มหาชาติคำหลวง ถือเป็นหนึ่งในวรรณคดีสำคัญในสมัยอยุธยาตอนต้น สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถรับสั่งให้นักปราชญ์ราชบัณฑิตช่วยกันแต่งเมื่อจุลศักราช ๘๔๔ หรือพุทธศักราช ๒๐๒๕
ผู้แต่ง
สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถรับสั่งให้นักปราชญ์ราชบัณฑิตช่วยกันแต่งเมื่อจุลศักราช ๘๔๔ หรือพุทธศักราช ๒๐๒๕
ประวัติ
มหาชาติคำหลวงนี้ถือเป็นหนังสือเรื่องมหาชาติฉบับภาษาไทย และหนังสือคำหลวงเรื่องแรกของไทย ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นพบว่า ฉบับเดิมสูญหายไป ๖ กัณฑ์ คือ กัณฑ์หิมพานต์ ทานกัณฑ์ จุลพน มัทรี สักกบรรพ และฉกษัตริย์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยจึงมีพระบรมราชโองการ ให้พระราชาคณะและนักปราชญ์ราชบัณฑิต แต่งซ่อมให้ครบ ๑๓ กัณฑ์ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๕๗
ทำนองแต่ง
เป็นหนังสือประเภทคำหลวง มีคำประพันธ์หลายอย่าง คือ โคลง ร่าย กาพย์ และฉันท์ มีภาษาบาลีแทรกตลอดเรื่อง
ความมุ่งหมาย
เพื่อใช้อ่านหรือสวดในวันสำคัญทางศาสนา
เรื่องย่อ
เป็นเรื่องราวของพระเวสสันดร ซึ่งเป็นนิทานชาดกเกี่ยวกับการบำเพ็ญทานบารมีของพระพุทธเจ้าในพระชาติสุดท้ายก่อนได้ตรัสรู้ เนื้อเรื่องแบ่งเป็น ๑๓ กัณฑ์ คือ กัณฑ์ทศพร กัณฑ์หิมพานต์ กัณฑ์ทานกัณฑ์ กัณฑ์วนปเวสน์ กัณฑ์ชูชก กัณฑ์จุลพน กัณฑ์มหาพน กัณฑ์กุมาร กัณฑ์มัทรี กัณฑ์สักกบรรพ กัณฑ์มหาราช กัณฑ์ฉกษัตริย์ และกัณฑ์นครกัณฑ์
คุณค่าของวรรณคดี
มหาชาติคำหลวงเป็นวรรณกรรมทางพระพุทธศาสนาโดยตรง แต่งโดยแทรกภาษาบาลีลงไปทำให้ค่อนข้างอ่านยาก แต่ก็เป็นวรรณกรรมที่ทรงคุณค่าทั้งด้านภาษาศาสตร์ มีอิทธิพลต่อวัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อ และค่านิยมของคนไทยมาจนทุกวันนี้ อนึ่ง มหาชาติคำหลวงยังเป็นต้นแบบให้กวีหรือนักปราชญ์ราชบัณฑิตสมัยหลัง ใช้เป็นแนวทางในการนิพนธ์เรื่องมหาชาติขึ้นอีกหลายสำนวน เช่น กาพย์มหาชาติในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมมหาชาติคำฉันท์สมัยรัตนโกสินทร์ และภาพจิตรกรรมเรื่องมหาชาติตามผนังโบสถ์วิหารต่าง ๆ ด้วย
ที่มา:
หนังสือเรียนรายวิชาพื้นฐาน ภาษาไทย ม.4 เล่ม 2 กระทรวงศึกษาธิการ
Rin Yui says
ขอบคุณค่ะ คิดถึงพี่ติวฟรีนะคะ