วันจักรี (Chakri Memorial Day) ซึ่งตรงกับวันที่ 6 เมษายนของทุกปี เป็นวันที่ระลึกถึงพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชและมหาจักรีบรมราชวงศ์ เรียกชื่อเต็มๆว่าวันที่ระลึกพระมหาจักรีบรมราชวงศ์
หลายๆคนคงจะสงสัยว่าวันจักรีคืออะไร วันจักรีมีความสำคัญต่อประเทศไทยอย่างไร วันนี้เว็บติวฟรีดอทคอมนำความรู้ดีๆมาฝากกันอีกเช่นเคยครับ
ความสำคัญของวันจักรี
วันจักรีถือเป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่งของปวงชนชาวไทย วันจักรีจัดขึ้นเพื่อแสดงความจงรักภักดี และรำลึกถึงพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชและพระมหากษัตริย์แห่งจักรีวงศ์ทุกพระองค์ จัดขึ้นครั้งแรกในวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2462
ประวัติวันจักรี
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เมื่อครั้งยังทรงดำรงตำแหน่งเป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกทรงยกทัพกลับ จากเขมรเพื่อเข้าปราบปรามการจลาจลในกรุงธนบุรี ภายหลังบ้านเมืองสงบเรียบร้อยแล้ว มุขอำมาตย์ราชมนตรีและราษฎรพร้อมใจอัญเชิญสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก
วันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325 เป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ ๑ ในราชวงศ์จักรี) เสด็จปราบดาภิเษกขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี และทรงสถาปนากรุงเทพมหานครเป็นเมืองหลวงของประเทศไทย
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงทำนุบำรุงบ้านเมืองให้เจริญ รุ่งเรืองเหมือนเมื่อครั้งบ้านเมืองยังดี ทรงฟื้นฟูการพระศาสนา พระราชภารกิจที่สำคัญยิ่งของพระองค์คือ ทรงสร้างพระนคร ป้อม ปราสาทราชมณเฑียร วัดพระศรีรัตนศาสดาราม พร้อมทั้งโปรดเกล้าฯ ให้มีการพระราชพิธีเฉลิมฉลองพระนคร พระราชทานนามพระนครที่สร้างใหม่นี้ว่า “กรุงเทพ มหานคร บวรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุทธยา มหาดิลกภพ นพรัตนราชธานีบูรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์” (ใน รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ทรงเปลี่ยนจากบวรรัตนโกสินทร์ เป็น อมรรัตนโกสินทร์) และโปรดให้มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ ๒ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชมีพระมหากรุณาธิคุณต่อชาวไทยเป็น อเนกนานัปประการ
ด้วยพระมหากรุณาธิคุณดังกล่าว ในปี พ.ศ. 2416 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ ให้หล่อพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 4 พระองค์ ได้แก่ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อประดิษฐานไว้ให้พระมหากษัตริย์องค์ต่อมา พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ และประชาชนได้ถวายบังคมระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณเป็นธรรมเนียมปีละครั้ง และโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญไปประดิษฐานไว้บนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของบูรพมหากษัตริย์ นอกจากนี้ยังโปรดให้พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการกราบถวายบังคมทูลปีละ ๑ ครั้ง แต่ยังมิได้กำหนดเรียกว่า วันจักรี
บทความแนะนำ: คำราชาศัพท์ที่ควรทราบ
ในประวัติศาสตร์มีการย้ายสถานที่ในการประดิษฐานหลายครั้ง เช่น พระที่นั่งสุทไธสวรรยปราสาท และพระที่นั่งศิวาลัยมหาปราสาท เป็นต้น ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้ย้ายพระบรมรูปมาไว้ ณ ปราสาทพระเทพบิดร ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พร้อมกับพระบรมรูปของรัชกาลที่ 5 พระบรมชนกนาถ
จนกระทั่ง ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2461 การซ่อมแซมก่อสร้างและประดิษฐานพระบรมรูปทั้ง 5 รัชกาล จึงสำเร็จลุล่วง และได้มีพระบรมราชโองการประกาศตั้งพระราชพิธีถวายบังคมพระบรมรูป ในวันที่ 6 เมษายนปีนั้น และต่อมาโปรดฯ ให้เรียกวันที่ 6 เมษายนว่า “วันจักรี”
ในปัจจุบันมีพระบรมรูป 5 รัชกาลด้วยกันคือ
- พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (รัชกาลที่ ๑)
- พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ ๒)
- พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๓)
- พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔)
- พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕)
วันจักรี ถือเป็นวันหยุดราชการ
รัฐบาลได้ประกาศให้วันที่ 6 เมษายนของทุกปี ถือเป็นวันหยุดราชการ และในกรณีที่วันจักรีในปีใดตรงกับวันเสาร์-อาทิตย์ ให้หยุดชดเชยได้ในวันทำการถัดไป
กิจกรรมในวันจักรี
ในวันจักรี มีกิจกรรมหลักที่ทำตามประเพณีอยู่สามอย่างด้วยกันคือ
1. พิธีการวางพวงมาลาถวายสักการะ ณ พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
ในวันจักรี สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รวมทั้งพระบรมวงศานุวงศ์ จะเสด็จฯ บำเพ็ญพระราชกุศลให้กับบูรพมหากษัตริย์ ณ พระอุโบสถวัดพระแก้ว และเสด็จฯ วางพวงมาลา ณ พระบรมราชานุสรณ์ของ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ที่เชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้า
2. การประดับธงชาติบริเวณอาคารบ้านเรือน
ขณะที่หน่วยงานราชการ เอกชน และภาคประชาชน จะจัดกิจกรรมเพื่อระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และมหาจักรีบรมราชวงศ์ เช่น จัดพิธีถวายบังคมพระรูป จัดนิทรรศการ กิจกรรมเฉลิมพระเกียรติต่าง ๆ และประดับธงชาติไทยเอาไว้ตามอาคารบ้านเรือน
3. ทำบุญตักบาตร
นอกจากที่หน่วยงานราชการ เอกชน และภาคประชาชน ก็ยังมีกิจกรรมทำบุญตักบาตร ตามหลักศาสนาพุทธในวันจักรีอีกด้วย
เมื่อได้ทราบกันไปแล้วว่า วันจักรี มีความสำคัญอย่างไร และประวัติวันจักรี มีความเป็นมาอย่างไรบ้าง หากใครที่จะใช้เวลาในช่วงวันหยุดราชการและวันหยุดชดเชยวันจักรี ไปสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์ของพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีตามสถานที่ต่างๆ หรือมีแพลนไปท่องเที่ยวที่ไหนก็ขอให้เดินทางกันอย่างปลอดภัยนะครับ
ที่มา:
ร่วมแสดงความคิดเห็นในหัวข้อ “วันจักรี 6 เมษายน วันที่ระลึกพระมหาจักรีบรมราชวงศ์”