ลิลิตพระลอ ถือเป็นหนึ่งในวรรณคดีสำคัญในสมัยอยุธยาตอนต้น ไม่ปรากฏหลักฐานว่าแต่งในสมัยใด แต่พิจารณาจากคำที่ใช้ บางคำใช้ภาษาเก่ากว่าภาษาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชและแต่งด้วยลิลิต
ผู้แต่ง
กวีที่แต่งเป็นใคร มีตำแหน่งทางราชการอย่างไร ไม่ทราบแน่ชัด
ประวัติ
ไม่ปรากฏหลักฐานว่าลิลิตพระลอถูกแต่งขึ้นในสมัยใด แต่พิจารณาจากคำที่ใช้ บางคำใช้ภาษาเก่ากว่าภาษาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชและแต่งด้วยลิลิต ซึ่งเป็นรูปแบบวรรณกรรมที่แต่งในสมัยอยุธยาตอนต้น นอกจากนี้ข้อความบางตอนในลิลิต เช่น คำว่า “จบเสร็จเยาวราชเจ้าบรรจง” คำว่า “เยาวราช” น่าจะหมายถึง พระมหาอุปราชในรัชกาลใดรัชกาลหนึ่งเป็นผู้แต่ง
ทำนองแต่ง
แต่งเป็นคำประพันธ์ประเภทลิลิตสุภาพ ประกอบด้วยร่ายสุภาพและ โคลงสี่สุภาพ เป็นส่วนใหญ่ บางโคลงคล้ายโคลงดั้นและโคลงโบราณ ร่ายบางบทเป็นร่ายโบราณและร่ายดั้น
ความมุ่งหมาย
แต่งถวายพระเจ้าแผ่นดิน เพื่อให้เป็นที่สำราญพระราชหฤทัย
เรื่องย่อ
เมืองสรวงและเมืองสรองเป็นศัตรูกัน พระลอกษัตริย์แห่งเมืองสรวงทรงพระสิริโฉมยิ่งนัก จนเป็นที่ต้องพระทัยของพระเพื่อนพระแพงราชธิดาของท้าวพิชัยพิษณุกรกษัตริย์แห่งเมืองสรอง นางรื่นนางโรยพระพี่เลี้ยงได้ขอให้ปู่เจ้าสมิงพรายทำเสน่ห์ให้ พระลอเสด็จมาเมืองสรอง เมื่อพระลอต้องเสน่ห์ได้ตรัสลาพระนางบุญเหลือพระราชมารดาและพระนางลักษณวดีพระมเหสี เสด็จไปเมืองสรองพร้อมนายแก้วนายขวัญพระพี่เลี้ยง
พระลอทรงเสี่ยงน้ำ ที่แม่น้ำกาหลง ถึงแม้จะปรากฏลางร้ายก็ทรงฝืนพระทัยเสด็จต่อไป ไก่ผีของปู่เจ้าสมิงพรายล่อพระลอกับนายแก้วและนายขวัญไปจนถึงสวนหลวง นางรื่นนางโรยออกอุบายลอบนำพระลอกับนายแก้วนายขวัญไปไว้ในตำหนักของพระเพื่อนพระแพง
ท้าวพิชัยพิษณุกรทรงทราบเรื่องก็ทรงพระเมตตา รับสั่งจะจัดการอภิเษกพระลอกับพระเพื่อนพระแพงให้ แต่พระเจ้าย่าเลี้ยงของพระเพื่อนพระแพงทรงพยาบาทพระลอ อ้างรับสั่งท้าวพิชัยพิษณุกรตรัสใช้ให้ทหารไปรุมจับพระลอ พระเพื่อนพระแพง และพระพี่เลี้ยงทั้ง ๔ คน ช่วยกันต่อสู้จนสิ้นชีวิตหมด ท้าวพิชัยพิษณุกรทรงพระพิโรธพระเจ้าย่าและทหาร รับสั่งให้ประหารชีวิตทุกคน พระนางบุญเหลือทรงสั่งทูตมาร่วมงานพระศพกษัตริย์ทั้งสาม ในที่สุดเมืองสรวงและเมืองสรองกลับเป็นไมตรีต่อกัน
คุณค่าของวรรณคดี
ลิลิตพระลอได้รับการตัดสินจากวรรณคดีสโมสรในสมัยรัชกาลที่ ๖ ให้เป็นยอดแห่งวรรณคดีประเภทลิลิต เพราะมีความโดดเด่น คือ ให้แง่คิดด้านความรัก ความกล้าหาญ ความสะเทือนใจ ใช้ภาษาได้ไพเราะคมคาย เป็นแบบอย่างของการแต่งโคลงและวรรณคดีประเภทลิลิต
ที่มา:
หนังสือเรียนรายวิชาพื้นฐาน ภาษาไทย ม.4 เล่ม 2 กระทรวงศึกษาธิการ
Kade Kusuma says
ว้าว ว้าว ว้าว