“น้ำ” นอกจากจะมีความสำคัญต่อการอุปโภคบริโภคของคนเราแล้ว ในสังคมไทยยังใช้น้ำเป็นเครื่องหมายในการประกอบพิธีกรรมที่เกี่ยวกับชีวิตมากมาย หนังสือ รู้ รัก ภาษาไทย เล่ม ๕ มีอธิบายคำเกี่ยวกับ “น้ำ” ที่ปรากฏในพิธีกรรมต่าง ๆ ไว้หลายคำ วันนี้ขอยกมาเป็นตัวอย่าง ๒ คำ คือ คำว่า หลั่งน้ำ และ สรงน้ำ หนังสือ รู้ รัก ภาษาไทย เล่มที่ ๕ และ ๖ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ได้รวบรวมคำราชาศัพท์ต่าง ๆ เกี่ยวกับ “น้ำ” ในพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับชีวิตคนเราไว้หลายคำ
คำราชาศัพท์ กรวดน้ำ
คำแรกที่น่าจะคุ้นหูท่านผู้อ่านก็คือ คำว่า กรวดน้ำ กรวดน้ำเป็นการแผ่ส่วนบุญให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้วด้วยวิธีหลั่งน้ำ เราจะกรวดน้ำหลังจากที่ได้ทำบุญกล่าวคำถวายภัตตาหารหรือเครื่องไทยทานทั้งหลายให้แก่พระภิกษุแล้ว เมื่อพระสงฆ์รับพิจารณาอนุโมทนา และประธานสงฆ์เริ่มต้นบทสวดว่า “ยถา วาริวหา…” ผู้กรวดน้ำจะรินน้ำจากเต้ากรวดน้ำลงในภาชนะรองรับ พร้อมกับตั้งใจอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ล่วงลับไปเรื่อย ๆ จนถึงช่วงสุดท้ายว่า “…มณิโชติรโส ยถา” ก็เทน้ำจนหมด แล้ววางที่กรวดน้ำ เพราะพระจะเริ่มให้พรด้วยคำว่า “สัพพีติโย…” ให้ประนมมือรับพรจากพระสงฆ์ เรื่องบทสวดในการกรวดน้ำนี้มีคำบอกให้จำง่าย ๆ ด้วยว่า “ยถา สวดให้ผี สัพพี สวดให้คน” สำหรับน้ำที่กรวดแล้ว ซึ่งเรามักจะนำไปรดลงดินในบริเวณที่เหมาะสม เช่น ที่โคนไม้ใหญ่ นั้นถือกันว่าเป็นการบอกให้พระธรณีเป็นพยานในการทำบุญทำกุศล
คำราชาศัพท์ ลอยอังคาร
คำเกี่ยวกับ “น้ำ” อีกคำหนึ่ง คือ คำว่า ลอยอังคาร ลอยอังคารเป็นคำเรียกพิธีลอยเถ้าถ่านของศพที่เผาแล้วลงน้ำ สันนิษฐานกันว่าได้รับอิทธิพลมาจากชาวฮินดูในประเทศอินเดีย เนื่องจากชาวฮินดูจะเผาศพกันที่ริมแม่น้ำคงคาซึ่งเป็นแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ และเมื่อเสร็จพิธีจะกวาดทั้งกระดูกและเถ้าลงแม่น้ำ เพราะเชื่อว่าทำให้ผู้ล่วงลับเป็นผู้บริสุทธิ์ ได้ไปสู่สวรรค์ คนไทยคงถือตามคติดังกล่าวนี้ แต่บุตรหลานจะเก็บอัฐิหรือกระดูกที่เผาแล้วและเถ้าอังคารส่วนหนึ่งไปไว้ในที่อันควร เช่น สถูป หรือใส่โกศไว้บูชาที่บ้าน ส่วนที่เหลือจึงนำไปลอยในทะเล แม่น้ำ หรือแหล่งน้ำที่ญาติ ๆ เห็นว่าเหมาะสม เพราะเชื่อว่าผู้ล่วงลับไปแล้วจะร่มเย็นเป็นสุข เหมือนน้ำที่มีแต่ความชุ่มเย็น
คำราชาศัพท์ ทรงพระสุหร่าย
คำเกี่ยวกับ “น้ำ” คำสุดท้ายที่จะกล่าวถึงคือ คำว่า ทรงพระสุหร่าย ซึ่งใช้เฉพาะเป็นราชาศัพท์ หมายถึง การที่พระมหากษัตริย์ทรงโปรยน้ำ คำว่า สุหร่าย มาจากภาษาเปอร์เซีย หมายถึง เครื่องโปรยน้ำให้เป็นฝอยอย่างฝักบัวสำหรับอาบน้ำ เมื่อใช้เป็นกริยาจะเติมคำว่า ทรง เข้าไปข้างหน้า เป็น ทรงพระสุหร่าย หมายความว่า ทรงโปรยน้ำ สะบัดน้ำ หรือฉีดน้ำเป็นฝอย
คำราชาศัพท์ หลั่งน้ำ
หลั่งน้ำ หมายถึง การเทน้ำหรือประพรมน้ำ ซึ่งเป็นน้ำมนต์หรือน้ำหอมพร้อมกับคำให้พร เป็นคำแสดงความปรารถนาดีที่ให้แก่ผู้รับ พระภิกษุหรือผู้ใหญ่ที่เคารพจะประพรมน้ำมนต์ให้ โดยรดลงบนศีรษะของผู้ที่ต้องการรับ จะเรียกว่า หลั่งน้ำพระพุทธมนต์ หลั่งน้ำสังข์ หรือ หลั่งน้ำ ก็ได้ การหลั่งน้ำพระพุทธมนต์ที่กระทำแก่คู่บ่าวสาวในพิธีแต่งงานอาจเรียกเป็นคำทั่วไปว่า รดน้ำสังข์ หรือ รดน้ำ ในการรดน้ำแก่คู่บ่าวสาว ผู้ที่รดต้องมีอายุมากกว่า มีศักดิ์สูงกว่า หรือเป็นผู้ใหญ่กว่าคู่บ่าวสาว และจะรดน้ำที่ศีรษะหรือที่มือพร้อมกับให้พรให้คู่บ่าวสาวมีชีวิตสมรสที่ราบรื่น เป็นสุข เจริญมั่งคั่ง นอกจากการรดน้ำแก่คู่บ่าวสาวแล้ว ยังมีการรดน้ำแก่ผู้ที่มีอายุครบ ๖๐ ปีขึ้นไป (ผู้ที่มีอายุไม่ถึง ๖๐ ปี ไม่นิยมให้ผู้อื่นมารดน้ำ) ผู้ที่มีอายุน้อยกว่าจะรดน้ำที่มือพร้อมกับกล่าวคำแสดงความปรารถนาดี หรือขออำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์มาให้พรแก่ท่านผู้นั้นแทนตน ส่วนผู้ที่มีอายุมากกว่าอาจรดน้ำให้ที่มือพร้อมกล่าวคำอวยพรได้คำราชาศัพท์ สรงน้ำ
คำเกี่ยวกับ “น้ำ” อีกคำหนึ่งคือ สรงน้ำ คำว่า สรง ในคำ สรงน้ำ นี้เป็นคำจากภาษาเขมรว่า สฺรง่ [ซร็อง] แปลว่า สงขึ้นจากน้ำ หรือช่วยให้พ้นทุกข์ เมื่อเป็นราชาศัพท์ใช้ว่า สฺรง่สุคนฺธวารี [ซร็อง-โสะ-ก็วน-เทอะ-เวีย-รี] สมณศัพท์ใช้ว่า สฺรง่ทึก [ซร็อง-ตึ๊ก] แปลว่า อาบน้ำ เมื่อใช้เป็นคำราชาศัพท์และสมณศัพท์ในภาษาไทย คำว่า สรง แปลว่า อาบ หรือชำระล้าง เช่น สรงพระพักตร์ แปลว่า ล้างหน้า นอกจากนี้ คำว่า สรงน้ำ ยังมีความหมายว่า อาบน้ำให้ หรือรดน้ำให้ ด้วย เช่น นอกจากสรงน้ำพระพุทธรูปแล้ว เราสรงน้ำพระภิกษุที่เคารพนับถือด้วยที่มา:
ร่วมแสดงความคิดเห็นในหัวข้อ “การใช้ราชาศัพท์ หลั่งน้ำ-สรงน้ำ ในพิธีกรรม”