ทุกวันที่ 29 กรกฎาคมของทุกปีเป็นวันภาษาไทยแห่งชาติ ซึ่งวันนี้ถือเป็นวันสำคัญวันหนึ่งของไทย ที่กระตุ้นและปลุกจิตสำนึกให้คนไทยทั้งชาติได้ตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของภาษาไทย ตลอดจนร่วมมือกันทำนุบำรุง ส่งเสริม และอนุรักษ์ภาษาไทยให้คงอยู่คู่ชาติไทยตลอดไป
วันภาษาไทยแห่งชาติ
ตรงกับทุกวันที่ 29 กรกฎาคมของทุกปี
คณะกรรมการรณรงค์เพื่อภาษาไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เสนอขอให้รัฐบาลประกาศให้วันที่ ๒๙ กรกฎาคม ของทุกปี เป็นวันภาษาไทยแห่งชาติ เช่นเดียวกับวันสำคัญอื่นๆ ที่รัฐบาลได้จัดให้มีมาก่อนแล้ว เช่น วันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ และ วันสื่อสารแห่งชาติ เป็นต้น วันภาษาไทยแห่งชาติได้ถูกตั้งขึ้นเมื่อวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๔๒
ประวัติวันภาษาไทยแห่งชาติ
เมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๐๕ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินไปเป็นประธานและทรงร่วมอภิปรายในการประชุมทางวิชาการของชุมนุมภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ ห้องประชุมคณะอักษรศาสตร์ ทรงเปิดการอภิปรายในหัวข้อ “ปัญหาการใช้คำไทย”
ทรงดำเนินการอภิปรายและทรงสรุปการอภิปรายอย่างดีเยี่ยม แสดงถึงพระปรีชาสามารถและความสนพระราชหฤทัยและความห่วงใยในภาษาไทย เป็นที่ประทับใจผู้เข้าร่วมการประชุมในครั้งนั้นเป็นอย่างยิ่ง นับเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวในประวัติศาสตร์ของวงการภาษาไทย ที่ได้รับพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณ ดังกล่าว และในโอกาสต่อๆ มาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังได้ทรงแสดงความสนพระราชหฤทัยและความห่วงใย ในภาษาไทยอีกหลายโอกาส เช่น ได้พระราชทานพระราชดำรัสเกี่ยวกับปัญหาในการใช้ภาษาไทยของประชาชนชาวไทยใน ปัจจุบัน ในวโรกาสที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ข้าราชการและองค์กรเอกชนเข้าเฝ้าถวายชัยมงคล เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา พุทธศักราช ๒๕๓๕ นอกจากนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงย้ำให้ประชาชนชาวไทยตระหนักถึง ความสำคัญของภาษาไทยและพระราชทานแนวความคิดในการอนุรักษ์ภาษาไทยในโอกาส ต่างๆ อยู่เสมอ ที่สำคัญยิ่งกว่านี้ คือ เป็นที่ประจักษ์ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระปรีชาญาณและพระอัจฉริยภาพในการใช้ภาษาไทย ทรงรอบรู้ปราดเปรื่องถึงรากศัพท์ของคำไทย คือ ภาษาบาลีและสันสกฤต ทรงพระอุตสาหะวิริยะแปลและเรียบเรียงวรรณกรรมภาษาต่างประเทศเป็นภาษาไทยที่ สมบูรณ์ด้วยลักษณะวรรณศิลป์ มีเนื้อหาสาระที่มีคุณค่าเป็นคติในการเสียสละเพื่อส่วนรวม และเป็นแบบอย่างแก่ประชาชนในการใช้ภาษาไทย ดังจะเห็นได้จากพระราชนิพนธ์แปลเรื่องนายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ ติโต พระราชนิพนธ์แปลบทความเรื่องสั้นๆ หลายบท และพระราชนิพนธ์ เรื่อง พระมหาชนก นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อมที่สุดมิได้แก่วงการ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสตอนหนึ่งความว่า…
“…เรามีโชคดีที่มีภาษาของตนเองแต่โบราณกาล จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะรักษาไว้ ควรจะใช้คำเก่าๆ ที่เรามีอยู่แล้ว ไม่ควรจะมาตั้งศัพท์ใหม่ให้ยุ่งยาก…” ปัญหาเฉพาะในด้านรักษาภาษาก็มีหลายประการ อย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในทางออกเสียง คือให้ออกเสียงให้ถูกต้องชัดเจน อีกอย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในวิธีใช้ หมายความว่าวิธีใช้คำมาประกอบประโยค นับเป็นปัญหาที่สำคัญ ปัญหาที่สามคือความร่ำรวยในคำของภาษาไทย ซึ่งพวกเรานึกว่าไม่ร่ำรวยพอ จึงต้องมีการบัญญัติศัพท์ใหม่มาใช้ … สำหรับคำใหม่ที่ตั้งขึ้นมีความจำเป็นในทางวิชาการไม่น้อย แต่บางคำที่ง่ายๆ ก็ควรจะมี
“…ในปัจจุบันนี้ปรากฏว่า ได้มีการใช้คำออกจะฟุ่มเฟือย และไม่ตรงกับความหมายอันแท้จริงอยู่เนืองๆ ทั้งออกเสียงก็ไม่ถูกต้องตามอักขรวิธี ถ้าปล่อยให้เป็นไปดังนี้ ภาษาของเราก็มีแต่จะทรุดโทรม ชาติไทยเรามีภาษาของเราใช้เองเป็นสิ่งอันประเสริฐอยู่แล้ว เป็นมรดกอันมีค่าตกทอดมาถึงเราทุกคนจึงมีหน้าที่จะต้องรักษาไว้ ฉะนั้นจึงขอให้บรรดานิสิตและบัณฑิต ตลอดจนครูบาอาจารย์ได้ช่วยกันรักษาและส่งเสริมภาษาไทย ซึ่งเป็นอุปกรณ์และหลักประกันเพื่อความเจริญวัฒนาของประเทศชาติ…”
นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ยังมีพระปรีชาญาณและพระอัจฉริยะภาพในการใช้ภาษาไทย ทรงรอบรู้ปราดเปรื่องถึงรากศัพท์ของคำไทย คือ ภาษาบาลีและสันสกฤต ทรงพระอุตสาหะวิริยะแปลและเรียบเรียงวรรณกรรมภาษาต่างประเทศเป็นภาษาไทยที่ สมบูรณ์ด้วยลักษณะวรรณศิลป์ มีเนื้อหาสาระที่มีคุณค่า เป็นคติในการเสียสละเพื่อส่วนรวม และเป็นแบบอย่างแก่ประชาชนในการใช้ภาษาไทย ดังจะเห็นได้จากพระราชนิพนธ์แปลเรื่องนายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ ติโต พระราชนิพนธ์แปลบทความเรื่องสั้นๆ หลายบท และพระราชนิพนธ์เรื่อง พระมหาชนก เป็นต้น
ด้วยเหตุนี้จึงได้เลือกวันที่ 29 กรกฎาคมของทุกปีให้เป็นวันภาษาไทยแห่งชาติ
วัตถุประสงค์ของวันภาษาไทยแห่งชาติ
วันภาษาไทยแห่งชาติได้มีวัตถุประสงค์สำคัญสืบเนื่องหลายประการได้แก่
- เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ผู้ทรงเป็นนักปราชญ์ และนักภาษาไทย รวมทั้งเพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ที่ได้ทรงแสดงความห่วงใย และพระราชทานแนวคิดต่างๆ เกี่ยวกับการใช้ภาษาไทย
- เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในมหามงคลสมัยเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ ในวันที่ 5 ธันวาคม 2542
- เพื่อกระตุ้นและปลุกจิตสำนึกของคนไทยทั้งชาติให้ตระหนักถึงความสำคัญและคุณค่าของภาษาไทย ตลอดจนร่วมมือร่วมใจกันทำนุบำรุงส่งเสริม และอนุรักษ์ภาษาไทย ซึ่งเป็นเอกลักษณ์และเป็นสมบัติวัฒนธรรมอันล้ำค่าของชาติให้คงอยู่คู่ชาติไทยตลอดไป
- เพื่อเพิ่มพูนประสิทธิภาพในการใช้ภาษาไทย ทั้งในวงวิชาการและวิชาชีพ รวมทั้งเพื่อยกมาตรฐานการเรียนการสอนภาษาไทยในสถานศึกษาทุกระดับให้สัมฤทธิผลยิ่งขึ้น
- เพื่อเปิดโอกาสให้หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐบาลและเอกชนทั่วประเทศมีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมที่หลากหลาย เพื่อเผยแพร่ความรู้ภาษาไทยในรูปแบบต่างๆ ไปสู่สาธารณชนทั้งในฐานะที่เป็นภาษาประจำชาติ และในฐานะที่เป็นภาษาเพื่อการสื่อสารของทุกคนในชาติ
ประโยชน์ของวันภาษาไทยแห่งชาติ
คาดว่าจะมีผลดีสืบเนื่องหลายประการ คือ
- การมี “วันภาษาไทยแห่งชาติ” จะทำให้หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐบาลและเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยงานในกระทรวงศึกษาธิการ และทบวงมหาวิทยาลัย ตระหนักในความสำคัญของภาษาไทย และร่วมกันจัดกิจกรรมเพื่อกระตุ้นเตือน เผยแพร่ และเน้นย้ำให้ประชาชนเห็นความสำคัญของ “ภาษาประจำชาติ” ของคนไทยทุกคน และร่วมมือกันอนุรักษ์การใช้ภาษาไทยให้มีความถูกต้องงดงามอยู่เสมอ
- บุคคลในวงวิชาชีพต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ภาษาไทย โดยเฉพาะในวงการศึกษา และวงการสื่อสาร ช่วยกันกวดขันดูแลให้การใช้ภาษาไทยเป็นไปอย่างถูกต้อง เหมาะสม มิให้ผันแปรเปลี่ยนแปลง จนเกิดความเสียหายแก่คุณลักษณะของภาษาไทยอันเป็นเอกลักษณ์ของชาติ
- ผลสืบเนื่องในระยะยาว คาดว่าปวงชนชาวไทยทั่วประเทศจะตื่นตัวและสนใจที่จะร่วมกันฟื้นฟู ทำนุบำรุง ส่งเสริมและอนุรักษ์ภาษาไทย อันเป็นเอกลักษณ์และสมบัติวัฒนธรรมที่สำคัญของชาติให้ดำรงคงอยู่คู่ชาติไทยตลอดไป
กิจกรรมในวันภาษาไทยแห่งชาติ
เชิญชวนให้สถาบันการศึกษา หน่วยงานภาครัฐ และเอกชน จัดกิจกรรมเนื่องใน “วันภาษาไทยแห่งชาติ” ในวันภาษาไทยแห่งชาติ โดยจัด ในวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ของทุกปี โดยมีกิจกรรมต่าง ๆ เช่นการจัดนิทรรศการ, การอภิปรายทางวิชาการ, การประกวดแต่งคำประพันธ์ ร้อยแก้ว ร้อยกรอง การขับเสภา การเล่านิทาน ฯลฯ
กำเนิดภาษาไทย
พ่อขุนรามคำเเหงได้ประดิษฐ์อักษรไทยขึ้นเมื่อปี พศ 1826 (คศ1283) มี พยัญชนะ 44 ตัว (21 เสียง), สระ 21 รูป (32 เสียง), วรรณยุกต์ 5 เสียง คือ เสียง สามัญ เอก โท ตรี จัตวา ภาษาไทยดัดเเปลงมาจากบาลี เเละ สันสกฤต
คนไทยเป็นผู้ที่โชคดีที่มีภาษาของตนเอง เเละมีอักษรไทย เป็นตัวอักษร ประจำชาติ อันเป็นมรดกล้ำค่าที่บรรพบุรุษได้สร้างไว้ ซึ่งเป็นเครื่องเเสดงว่าไทยเราเป็นชาติที่มีวัฒนธรรมสูงส่งมาเเต่โบราณกาล เเละยั่งยืนมาจนปัจจุบัน คนไทยผู้เป็นเจ้าของภาษา ควรภาคภูมิใจที่ชาติไทยใช้ภาษาไทย เป็นภาษาประจำชาติมากว่า 700 ปีเเล้ว เเละจะยั่งยืนตลอดไป ถ้าทุกคนตระหนักในความสำคัญของภาษาไทย
หนังสือสอนภาษาไทยในตำนาน มานะ มานี ปิติ ชูใจ
หากจะพูดถึงภาษาไทย ที่เราได้เคยเรียน ศึกษาสมัยเด็ก เราคงจะรู้จักกันดี กับ มานี มานะ วีระ ปิติ ชูใจ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นตัวละครที่อยู่ในชุดแบบเรียนภาษาไทย ระดับประถมศึกษาชั้นปีที่ 1-6 รวมทั้งสิ้น 12 เล่ม เป็นหนังสือที่มั่นใจได้ว่าทุกคนจะมีความหลัง กับการเรียนวิชาภาษาไทย
โดยหนังสือแบบเรียนภาษาไทย เขียนโดย รัชนี ศรีไพรวรรณ มีหลักการในการเขียน โดยมุ่งหมายสอนให้ความรู้ทางภาษา ทั้งการฟัง พูด อ่าน และเขียน ด้วยจำนวนคำ ซึ่งเริ่มตั้งแต่ ชั้น ประถมศึกษาที่ 1 กำหนดไว้ 150 คำ และเพิ่มขึ้นเป็นพันๆ คำ เมื่อเลื่อนชั้นจนสิ้นสุดที่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จนมาถึงปี พ.ศ. 2537 ได้ถูกถอดออกจากแบบเรียนเพราะเนื้อหาไม่ทันยุคทันสมัย
กลอนภาษาไทย
คุณค่าภาษาไทย
เป็นคนไทยต้องรักภาษาไทย
รักษาไว้ให้อยู่ได้เนานานหนอ
อย่าทำร้ายลายลักษณ์ที่ถักทอ
ที่แม่พ่ออนุรักษ์ตระหนักคุณ
ภาษาไทยนั้นเป็นภาษาชาติ
อย่าประมาทใช้ผิดให้เคืองขุ่น
ครูท่านสอนสั่งไว้เลยนะคุณ
ความว้าวุ่นแห่งภาษาจะมากมี
ถ้าเมื่อใดไร้ภาษาที่มีอยู่
คงอดสูอายเขาไปทุกที่
และอาจสิ้นชาติไทยไปด้วยซี
เพราะวิถีชีวีที่เปลี่ยนไป
ภาษาไทยเป็นภาษาที่มีค่า
มากยิ่งกว่านพรัตน์เป็นไหน ไหน
มวลหมู่แก้วถึงมีค่ากว่าสิ่งใด
คงมีได้แค่เพียงค่าราคาเงิน
แต่คุณค่าของภาษามีสูงส่ง
ช่วยดำรงความเป็นชาติไม่ขัดเขิน
เพราะภาษาแสดงลักษณ์จำหลักเกิน
กว่าค่าเงินตรา…แต่สง่าอยู่ที่ใจ
เป็นคนไทยต้องรักภาษาไทย
รักษาให้อยู่นานนานจะได้ไหม
อย่าทำลายภาพลักษณ์ความเป็นไทย
โดยที่ไม่รู้ค่าภาษาเอยฯ
แต่งโดย : อรุโณทัย ประพันธ์
ภาษาไทยสวยงาม
ภาษาไทยงดงามด้วยน้ำเสียง
ถ้อยเรียบเรียงหวานหูไม่รู้หาย
สื่อความคิดสื่อความรู้สื่อแทนกาย
สื่อความหมายด้วยภาษาน่าชื่นชม
เกิดเป็นไทยภาษาไทยเขียนให้คล่อง
กฎเกณฑ์ต้องรู้ใช้ให้เหมาะสม
จะพูดจาน่าฟังทั้งนิยม
เจ้าคารมเขาจะหมิ่นจนสิ้นอาย
ภาษาพูดสนทนาพูดจาทัก
เป็นสื่อรักสื่อสัมพันธ์ความมั่นหมาย
แม้นพูดดีมีคนรักมักสบาย
แต่พูดร้ายส่อเสียดคนเกลียดกัน
วัฒนธรรมล้ำค่าภาษาสวย
ทุกคนช่วยออกเสียง “ร” ขอสร้างสรรค์
แม้นออกเสียง เป็น “ล” เขาล้อกัน
คนจะหยันชาติเราไม่เข้าที
สระ “เอือ เป็น “เอีย” ฟังเพลียนัก
บอกที่รัก ช่วยซื้อ “เกีย”..ที่ร้านนี่
ขอ “ซมเซย” จะเชยแท้ แม้พาที
วอนน้องพี่ต้องช่วยกันจรรโลงไทย
ผมได้เลิกแต่งงานในวันนี้
เป็นเลิกดีเลิกงามยามสดใส
ออกเสียงฤกษ์ เป็นเลิก ครั้งคราใด
คงทำให้สื่อสารผิด..คิดเสียดาย
ภาษาไทยงดงามด้วยความคิด
แม้นอ่านผิดก็เขียนผิด..คงเสียหาย
เขียนอ่านไทยให้ถูกด้วยช่วยผ่อนคลาย
สื่อทั้งหลาย..ต้องช่วยกัน..นั้นอีกแรง..
โดย : ครูพิม ประพันธ์
บทความนี้อนุญาตให้แชร์ต่อได้ แต่ต้องลงเครดิตในส่วนของที่มา และทำลิ๊งค์กลับมาที่ tewfree.com ด้วยนะครับ
นายเกรียงศักดิ์ หวังอีน says
ดีมากครับ
ณัฐวดี มิ่งมิตร says
ภาษาไทยเป็นภาษาที่ต้องใช้ในชีวิตประจำวันจึงจำเป็นอย่างมาก