรีย์สุนทรภู่ที่จังหวัดอื่นๆ อีก ได้แก่ อนุสาวรีย์ที่ท่าน้ำหลังวัดพลับพลาชัย ตำบลคลองกระแชง อำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งท่านได้เคยแต่งเรื่องนิราศเมืองเพชร และนิราศเรื่องสุดท้ายของท่าน และเพชรบุรีอาจเป็นบ้านเกิดของมารดาของท่านด้วย สำหรับรูปปั้น มีหุ่นขี้ผึ้งสุนทรภู่ และหุ่นขี้ผึ้งจากวรรณคดีเรื่อง พระอภัยมณี จัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย จังหวัดนครปฐม อีกด้วย
วันสุนทรภู่
ท่านสุนทรภู่มีผลงานด้านวรรณกรรมเป็นที่ประจักษ์มากมาย ในปี พ.ศ. 2530 มีการจัดตั้งสถาบันสุนทรภู่ขึ้น และได้กำหนดให้วันที่ 26 มิถุนายนของทุกปี เป็น วันสุนทรภู่ นับตั้งแต่นั้นมา เมื่อถึงวันสุนทรภู่ สถานที่ต่างๆ ที่มีความเกี่ยวข้องมักจะมีการจัดงานรำลึกถึงท่านสุนทรภู่ เช่นที่พิพิธภัณฑ์สุนทรภู่ วัดเทพธิดาราม และจังหวัดระยอง และกิจกรรมที่ได้รับความนิยมคือการประกวดแต่งกลอนต่างๆ รวมถึงที่โรงเรียนมักจัดงานรำลึก
และจัดนิทรรศการเกี่ยวกับสุนทรภู่ ทั่วประเทศอีกด้วย
กิจกรรมในวันสุนทรภู่
กลอนและกาพย์ที่แต่งขึ้นมาเพื่อสุดดีท่านสุนทรภู่
ในวันที่ 26 มิถุนายนของทุกปี ซึ่งตรงกับวันสุนทรภู่ ก็จะมีกิจกรรมแต่งกลอนและ กาพย์ยานี11 เพื่อสดุดีท่านสุนทรภู่ขึ้น ซึ่งกิจกรรมนี้จัดติดต่อกันมาหลายสิบปีจนเป็นประเพณีไปแล้ว ตัวอย่างกลอนที่นักประพันธ์ชื่อดังแต่งขึ้นเพื่อสดุดีท่านสุนทรภู่ได้แก่
“กาพย์กลอนไทย ธำรง คงคุณค่า จากศิลา จารึก บันทึกสมัย
สะท้อนรส บทกลอน สะท้อนใจ สะท้อนความ เป็นไท ไปนิรันดร์
สะท้อนแก้ว แววกลอน สุนทรภู่ พระคุณครู ศักดิ์สิทธิ์ คิดสร้างสรรค์
ครูสร้างคำ แปดคำ ให้สำคัญ อภิวันท์ บูชา บิดากลอน
สองร้อยปี บรรจบ ครบถ้วนทั่ว ถึงลับตัว แต่ชื่อ ลือกระฉ่อน
ทรงศักดิ์ศรี กวีไทย ให้กำจร เป็นอาภรณ์ แก่แผ่นดิน ถิ่นไทยเอย”
( บูชาบิดากลอน ประพันธ์โดย เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ )
ถ้าขอพรใดได้ดังใจคิด ใคร่ขอมีชีวิตเป็นอิสระ
เพื่อเขียนร้อยกรองแก้วแพรวพจนะ และแน่ละ…เทิดท่าน “ภู่” เป็นครูกลอน
ด้วยเลื่อมใสในวจีกวีเอก เหมือนท่านเสกมนต์สลักทุกอักษร
ไพเราะรสพจน์พิรามหวามอาวรณ์ “ศรีสุนทรโวหาร” ท่านเลิศนัก
สองร้อยปีที่ผ่านแม้นนานแสน ยังจำแม่นเก้านิราศประกาศศักดิ์
ซาบซึ้งพระอภัยมณีที่น่ารัก นิทานพรักพร้อมเห่เสภาพราว
“อย่างหม่อมฉันอันที่ดีและชั่ว ถึงลับตัวแต่ชื่อเขาลือฉาว”
กาลเวลาพิสูจน์ผ่านมานานยาว คนยังกล่าวถึงท่านภู่อยู่ลั่นลือ
ถ้าแม้ขอพรได้ดังใจคิด ใคร่ขอเป็นเช่นศิษย์ด้านหนังสือ
กราบ “ครู” ด้วยใจสมองและสองมือ จำหลักชื่อท่านภู่ไว้บูชา
(แด่ครูกวีที่ยิ่งใหญ่ ประพันธ์โดย จินตนา ปิ่นเฉลียว ภักดีชายแดน)
จบแล้วนะครับสำหรับประวัติของท่านสุนทรภู่ ที่ทางเว็บไซท์ติวฟรีได้รวบรวมมาให้ ถ้าชอบบทความนี้ก็รบกวน ไลค์ เม้น แชร์ ให้ด้วยนะครับ ทีมงานติวฟรีจะได้มีกำลังใจเผยแพร่ข้อมูลดีๆอีกต่อไปครับ
Surarak says
สุนทรภู่อยู่ในสมัยใด
นายติวฟรี says
ท่านสุนทรภู่เกิดในยุครัตนโกสินทร์ สมัยรัชกาลที่ ๑ ปี พ.ศ. 2329
และเสียชีวิตเมื่อสมัยรัชกาลที่ ๔ ปีพ.ศ. 2398 สิริรวมอายุได้ 69 ปี
ปรวิณา says
สุนทรภู่เกิดเมื่อไร
นายติวฟรี says
ท่านสุนทรภู่ เกิดเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2329 ในวันจันทร์ เดือน 8 ขึ้น 1 ค่ำ ปีมะเมีย จุลศักราช 1148 เวลา 8 นาฬิกา หรือ 2 โมงเช้า ซึ่งตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ณ บริเวณด้านเหนือของพระราชวังหลัง ปัจจุบันเป็นบริเวณสถานีรถไฟบางกอกน้อย บิดาเป็นชาวบ้านกร่ำ อำเภอแกลง จ.ระยอง ส่วนมารดาเป็นชาวเมืองอื่น
Wilaipan says
สุนทรภู่เป่าปี่หรือเป่าขลุ่ย
นายติวฟรี says
ท่านสุนทรภู่ ไม่เป่าทั้งปี่และขลุ่ยครับ ท่านเป็นกวี
และหนึ่งในวรรณกรรมยอดนิยมที่ท่านสุนทรภู่ประพันธ์ขึ้น คือเรื่องพระอภัยมณี มีตัวละครเอกของเรื่องชื่อพระอภัยมณี และพระอภัยมณีนี่แหล่ะ เป็นผู้เป่าปี่ครับ อย่าจำสับสนกันระหว่างท่านสุนทรภู่ และตัวละครของท่านนะครับ
Nuttidaaa says
ข้อคิดที่ได้ของวันสุนทรภู่คืออะไรคะ