ตำนานพญากงพญาพาน เป็นหนึ่งในตำนานพื้นบ้านของไทยที่ควรรู้จัก เรื่องราวเกิดขึ้นในสมัยประมาณต้นกรุงศรีอยุธยา ตำนานพญากงพญาพานนี้เกิดขึ้นในจังหวัดนครปฐมในภาคกลาง บ้างเรียกว่า ตำนานพระปฐมเจดีย์
จังหวัด: นครปฐม ภาคกลาง
เนื้อเรื่อง
ย้อนยุคไปประมาณ ๑,๐๐๐ – ๑,๖๐๐ ปี ดินแดนย่านนครปฐม ราชบุรี และอำเภออู่ทองของจังหวัดสุพรรณบุรีในขณะนี้ เป็นอาณาจักรที่เจริญรุ่งเรือง มีชื่อว่า ทวาราวดี มีเมืองศรีวิชัย หรือนครปฐมในปัจจุบัน เป็นเมืองศูนย์กลางการติดต่อกับต่างประเทศ คือ จีน อินเดีย ชวา จากหลักฐานโบราณวัตถุที่ขุดได้ ยืนยันว่า เป็นจุดที่มีการติดต่อและรับเอาศิลปวัฒนธรรมจากต่างประเทศเข้ามาในสมัยนั้น
เมื่อพระพุทธศาสนาได้แผ่เข้ามาในสุวรรณภูมิ ศรีวิชัยก็ได้กลายเป็นเมืองสำคัญทางพระพุทธศาสนาของอาณาจักรทวาราวดีด้วย แต่ถึงอย่างไร ก็ยังไม่พบหลักฐานที่บ่งบอกว่าใครเป็นผู้สร้างพระปฐมเจดีย์ และสร้างมาตั้งแต่เมื่อใด
แต่เดิมนั้นเรียกพระปฐมเจดีย์กันว่า “พระประธม” ด้วยเชื่อว่าพระพุทธเจ้าเคยเสด็จมาบรรทม ณ ที่แห่งนี้ มีนิราศเรื่องหนึ่งใน ๙ เรื่องที่ สุนทรภู่ แต่งไว้ มีชื่อว่า “นิราศพระประธม” ซึ่งบรรยายตอนหนึ่งไว้ว่า
“ครั้นถึงพระประธมบรมธาตุ สูงทายาดอยู่สันโดษบนโขดเขิน
แลทมึนทึนเทิ่งดังเชิงเทิน เป็นโขดเขินสูงเสริมเขาเพิ่มพูน”
นักโบราณคดีรวบรวมหลักฐานและวิเคราะห์ไว้แน่ชัดแล้วว่า พระปฐมเจดีย์นี้เป็นเจดีย์แห่งแรกของประเทศไทย สร้างตามคตินิยมสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ผู้ส่งสมณะทูตเข้ามาเผยแพร่พระศาสนาในย่านนี้ มีลักษณะคล้ายสถูปที่สาญจีในอินเดีย การสร้างก็เพื่อประกาศความยิ่งใหญ่ของพระพุทธศาสนา และความมีอำนาจวาสนาของผู้สร้าง แต่ก็ไม่ปรากฏหลักฐานว่าใครเป็นผู้สร้าง
พญากง-พญาพาน
พญากง กษัตริย์แห่งเมืองศรีวิชัย มีพระโอรสองค์หนึ่งชื่อ พญาพาน ที่ได้ชื่อนี้ก็เพราะขณะประสูติ พระพี่เลี้ยงได้เอาพานทองรองรับ ขอบพานกระแทกเอาหน้าผากจนเป็นแผลติดตัวไปตลอด โหรได้ผูกดวงทำนายพระกุมารว่าเป็นผู้มีบุญญาธิการมาก จะได้เป็นกษัตริย์ต่อไปในภายภาคหน้า แต่ทว่าจะกระทำความผิดร้ายแรงถึงขั้นปิตุฆาต พญากงจึงสั่งให้นำพระกุมารไปฆ่าเสีย มหาดเล็กนำพระกุมารไปถึงป่าไผ่ ก็ไม่กล้าฆ่า เอาทิ้งไว้ตรงนั้น ต่อมา ยายพรม ซึ่งมีบ้านอยู่ใกล้ๆ ได้ยินเสียงเด็กร้อง จึงนำไปดูแลด้วยความสงสาร แค่ครั้นจะเลี้ยงดูต่อไป ตนเองก็มีฐานะยากจนและมีลูกหลานอยู่มากแล้ว จึงยกให้ ยายหอม เพื่อนบ้าน ยายหอมก็ฟูมฟักเลี้ยงดูพระกุมารด้วยความรัก จนเติบโตเป็นหนุ่มหน้าตาหมดจดงดงาม วันหนึ่งพระกุมารเดินทางท่องเที่ยวไปจนถึง เมืองสุโขทัย พบช้างเชือกหนึ่งตกมันอาละวาด ด้วยบุญญาบารมีที่มีมาแต่กำเนิด พระกุมารจึงทำให้ช้างตกมันนั้นกลับเชื่องได้ ความทราบถึงพระเจ้ากรุงสุโขทัย จึงทรงชุบเลี้ยงพระกุมารเป็นราชบุตรบุญธรรม และวันหนึ่งก็ทรงมอบหมายให้พญาพานนำกองทัพไปตีเมืองศรีวิชัย พญากงออกมารับศึก จึงถูกพญาพานฆ่าตายโดยไม่รู้ว่าเป็นพ่อแท้ๆของตัวเอง
บางตำนานก็เพี้ยนไปว่า ยายหอมได้เลี้ยงพระกุมารจนเติบใหญ่ จึงนำไปถวายเจ้าเมืองราชบุรี ซึ่งเป็นเมืองขึ้นของศรีวิชัย ต่อมาเมืองราชบุรีเกิดแข็งข้อ ไม่ส่งเครื่องราชบรรณาการไปถวายตามปกติ พญากงจึงนำกองทัพมาปราบ พญาพานเป็นทัพหน้าออกรับข้าศึก และได้ฆ่าพญากงตายคาคอช้างขณะทำยุทธหัตถี
ตามธรรมเนียมของผู้ชนะ เมื่อพญาพานเข้ายึดเมืองศรีวิชัย ทรัพย์สมบัติของพญากงก็ตกเป็นของพญาพานทั้งหมด รวมทั้งมเหสีซึ่งเป็นแม่แท้ๆของพญาพาน แต่ขณะที่พญาพานจะเสด็จขึ้นไปตำหนักพระมเหสี เทพยดาก็แปลงร่างลงมาเป็นแมวแม่ลูกอ่อนนอนขวางบันได แล้วส่งเสียงปรามลูกแมวที่กำลังอ้อนจะกินนมให้พญาพานได้ยินว่า
“อย่าเอ็ดไป คอยดูลูกจะเข้าหาแม่”
พญาพานแปลกใจ แต่พอก้าวขึ้นบันได ก็ได้ยินแม่แมวพูดซ้ำอีก จึงทรงตั้งจิตอธิษฐานว่า ถ้าหากพระมเหสีเป็นแม่แท้ๆของตัวแล้ว ก็ขอให้มีน้ำนมไหลออกมาจากทรวงอกของนาง และแล้วก็เกิดเหตุอัศจรรย์ มีน้ำนมหลั่งออกมาจริงๆ พระนางเองก็สังหรณ์ใจในแผลเป็นที่หน้าผากของพญาพาน เมื่อแม่ลูกลำดับความกันจึงรู้ความจริงทั้งหมด พญาพานโกรธที่ยายหอมปกปิดเรื่องนี้จนตนต้องทำบาปถึงปิตุฆาค จึงสั่งให้จับยายหอมไปฆ่าเสีย
บางตำนานก็เรียก “พญาพาน” ว่า “พญาพาล” ที่ไม่รู้จักบุญคุณของคนที่เลี้ยงดูมา แต่ทุกเรื่องก็ลงท้ายเหมือนกันว่า พระกุมารสำนึกบาปที่ได้ฆ่าผู้มีพระคุณไปถึง ๒ คน จึงได้สร้างพระเจดีย์สูงเท่านกเขาเหินเป็นการไถ่บาปให้เบาลง ตามคำแนะนำของสมณะชีพราหมณ์ องค์หนึ่งคือพระปฐมเจดีย์ ไถ่บาปที่ได้ฆ่าผู้ให้กำเนิด และอีกองค์หนึ่งคือพระประโทน เพื่อไถ่บาปที่ได้ฆ่ายายหอมผู้เลี้ยงดูมา
องค์พระปฐมเจดีย์เป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ส่วนพระประโทนเป็นที่บรรจุเรือนศิลาสำหรับเก็บทะนานทองที่ตวงพระบรมสารีริกธาตุ ต่อมามีมือดีสันดานชั่วขโมยทะนานทองไป จึงเหลือแต่เรือนศิลาเท่านั้น
ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ได้เกิดแม่น้ำเปลี่ยนทางเดิน ทำให้เมืองศรีวิชัยกลายเป็นเมืองกันดารขาดแคลนน้ำ เพราะอยู่บนที่ดอน ซ้ำยังมีโรคระบาดเกิดขึ้นบ่อยๆ ต่อมาในสมัยสมเด็จพระเจ้าจักรพรรดิ โปรดฯให้ตั้งเมืองใหม่ขึ้นที่ตำบลท่านา ริมแม่น้ำนครไชยศรี ทางตะวันออกของเมืองศรีวิชัยเดิม ผู้คนจึงอพยพไปอยู่ที่นั่น จนศรีวิชัยกลายเป็นเมืองร้าง
พระปฐมเจดีย์และพระประโทนถูกทอดทิ้งไว้ในป่าหลายร้อยปี จนในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ขณะพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงผนวชอยู่ ได้ธุดงค์ไปพบเข้า ทรงเห็นว่าเป็นเจดีย์ใหญ่กว่าทุกเจดีย์ในประเทศไทยหรือประเทศใกล้เคียง จึงกราบทูลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯให้ทรงบูรณปฏิสังขรณ์ แต่รัชกาลที่ ๓ ตรัสว่า
“เป็นของรกอยู่ในป่า จะปฏิสังขรณ์ขึ้นมาก็ไม่เกิดประโยชน์อันใดนัก”
พระปฐมเจดีย์จึงถูกทอดทิ้งอยู่ในป่าต่อไป จนพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นครองราชย์ จึงโปรดให้สร้างเจดีย์ทรงลังกา เป็นรูประฆังคว่ำครอบเจดีย์เดิมซึ่งมีพุทธบัลลังก์เป็นฐาน โดยเจดีย์ใหม่มีความสูงถึง ๑๒๐ เมตร เส้นผ่าศูนย์กลางฐานวัดได้ ๖๐ เมตร มียอดนพศูลและมหามงกุฎสวมยอดไว้อีกทีหนึ่ง ทั้งยังโปรดฯให้สร้างเจดีย์จำลององค์เก่าที่ถูกครอบไว้ทางทิศใต้ของพระปฐมเจดีย์ด้วย เพื่อให้เห็นว่าเจดีย์เดิมมีรูปร่างสัณฐานเป็นอย่างไร
นอกจากนี้เพื่อให้การเดินทางไปมาจากกรุงเทพฯได้สะดวก จึงทรงให้ขุด “คลองเจดีย์บูชา” กับ “คลองมหาสวัสดิ์” ขึ้น แต่กระนั้นการล่องเรือไปกลับกรุงเทพฯ-นครปฐมก็ยังต้องค้างคืน จึงทรงสร้างที่ประทับแรมเหมือนอย่างกษัตริย์สมัยกรุงศรีอยุธยาสร้างที่ประทับแรมที่พระบาทสระบุรีด้วย และพระราชทานนามว่า “พระราชวังปฐมนคร” ใช้เป็นที่ประทับแรมของรัชกาลที่ ๔ และที่ ๕ ในคราวเสด็จมานมัสการพระปฐมเจดีย์หลายครั้ง ขณะนี้ได้ถูกรื้อใช้พื้นที่สร้างเป็นที่ทำการของเทศบาลเมืองนครปฐมในปัจจุบัน
นอกจากนี้ยังทรงเปลี่ยนชื่อที่เรียกกันมาแต่ดั้งเดิมว่า “พระประธมเจดีย์” เป็น “พระปฐมเจดีย์” ให้สมกับเป็นพระเจดีย์ที่สร้างเมื่อพระพุทธศาสนามาประดิษฐานในประเทศนี้ก่อนพระสถูปเจดีย์อื่นๆทั้งหมด
ต่อมารัชกาลที่ ๕ ทรงเห็นว่าบริเวณรอบพระปฐมเจดีย์ยังเป็นป่าเปลี่ยวรกร้าง ที่ทำการของรัฐบาลก็ต้องไปอาศัยอยู่ในระเบียงและวิหารรอบพระเจดีย์ จึงโปรดให้ย้ายเมืองนครไชยศรีจากตำยลท่านามาอยู่บริเวณพระปฐมเจดีย์ โดยวางผังเมืองใหม่ สร้างอาคารต่างๆขึ้น ตัดถนนหลายสาย สร้างตลาด ทำให้ผู้คนอพยพเข้ามาอยู่มาก ทรงให้นำกระเบื้องเคลือบสีเหลืองส้มติดรอบพระเจดีย์ แต่ไม่แล้วเสร็จในรัชกาล พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯโปรดให้ทำต่อจนเสร็จสมบูรณ์ และทรงอัญเชิญพระพุทธรูปโบราณ ปางมารห้ามญาติ ซึ่งทรงพบที่เมืองสวรรคโลกในสภาพชำรุด เหลือแต่พระเศียร พระหัตถ์ และพระบาท นำมาต่อเติมจนเต็มองค์ ประดิษฐานไว้ในซุ้มพระวิหารด้านทิศเหนือ ซึ่งถือว่าเป็นด้านหน้าขององค์พระปฐมเจดีย์ ถวายพระนามว่า “พระร่วงโรจนฤทธิ์ ศรีอินทราทิตย์ธรรโมภาส มหาวชิราวุธราชปูชนียบพิตร” ซึ่งต่อมาใต้ฐานพระพุทธรูปองค์นี้ได้เป็นที่บรรจุพระสรีรังคารของ ร.๖ ตามพระราชประสงค์ของพระองค์ก่อนสวรรคตด้วย
นอกจากจะทรงตกแต่งรอบบริเวณองค์พระปฐมเจดีย์ให้งดงามขึ้นแล้ว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯยังทรงให้ตัดถนนขึ้นอีก ๕ สาย คือ ถนนหน้าพระ ถนนหลังพระ ถนนขวาพระ ถนนซ้ายพระ และถนนเทศา จากองค์พระปฐมเจดีย์ผ่านหน้าวัดพระประโทณอีกด้วย ทรงสร้างพระราชวังสนามจันทร์ขึ้นเป็นที่ประทับแห่งใหม่ และเสด็จแปรพระราชฐานมาประทับที่พระราชวังแห่งนี้เป็นประจำ ส่วนพระอุโบสถที่ยังสร้างไม่เสร็จ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้สร้างต่อจนสำเร็จ
พระปฐมเจดีย์ที่อยู่ในป่ารกสมัยรัชกาลที่ ๓ จึงได้ทำให้เมืองโบราณศรีวิชัยที่เคยรุ่งเรืองเป็นเมืองท่าค้าขายของย่านนี้เมื่อ ๒,๐๐๐ ปีก่อน ได้ฟื้นขึ้นมารุ่งเรืองสมบูรณ์ขึ้นอีกครั้งในปัจจุบัน ทั้งยังเป็นเจดีย์แรกที่พระพุทธศาสนาได้แพร่ขยายมาถึงดินแดนแห่งนี้ เป็นเจดีย์ที่ใหญ่และสูงสุดในสุวรรณภูมิด้วย เป็นที่สักการะบูชาของพุทธศาสนิกชนอย่างไม่ขาดสายตลอดปี
ที่มา
oneheart says
เขร้ แจ่มมากๆ