ไตรภูมิพระร่วง ถือเป็นหนึ่งในวรรณคดีสำคัญในสมัยสุโขทัย แต่งโดยพระมหาธรรมราชาที่ ๑ หรือพระยาลิไทย พ.ศ. ๑๘๙๖ ขณะครองเมืองศรีสัชนาลัยได้ ๖ ปี ดังปรากฏข้อความในบานแผนกของหนังสือไตรภูมิพระร่วง
ผู้แต่ง
พระมหาธรรมราชาที่ ๑ หรือพระยาลิไทย ทรงพระราชนิพนธ์ไตรภูมิพระร่วงเมื่อ พ.ศ. ๑๘๙๖ ขณะครองเมืองศรีสัชนาลัยได้ ๖ ปี ดังปรากฏข้อความในบานแผนกของหนังสือไตรภูมิพระร่วงว่า “เจ้าพระญาเลไทยผู้เป็นลูกแห่งเจ้าพระญาเลลิไทยผู้เสวยราชสมบัติในเมืองศรีสัชชนาลัยและสุกโขทัย และเจ้าพระญาเลไทยนี้ ธ เป็นหลานเจ้าพระญารามราช ผู้เป็นสุริยวงศ์และเจ้าพระญาเลไทยได้เสวยราชสมบัติในเมืองสัชชนาลัยอยู่ได้ ๖ เข้า จึงได้ไตรภูมิ”
ประวัติ
ไตรภูมิพระร่วง เดิมเรียกว่า “เตภูมิกถา” หรือ “ไตรภูมิกถา” ต่อมาสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเปลี่ยนชื่อใหม่ว่า “ไตรภูมิพระร่วง” เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระร่วงเจ้าแห่งกรุงสุโขทัย ไตรภูมิพระร่วงฉบับเก่าที่สุดบันทึกไว้ในใบลานด้วยอักษรขอม เมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๑ โดยพระมหาช่วย วัดปากน้ำ หรือวัดกลาง จังหวัดสมุทรปราการ ในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และนายวิทูร มลิวัลย์ ได้ตรวจสอบอีกครั้งใน พ.ศ. ๒๕๑๗
ทำนองแต่ง
ความเรียงร้อยแก้ว
ความมุ่งหมาย
เพื่อทรงแสดงธรรมโปรดพระราชมารดาและสั่งสอนประชาชน
เรื่องย่อ
เริ่มต้นบานแผนกบอกผู้แต่ง วัน เดือน ปีที่แต่ง หลักฐานประกอบการเรียบเรียงว่าได้มาจากคัมภีร์ทางพุทธศาสนาถึง ๓๐ คัมภีร์ และได้จากสำนัก ซึ่งเป็นสถานศึกษาของผู้แต่งและบอกความมุ่งหมายที่แต่งว่า เพื่อเจริญพระอภิธรรมเทศนาโปรดพระราชมารดา และสั่งสอนประชาชนให้รู้จักบาปบุญคุณโทษตั้งอยู่ในคุณงามความดี เนื้อเรื่องเป็นการอธิบายภูมิทั้ง ๓ คือกามภูมิ รูปภูมิ อรูปภูมิ
กามภูมิ แบ่งออกเป็น ๑๑ ภูมิ คือ
- ทุคติภูมิ หรืออบายภูมิ ๔ ได้แก่ นรก เปรต อสุรกาย และดิรัจฉาน
- สุคติภูมิ คือ มนุสสภูมิ ๑ สวรรค์ ๖ ที่เรียกว่า ฉกามาพจร คือ จาตุมหาราชิกา ดาวดึงส์ ยามา ดุสิต นิมมานรดี ปรนิมมิตวสวัตดี
รูปภูมิ แบ่งเป็นพรหมชั้นต่าง ๆ ๑๖ ชั้น ตามภูมิธรรม ดังนี้
- ปฐมฌาน ๓ ชั้น คือ พรหมปาริสัชชา พรหมปุโรหิตา มหาพรหมา
- ทุติยฌาน ๓ ชั้น คือ ปริตาภา อัปปมาณภา อาภัสสรา
- ตติยฌาน ๓ ชั้น คือ ปริตตสุภา อัปปมาณสุภา สุภกิณหา
- จตุตถฌาน ๗ ชั้น คือ เวหัปผลา อสัญญีสัตตา อวิหา อตัปปา สุทัสสา สุทัสสี อกนิฏฐาพรหม ๕ ชั้น ตั้งแต่อวิหาจนถึงอกนิฏฐา มีชื่อรวมว่า พรหมชั้นสุทธาวาส
อรูปภูมิ แบ่งออกเป็น ๔ ชั้น คือ อากาสานัญจายตนะ วิญญาณัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ เนวสัญญานาสัญญายตนะ
ตอนต่อไปกล่าวถึงการได้กำเนิดและสภาพความเป็นไปแห่งภูมินั้น ๆ อย่างละเอียดลออ
คุณค่าของวรรณคดี
ไตรภูมิพระร่วงนับเป็นคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาเล่มแรกที่แต่งในประเทศไทย มีการศึกษาค้นคว้าข้อมูลจากคัมภีร์ต่าง ๆ มากถึง ๓๐ คัมภีร์ ระบุผู้แต่ง วัน เดือน ปีที่แต่ง และความมุ่งหมายในการแต่งครบถ้วน มีคุณค่าทั้งด้านภาษาศาสตร์ ศาสนา และสังคม มีอิทธิพลเหนือจิตใจของคนไทยมาเป็นเวลานานจวบจนปัจจุบัน
ที่มา:
หนังสือเรียนรายวิชาพื้นฐาน ภาษาไทย ม.4 เล่ม 2 กระทรวงศึกษาธิการ
เอก จักรพันธ์ says
สนใจเลยจ้า