13 เมษายนของทุกปีถือเป็น วันผู้สูงอายุแห่งชาติ ซึ่งหลายๆคนอาจจะไม่ค่อยคุ้นเคยกับวันนี้เท่าไหร่นัก วันผู้สูงอายุแห่งชาติ คืออะไร และมีความสำคัญอย่างไร ในวันนี้เว็บติวฟรีดอทคอมจะมาไขปริศนานี้ให้กระจ่างกัน
วันผู้สูงอายุแห่งชาติ เป็นวันที่ถูกผูกรวมไว้กับวันขึ้นปีใหม่ไทยหรือก็คือวันสงกรานต์ ซึ่งหน่วยงานและองค์กรทุกภาคส่วนก็ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมขึ้นทุกปี หลังจากคณะรัฐมนตรีมีมติให้วันที่ ๑๓ เมษายนของทุกปีให้เป็น “วันผู้สูงอายุแห่งชาติ” เพื่อร่วมรณรงค์ให้ประชาชนทุกกลุ่มให้ความสำคัญกับผู้สูงอายุ เห็นถึงคุณค่าและตระหนักถึงความสำคัญกับผู้สูงอายุ ส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้สูงอายุมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆตามศักยภาพของตนเอง อย่างมีคุณค่าและมีศักดิ์ศรี ส่งเสริมการเรียนรู้และการเป็นแบบอย่างที่ดีของผู้สูงอายุ
ความหมายของคำว่า ผู้สูงอายุ
ผู้สูงอายุ หมายถึง บุคคลทั้งเพศชายและเพศหญิงที่มีอายุตั้งแต่ ๖๐ ปีขึ้นไป การที่ประเทศไทยจัดให้มีวันผู้สูงอายุแห่งชาตินั้นด้วยมติของ องค์การสหประชาชาติ ที่จัดการประชุมขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๕ ณ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ผู้สูงอายุนั้นถือว่าเป็นบุคคลที่มีบทบาทสำคัญทั้งทางด้านสังคม ครอบครัวและประเทศชาติ
สังคมไทยในปัจจุบันได้ก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุ มีผู้สูงอายุมากขึ้นและมีอายุยืนยาวมากขึ้น จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องส่งเสริมให้ผู้สูงอายุใส่ใจในการดูแลรักษาสุขภาพ เพื่อสร้างค่านิยมของสังคมไทยที่สำคัญต่อการเคารพผู้สูงวัย ร่วมปฏิบัติต่อท่านด้วยความรักความเอื้ออาทรทั้งทางกายและทางจิตใจ โดยเน้นให้ทุกคนมีส่วนร่วมเพื่อให้ความสำคัญกับผู้สูงอายุ สนับสนุนให้ผู้สูงอายุมีกิจกรรมทางสังคม พร้อมทั้งส่งเสริมให้ผู้สูงอายุและครอบครัวห่วงใยใส่ใจในสุขภาพของทั้งตนเองและคนรอบข้าง
ประวัติ วันผู้สูงอายุแห่งชาติ
ในปี พ.ศ. ๒๔๙๖ สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีนโยบายประการสำคัญอันเนื่องในอันที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ และได้รับนโยบายอันนี้ให้กรมประชาสงเคราะห์เป็นผู้ดำเนินการ โดยครั้งแรกนั้น กรมประชาสงเคราะห์ได้จัดตั้งสถานสงเคราะห์คนชรา บ้านบางแค เป็นแห่งแรกในปี พ.ศ. ๒๔๙๖
มีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้
- เพื่อให้การสงเคราะห์คนชราที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ หรือประสบปัญหาความทุกข์ยากเดือด ร้อน ยากจนไม่มีที่อยู่อาศัย หรือ ไม่สามารถอยู่กับครอบครัวได้
- เพื่อให้บริการแก่คนชราที่กับครอบครัวของตน แต่มีความต้องการบริการสงเคราะห์คนชราบางอย่าง เช่นการรักษาพยาบาล กายภาพบำบัด และ นันทนาการ เป็นต้น
- เพื่อแบ่งเบาภาระของครอบครัวผู้มีรายได้น้อย หรือยากจน ที่ไม่สามารถจะอุปการะเลี้ยงดูคนชราไว้ในครอบครัวได้
- เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาสังคมอันเกี่ยวกับคนชรา ไม่ให้เร่ร่อน ทำความเดือดร้อนรำคาญแก่สังคมและสามารถอยู่ในสังคมได้อย่างผาสุก อันสมควรแก่อัตภาพ
- เพื่อเป็นการตอบแทนคุณความดีที่คนชราได้ทำประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติ
- เพื่อผู้สูงอายุจะได้คลายวิตกกังวลเมื่อชราภาพ ไม่สามารถประกอบอาชีพต่อไปได้
ทางรัฐบาลมีหน้าที่จะเป็นผู้อุปการะเลี้ยงดูต่อไป ในปี พ.ศ. ๒๕๒๕ ได้มีการจัดการประชุมสมัชชาโลกว่าด้วยผู้สูงอายุ ณ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ซึ่งได้พิจารณาประเด็นสำคัญ เกี่ยวกับผู้สูงอายุไว้ ๓ ประการ
- ด้านมนุษยธรรม
- ด้านการพัฒนา
- ด้านการศึกษา
ในปี พ.ศ. 2525 องค์การอนามัยโลกได้กำหนดให้เป็นปีรณรงค์เพื่อส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุโดยกำหนดคำขวัญว่า “Add Life to year” ทั้งนี้ทางองค์การอนามัยโลกต้องการให้ประเทศต่างๆทั่วโลก ช่วยกันส่งเสริมสถานะของผู้สูงอายุโดยกำหนดคำขวัญว่า ” ให้ความรักพิทักอนามัยผู้สูงวัยอายุยืน ” จากการประชุมองค์การสหประชาชาติ ในปี พ.ศ. 2525 ว่าด้วยเรื่องของผู้สูงอายุ ส่งผลให้คณะรัฐมนตรีได้ลงมติเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2525 อนุมัติให้วันที่ 13 เมษายน ของทุกปีเป็นวันผู้สูงอายุแห่งชาติ ถือเป็น วันสำคัญของไทย อีกวันหนึ่ง การกำหนดวันผู้สูงอายุแห่งชาติ มีปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานและจัดให้มีกิจกรรมต่างๆสำหรับผู้สูงอายุของทุกปีตามแผน โดยกำหนดนโยบายหลักเกี่ยวกับผู้สูงอายุขึ้นมา 5 ข้อ ดังต่อไปนี้
- ด้านสุขภาพอนามัย
- ด้านการศึกษา
- ด้านการสังคมวัฒนธรรม
- ด้านความมั่นคงทางรายได้และการทำงาน
- ด้านสวัสดิการสังคม
กิจกรรมในวันผู้สูงอายุแห่งชาติ
โดยทั่วไปแล้วในวันผู้สูงอายุแห่งชาติจะมีการจัดกิจกรรมรดน้ำขอพร มอบของขวัญและขอพรจากผู้สูงอายุตามหมู่บ้านและชุมชนต่างๆทั่วประเทศ รวมถึงหน่วยงานอื่นๆจะมีการให้สิทธิพิเศษในการใช้บริการต่างๆ เช่น ทางรถไฟฟ้าใต้ดิน หรือ MRT ได้ให้ความสำคัญแก่ผู้สูงอายุเป็นพิเศษด้วยการให้ผู้โดยสารที่มีอายุตั้งแต่ ๖๐ ปีขึ้นไป สามารถใช้บริการรถไฟฟ้าใต้ดินได้ฟรี ๑๘ สถานี ตั้งแต่เวลา ๖.๐๐ – ๒๔.๐๐ น. ส่วนทางรถไฟแอร์พอร์ต เรลลิงค์ก็เช่นกัน สำหรับผู้โดยสารที่มีอายุตั้งแต่ ๖๐ ปีชึ้นไป สามารถโดยสารรถไฟฟรีด้วยเช่นกัน เพียงแค่แสดงบัตรประชาชนต่อเจ้าหน้าที่ก่อนใช้บริการเท่านั้น
สำหรับสังคมไทยเราซึ่งยังคงเป็นสังคมที่มีลักษณะการอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวใหญ่ ถึงแม้ในปัจจุบันจะมีวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป ด้วยเพราะความเร่งรีบในการแข่งขันกันในด้านต่างๆ ทั้งเรื่องงาน การเป็นอยู่ การศึกษา ทำให้สังคมเมืองหรือสังคมใหญ่ๆในชนบทที่เคยอยู่ร่วมกันแบบครอบครัวใหญ่ แตกกระจายออกไปใช้ชีวิตอยู่กันแบบครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น คืออยู่กันเฉพาะพ่อ แม่ และ ลูกเท่านั้น ส่วนผู้สูงอายุไม่ว่าจะเป็นพ่อ แม่ ในวัยหลังเกษียนหรือ ปู่ ย่า ตา ยายก็จะถูกทิ้งให้อยู่กันตามลำพัง บุคคลเหล่านี้เมื่อก้าวเข้าสู่วัยสูงอายุแล้วซึ่งเรียกได้ว่าเป็นวัยท้ายของชีวิต เป็นช่วงที่ควรได้รับการช่วยเหลือประคับประคองจากสังคมจากคนใกล้ชิดหรือจากลูกหลาน ซึ่งสังคมไทยเรานั้นมีวัฒนธรรมในการดูแลพ่อ แม่ ญาติ หรือผู้สูงอายุอยู่ก็จริง แต่ก็ต้องยอมรับว่าในปัจจุบันนี้สภาพสังคมและเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป ย่อมมีผลกระทบต่อวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของคนไทยเป็นอย่างมาก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของผู้สูงอายุอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
เนื่องในโอกาสวันผู้สูงอายุซึ่งตรงกับวันที่ ๑๓ เมษายนของทุกปี เวียนมาบรรจบอีกวาระหนึ่ง กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรมจึงขอเชิญชวนบุตรหลานได้ใช้ช่วงเวลาพิเศษในเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งมีวันหยุดยาวได้กลับไปเยี่ยมพ่อ แม่ ญาติผู้สูงอายุซึ่งรอท่านอยู่ที่บ้าน กลับไปกอดท่านบอกรักท่านด้วยความกตัญญู ร่วมกันทำบุญตักบาตร รดน้ำขอพร เพื่อให้ความรักและความกตัญญูนี้เป็นเสมือนยาอายุวัฒนะที่เติมเต็มพลังให้เรา ต่อสู้กับปัญหาต่างๆที่ถาโถมเข้ามาในชีวิต และผ่านพ้นมันไปได้ด้วยรอยยิ้มและกำลังใจอันยิ่งใหญ่ของครอบครัว
ที่มา:
- www.culture.go.th
- ศิริวรรณ คุ้มโห้. วันและประเพณีสำคัญ. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์เดอะบุคส์
ร่วมแสดงความคิดเห็นในหัวข้อ “วันผู้สูงอายุแห่งชาติ 13 เมษายน”