มรรค 8 หมายถึง หนทางสู่การดับทุกข์ ประกอบด้วย สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ เว็ปติวฟรีได้รวบรวมสรุปมรรค 8 พร้อมความหมายของแต่ละประการ
มรรค 8 คือหนทางสู่การดับทุกข์
มรรค คือ หนทางสู่ความดับทุกข์ เป็นหนึ่งใน อริยสัจ 4 จึงเรียกอีกอย่างว่า ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา หรือการลงมือปฏิบัติเพื่อให้พ้นจากทุกข์ ประกอบด้วยองค์ประกอบ 8 ประการ ในธัมมจักกัปปวัตตนสูตร พระพุทธเจ้าตรัสว่าอริยมรรคมีองค์ 8 นี้เป็นทางสายกลาง คือเป็นข้อปฏิบัติอันพอดีที่จะนำไปสู่ความหลุดพ้น
ตามวิภังคสูตร พระพุทธเจ้าทรงอธิบายรายละเอียดไว้ดังนี้
สัมมาทิฏฐิ | (ความเห็นที่ถูกต้อง) หมายถึง ความรู้ในอริยสัจ 4 |
สัมมาสังกัปปะ | (ความคิดที่ถูกต้อง) หมายถึง ความคิดในการออกจากกาม ความไม่พยาบาท และการไม่เบียดเบียน |
สัมมาวาจา | (วาจาที่ถูกต้อง) หมายถึง การเว้นจากการพูดเท็จ หยาบคาย ส่อเสียด และเพ้อเจ้อ |
สัมมากัมมันตะ | (การปฏิบัติที่ถูกต้อง) หมายถึง เจตนาละเว้นจากการฆ่า โจรกรรม และการประพฤติผิดในกาม |
สัมมาอาชีวะ | (การหาเลี้ยงชีพที่ถูกต้อง) หมายถึง การเว้นจากมิจฉาชีพ การละเว้นจากอาชีพฆ่าสัตว์ อาชีพที่เบียดเบียนผู้อื่น |
สัมมาวายามะ | (ความเพียรที่ถูกต้อง) หมายถึง สัมมัปปธาน 4 คือ ความพยายามป้องกันอกุศลที่ยังไม่เกิด ละอกุศลที่เกิดขึ้นแล้ว ทำกุศลที่ยังไม่เกิด และดำรงรักษากุศลที่เกิดขึ้นแล้ว |
สัมมาสติ | (การมีสติที่ถูกต้อง) หมายถึง สติปัฏฐาน 4 |
สัมมาสมาธิ | (การมีสมาธิที่ถูกต้อง) หมายถึง ฌาน 4 |
1. สัมมาทิฏฐิ
สัมมาทิฏฐิ หมายถึง แนวคิดที่ถูกต้อง ความเห็นชอบตามทำนองคลองธรรม เช่น เห็นว่าทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่ว ถือเป็นองค์แรกในมรรคมีองค์แปด อันเป็นแนวทางสู่การหลุดพ้นจากทุกข์
ในสัมมาทิฏฐิสูตร พระสารีบุตรอธิบายนัยะของสัมมาทิฐิไว้ 16 ประการ ดังนี้
- รู้ชัดอกุศลและรากเหง้าแห่งอกุศล และรู้ชัดกุศลและรากเหง้าแห่งกุศล อกุศล คืออกุศลกรรมบถ 10 รากเหง้าของอกุศล คือโลภะ โทสะ โมหะ
- รู้ชัดอาหาร เหตุเกิดแห่งอาหาร ความดับแห่งอาหาร และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งอาหาร อาหารคือ อาหาร ผัสสะ เจตนา และวิญญาณ เหตุแห่งอาหาร คือ ตัณหา ความดับแห่งอาหาร การดับตัณหา และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งอาหาร คือ มรรคมีองค์แปด
- รู้ชัดทุกข์ เหตุแห่งทุกข์ การดับทุกข์ และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ทุกข์คือ การเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย โศก ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส และเหตุแห่งทุกข์ คือ ตัณหา ความดับแห่งทุกข์ การดับตัณหา และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ คือ มรรคมีองค์แปด
- รู้ชัดชราและมรณะ เหตุเกิดแห่งชราและมรณะ ความดับแห่งชราและมรณะ และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งชราและมรณะ เหตุเกิดแห่งชราและมรณะ คือ การเกิด ความดับแห่งชราและมรณะ คือ การดับความเกิด ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งชราและมรณะ คือ มรรคมีองค์แปด
- รู้ชัดชาติ เหตุเกิดแห่งชาติ ความดับแห่งชาติ และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งชาติ เหตุเกิดแห่งชาติ คือ ภพ ความดับแห่งชาติ คือ การดับภพ ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งชาติ คือ มรรคมีองค์แปด
- รู้ชัดภพ เหตุเกิดแห่งภพ ความดับแห่งภพ และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งภพ เหตุเกิดแห่งภพ คือ อุปาทาน ความดับแห่งภพ การดับอุปาทาน และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งภพ คือ มรรคมีองค์แปด
- รู้ชัดอุปาทาน เหตุเกิดแห่งอุปาทาน ความดับแห่งอุปาทาน และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งอุปาทาน เหตุเกิดแห่งอุปาทาน คือ ตัณหา ความดับแห่งอุปาทาน คือ การดับตัณหา และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งอุปาทาน คือ มรรคมีองค์แปด
- รู้ชัดตัณหา เหตุเกิดแห่งตัณหา ความดับแห่งตัณหา และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งตัณหา เหตุเกิดแห่งตัณหา คือ เวทนา ความดับแห่งตัณหา คือ การดับเวทนา และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งตัณหา คือ มรรคมีองค์แปด
- รู้ชัดเวทนา เหตุเกิดแห่งเวทนา ความดับแห่งเวทนา และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งเวทนา
- รู้ชัดผัสสะ เหตุเกิดแห่งผัสสะ ความดับแห่งผัสสะ และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งผัสสะ
- รู้ชัดอายตนะ 6 ประการ เหตุเกิดแห่งอายตนะ 6 ประการ ความดับแห่งอายตนะ 6 ประการ และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งอายตนะ 6 ประการ
- รู้ชัดนามรูป เหตุเกิดแห่งนามรูป ความดับแห่งนามรูป และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งนามรูป
- รู้ชัดวิญญาณ เหตุเกิดแห่งวิญญาณ ความดับแห่งวิญญาณ และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งวิญญาณ
- รู้ชัดสังขาร เหตุเกิดแห่งสังขาร ความดับแห่งสังขาร และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งสังขาร
- รู้ชัดอวิชชา เหตุเกิดแห่งอวิชชา ความดับแห่งอวิชชา และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งอวิชชา
- รู้ชัดอาสวะ เหตุเกิดแห่งอาสวะ ความดับแห่งอาสวะ และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งอาสวะ
2. สัมมาสังกัปปะ
สัมมาสังกัปปะ หมายถึง ดำริชอบ หรือความนึกคิดในทางที่ถูกต้อง เป็นหนึ่งในมรรค 8 หรือ มรรคมีองค์แปด สัมมาสังกัปปะ มี 3 อย่าง ได้แก่
- เนกขัมมสังกัปป์ (หรือ เนกขัมมวิตก) คือ ความดำริที่ปลอดจากโลภะ ความนึกคิดที่ปลอดโปร่งจากกาม ไม่หมกมุ่นพัวพันติดข้องในสิ่งสนองความอยากต่างๆ ความคิดที่ปราศจากความเห็นแก่ตัว ความคิดเสียสละ และความคิดที่เป็นคุณเป็นกุศลทุกอย่าง จัดเป็นความนึกคิดที่ปราศจากราคะหรือโลภะ
- อพยาบาทสังกัปป์ (หรือ อพยาบาทวิตก) คือ ดำริในอันไม่พยาบาท ความดำริที่ไม่มีความเคียดแค้น ชิงชัง ขัดเคือง หรือเพ่งมองในแง่ร้ายต่างๆ โดยเฉพาะมุ่งเอาธรรมที่ตรงข้าม คือเมตตา กรุณาซึ่งหมายถึงความปรารถนาดี ความมีไมตรี ต้องการให้ผู้อื่นมีความสุข จัดเป็นความนึกคิดที่ปราศจากโทสะ
- อวิหิงสาสังกัปป์ (หรือ อวิหิงสาวิตก) คือ ดำริในอันไม่เบียดเบียน ไม่มีการคิดทำร้ายหรือทำลายด้วยความไม่รู้ เพราะคึกคะนอง ทำโดยไม่มีความโลภหรือความโกรธมาเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะมุ่งเอาธรรมที่ตรงข้าม ปัญญาคือเข้าใจโลกนี้ตามความเป็นจริง รู้ชัดในกฎแห่งกรรม หรือมีสามัญสำนึกในสิ่งที่ถูกต้องดีงามเอง จัดเป็นความนึกคิดที่ปราศจากโมหะ
กุศลวิตก 3 ประการนี้ ไม่กระทำความมืดมน กระทำปัญญาจักษุ กระทำญาณ ยังปัญญาให้เจริญ ไม่เป็นไปในฝักฝ่ายแห่งความคับแค้น เป็นไปเพื่อนิพพาน
3. สัมมาวาจา
สัมมาวาจา เจรจาชอบ คือ วจีสุจริต4 (เว้นจาก วจีทุจริต4) มีหลักธรรมเกี่ยวกับสัมมาวาจาอยู่ 4 ข้อด้วยกันคือ
- ละการพูดเท็จ เว้นขาดจากการพูดเท็จ พูดแต่คำจริง ดำรงคำสัตย์ มีถ้อยคำเป็นหลักฐาน ควรเชื่อได้ ไม่พูดลวงโลก
- ละคำส่อเสียด เว้นขาดจากคำส่อเสียด ฟังจากข้างนี้แล้วไม่ไปบอกข้างโน้น เพื่อให้คนหมู่นี้แตกร้าวกัน หรือฟังจากข้างโน้น แล้วไม่มาบอกข้างนี้ เพื่อให้คนหมู่โน้นแตกร้าวกัน สมานคนที่แตกร้าวกันแล้วบ้าง ส่งเสริมคนที่พร้อมเพรียงกันแล้วบ้าง ชอบคนผู้พร้อมเพรียงกัน ยินดีในคนผู้พร้อมเพรียงกัน เพลิดเพลินในคนผู้พร้อมเพรียงกัน กล่าวแต่คำที่ทำให้คนพร้อมเพรียงกัน
- ละคำหยาบ เว้นขาดจากคำหยาบ กล่าวแต่คำที่ไม่มีโทษเพราะหู ชวนให้รัก จับใจ เป็นของชาวเมือง คนส่วนมากรักใคร่พอใจ
- ละคำเพ้อเจ้อ เว้นขาดจากคำเพ้อเจ้อ พูดถูกกาล พูดแต่คำ ที่เป็นจริง พูดอิงอรรถ พูดอิงธรรม พูดอิงวินัย พูดแต่คำมีหลักฐานมีที่อ้าง มีที่กำหนด ประกอบด้วยประโยชน์ โดยกาลอันควร
4. สัมมากัมมันตะ
สัมมากัมมันตะ เป็นหนึ่งในมรรค 8 หรือ มรรคมีองค์แปด กระทำชอบ ทำการชอบ คือ การกระทำที่เว้นจากความประพฤติชั่วทางกาย 3 อย่าง อันได้แก่
- การงดเว้นจากการฆ่าสัตว์
- การงดเว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เขามิได้ให้
- การงดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม
5. สัมมาอาชีวะ
สัมมาอาชีวะเป็นหนึ่งในมรรค 8 หรือ มรรคมีองค์แปด สัมมาอาชีวะ หมายถึง การใช้ชีวิตด้วยการบริโภคปัจจัยสี่ อย่างมักน้อย เท่าที่จำเป็น ถ้าเป็นนักบวชที่อยู่ด้วยการขอ ต้องรักษาปัจจัยสี่ของทายกอย่างดี เพื่อให้คุ้มค่าต่อผู้ให้ ไม่เบียดเบียน และไม่เสพสิ่งที่นอกเหนือจากปัจจัยสี่โดยไม่จำเป็นเช่นกามคุณ 5 เพราะแม้ไม่เสพกามคุณ มนุษย์ก็สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ สัมมาอาชีวะของผู้บวชคือไม่เสพบริโภคเกินจำเป็น เช่น ดูการละเล่น แต่งตัว เป็นต้น
- เลี้ยงชีพชอบ หมายถึงการทำมาหากินด้วยอาชีพที่สุจริต
- ฆราวาส สัมมาอาชีวะ หมายถึง การเว้นมิจฉาอาชีวะ อันได้แก่ การเลี้ยงชีพไม่ชอบ คือการแสวงหาปัจจัยมาบริโภคที่มิชอบ คือการโกงหรือหลอกลวง เว้นการประจบสอพลอ การบีบบังคับขู่เข็ญ และการต่อลาภด้วยลาภ หรือก็คือการแสวงหาลาภโดยไม่ประกอบด้วยความเพียร (สัมมาวายามะ ) คือขี้เกียจ อยากได้มาง่ายๆโดยไม่อาศัยกำลังแห่งสติปัญญาและแรงกาย ซ้ำโลภจนไม่ชอบธรรม เช่น เบียดเบียนลูกจ้าง และทำลายสิ่งแวดล้อม สังคม เพื่ออย่างได้มาก เสียให้น้อย
- รวมถึงการไม่ประกอบมิจฉาอาชีวะ 5 ประเภท ดังนี้
- สัตถวณิชชา คือ การขายอาวุธ ได้แก่ อาวุธปืน อาวุธเคมี ระเบิด นิวเคลียร์ อาวุธอื่น ๆ เป็นต้น อาวุธเหล่านี้หากมีเจตนาเพื่อทำร้ายกัน จะก่อให้เกิดการทำลายล้างซึ่งกันและกัน โลกจะไม่เกิดสันติสุข
- สัตตวณิชชา หมายถึง การค้าขายมนุษย์ ได้แก่ การค้าขายเด็ก การค้าทาส ตลอดจนการใช้แรงงานเด็กและสตรีอย่างทารุณ รวมถึงการขายตัวหรือขายบริการทางเพศทั้งของตัวเองและผุ้อื่น
- มังสวณิชชา หมายถึง ค้าขายสัตว์เป็น สำหรับฆ่าเพื่อเป็นอาหารเป็นการส่งเสริมให้ทำผิดศีลข้อที่ 1 คือการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต
- มัชชวณิชชา หมายถึง การค้าขายน้ำเมา ตลอดจนการค้าสารเสพติดทุกชนิด รวมถึงการเสพเอง
- วิสวณิชชา หมายถึง การค้าขายยาพิษ ซึ่งเป็นอันตรายต่อผู้ใช้ รวมทั้งเป็นอันตรายต่อสัตว์
6. สัมมาวายามะ
สัมมาวายามะเป็นหนึ่งในมรรค 8 หรือ มรรคมีองค์แปด เพียรชอบ เกิดฉันทะพยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิตไว้ ตั้งจิตไว้
- เพื่อมิให้อกุศลธรรมอันลามกที่ยังไม่เกิด ไม่บังเกิดขึ้น
- เพื่อละอกุศลธรรมอันลามกที่บังเกิดขึ้นแล้ว
- เพื่อให้กุศลธรรมที่ยังไม่เกิดบังเกิดขึ้น
- เพื่อความตั้งอยู่ไม่เลือนหาย เจริญยิ่ง ไพบูลย์ มีขึ้น เต็มเปี่ยมแห่งกุศลธรรมที่บังเกิดขึ้นแล้ว
การจะเกิดสัมมาสติ ต้องอาศัยความเพียรพยายามกำหนดสติอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ จนเกิดเป็นสัมมาสมาธิ ดังนั้นสัมมาวายามะจึงต้องมีอยู่หน้าสัมมาสติ
7. สัมมาสติ
สัมมาสติ คือการมีสติกำหนดระลึกรู้อยู่เป็นนิจว่า กำลังทำอะไรอยู่ กำหนดรู้สภาวะที่เกิดขึ้นจริงในขณะปัจจุบัน ในสภาวะทั้ง 4 คือ กาย เวทนา จิต และธรรม ตามความจำกัดความแบบพระสูตร คือหลักธรรมที่เรียกว่าสติปัฏฐาน ๔ แบ่งออกเป็น 4 คือ
- กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน การกำหนดระลึกรู้ในกาย คือ อิริยาบถ 4 การเคลื่อนไหว (อานาปานบรรพ อิริยาปถบรรพ สัมปชัญญบรรพ ปฏิกูลมนสิการบรรพ ธาตุมนสิการบรรพ นวสีวถิกาบรรพ)
- เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน การกำหนดระลึกรู้ในเวทนา คือ เวทนาทางกาย ทางใจ สุข ทุกข์ อุเบกขา
- จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน การกำหนดระลึกรู้ในจิต จิตมีโทสะรู้ มีราคะรู้ มีโมหะรู้ ฯลฯ
- ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน การกำหนดระลึกรู้ในธรรม คือ สัญญา(ความนึก) และสังขาร(ความคิด) นิวรณ์ ๕ อุปาทานขันธ์ ๕ อายตนะภายในและภายนอก ๖ โพชฌงค์ ๗ อริยสัจ ๔
(สัมมาสติ เป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌา และโทมนัสในโลกเสียได้ พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ ฯลฯ พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ ฯลฯ พิจารณา เห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและ โทมนัสในโลกเสียได้ อันนี้เรียกว่า สัมมาสติ ฯ)
8. สัมมาสมาธิ
สัมมาสมาธิ แปลว่า สมาธิชอบ คือความตั้งใจมั่นโดยถูกทาง โดยการที่กุศลจิตมีอารมณ์เป็นอันเดียว (ความตั้งมั่นแห่งกุศลจิตในในอารมณ์อันใดอันหนึ่ง ไม่ฟุ้งซ่าน) เข้าถึง ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน และ จตุตถฌาน (จิตตั้งมั่นในฌานทั้ง 4 นี้ ส่วนอรูปฌาน)ทั้ง4ท่านจัดเข้าในจตุตถฌาน ตามอารมณ์ที่อรูปฌานมีเจตสิกที่เข้ามาประกอบในจิต คือ อุเบกขาเจตสิกและเอกัคคตาเจตสิก เช่นเดียวกับจตุตถฌาน
สัมมาสมาธิมีทั้งหมด 4 ประการด้วยกันคือ
- จิตสงัดแล้วจากกามทั้งหลาย สงัดแล้วจากกรรมที่เป็นอกุศลธรรมทั้งหลาย เข้าถึงปฐมฌาน ประกอบด้วยวิตกวิจาร มีปีติและสุขอันเกิดจากวิเวก
- เพราะความที่วิตกวิจารทั้งสองระงับลง เข้าถึงทุติยฌาน เป็นเครื่องผ่องใสแห่งใจในภายใน ให้สมาธิเป็นธรรมอันเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตกวิจาร มีแต่ปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิ
- เพราะความจางคลายไปแห่งปีติ เป็นผู้อยู่อุเบกขา มีสติและสัมปชัญญะ และเสวยสุขด้วยนามกาย มีสติ อยู่เป็นปรกติสุข เข้าถึงตติยฌาน
- เพราะละสุขและทุกข์เสียได้ เพราะความดับไปแห่งโสมนัสและโทมนัสทั้งสอง เข้าถึงจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข มีแต่ความที่สติเป็นธรรมชาติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขา
การนำมรรค 8 ไปปฏิบัติ
มรรค 8 เป็นหนทางปฏิบัติที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้เพื่อนำไปสู่ความดับทุกข์ ประกอบด้วยองค์ประกอบ 8 ประการ ได้แก่ ปัญญา ศีล สมาธิ และวิมุตติ แต่ละองค์ประกอบมีความสำคัญและเชื่อมโยงกัน จำเป็นต้องปฏิบัติร่วมกันอย่างครบถ้วน เพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายของการดับทุกข์
1. ฝึกฝนปัญญาด้วยการศึกษาและการใคร่ครวญ
ปัญญาเป็นรากฐานสำคัญของมรรค 8 หมายถึง ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับความจริงของชีวิต ปัญญาสามารถพัฒนาได้ด้วยการศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา และการใคร่ครวญถึงสิ่งที่ได้เรียนรู้ จะช่วยให้เราเข้าใจทุกข์ สมุทัย นิโรธ และมรรคได้อย่างถ่องแท้
ตัวอย่างการฝึกฝนปัญญา
- อ่านหนังสือธรรมะ ฟังธรรมะจากพระอาจารย์
- เข้าร่วมกิจกรรมทางศาสนา เช่น ปฏิบัติธรรม ฟังธรรมเทศนา
- พูดคุยกับผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจในธรรมะ
- คิดใคร่ครวญถึงสิ่งที่ได้เรียนรู้จากหลักธรรม
2. รักษาศีล 5 เพื่อสร้างพื้นฐานที่มั่นคง
ศีลเป็นข้อปฏิบัติทางศีลธรรมที่ช่วยให้จิตใจสงบ ปราศจากกิเลส ศีล 5 เป็นศีลพื้นฐานที่ชาวพุทธควรปฏิบัติ ประกอบด้วย
- ห้ามฆ่าสัตว์
- ห้ามลักทรัพย์
- ห้ามประพฤติผิดในกาม
- ห้ามพูดเท็จ
- ห้ามดื่มสุราและของมึนเมา
การรักษาศีลจะช่วยให้เราดำเนินชีวิตอย่างมีคุณธรรม หลีกเลี่ยงการกระทำที่ก่อให้เกิดทุกข์ทั้งต่อตนเองและผู้อื่น
ตัวอย่างการรักษาศีล 5
- ไม่ฆ่าสัตว์หรือเบียดเบียนผู้อื่น
- ไม่ขโมยของหรือเอาสิ่งของของผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต
- รักษาความประพฤติทางเพศให้เหมาะสม
- พูดความจริง พูดแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์
- ไม่ดื่มสุราหรือของมึนเมา
3. พัฒนาสมาธิด้วยการฝึกกรรมฐานต่างๆ
สมาธิเป็นองค์ประกอบสำคัญอีกประการหนึ่งของมรรค 8 หมายถึง การมีจิตที่มั่นคง แน่วแน่ ไม่ฟุ้งซ่าน สมาธิสามารถพัฒนาได้ด้วยการฝึกกรรมฐานต่างๆ เช่น การทำสมาธิแบบพุทโธ การทำสมาธิแบบกสิณ เป็นต้น
ตัวอย่างการฝึกสมาธิ
- นั่งสมาธิ หลับตา กำหนดจิตให้จดจ่ออยู่กับคำบริกรรม หรือกสิณ
- เดินจงกรม เดินไปเรื่อยๆ กำหนดจิตให้จดจ่ออยู่กับการเคลื่อนไหวของร่างกาย
- นั่งสมาธิแบบมีสติ กำหนดรู้กาย เวทนา จิต และธรรมที่เกิดขึ้นในใจ
4. เพียรพยายามอย่างต่อเนื่องด้วยสติ
สติเป็นองค์ประกอบสุดท้ายของมรรค 8 หมายถึง การระลึกรู้เท่าทันต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในใจและกาย สติจะช่วยให้เราควบคุมความคิด การกระทำ และอารมณ์ของตนเองได้ เพียรพยายามอย่างต่อเนื่องด้วยสติ จะช่วยให้เราก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรม
ตัวอย่างการใช้สติ
- สังเกตความคิด ความรู้สึก อารมณ์ของตนเองที่เกิดขึ้นในแต่ละขณะ
- ระลึกรู้ถึงการกระทำของตนเองว่ากำลังทำอะไรอยู่
- ระลึกรู้ถึงลมหายใจเข้าออก
การนำมรรค 8 ไปปฏิบัติเป็นกระบวนการที่ค่อยเป็นค่อยไป จำเป็นต้องฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง แม้จะพบกับอุปสรรคบ้างก็ไม่ย่อท้อ ด้วยความเพียรพยายามอย่างแน่วแน่ ย่อมนำไปสู่ความดับทุกข์ได้ในที่สุด
ผลลัพธ์ของการปฏิบัติมรรค 8
มรรค 8 เป็นหนทางปฏิบัติที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้เพื่อนำไปสู่ความดับทุกข์ ผู้ที่ปฏิบัติมรรค 8 อย่างถูกต้อง ย่อมได้รับผลลัพธ์ที่ดีตามมา ดังต่อไปนี้
1. จิตใจที่ผ่องใส ปราศจากกิเลส
เมื่อปฏิบัติมรรค 8 อย่างต่อเนื่อง ปัญญาจะเจริญขึ้น เข้าใจความจริงของชีวิตอย่างถ่องแท้ กิเลสในใจก็จะค่อยๆ ลดลง จิตใจก็จะสงบ เยือกเย็น ปราศจากสิ่งรบกวน
2. ปัญญาที่แจ่มใส เห็นสัจธรรมของชีวิต
ปัญญาที่เกิดจากการปฏิบัติมรรค 8 จะช่วยให้เราเข้าใจทุกข์ สมุทัย นิโรธ และมรรคได้อย่างถ่องแท้ เข้าใจว่าทุกข์เกิดจากอะไร สมุทัยคืออะไร นิโรธคืออะไร และมรรคคืออะไร เมื่อเข้าใจความจริงของชีวิตแล้ว ย่อมสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างถูกต้อง หลุดพ้นจากความทุกข์
3. ความสุขที่แท้จริงและยั่งยืน
ความสุขที่เกิดจากการปฏิบัติมรรค 8 ไม่ใช่ความสุขที่ขึ้นอยู่กับปัจจัยภายนอก เช่น ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข แต่เป็นความพึงพอใจภายในใจ ที่เกิดจากการเข้าใจความจริงของชีวิต ปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นต่างๆ ความสุขเช่นนี้จะคงอยู่อย่างยั่งยืน ไม่แปรปรวนตามปัจจัยภายนอก
4. การพ้นจากทุกข์ ไปสู่ความดับทุกข์ (นิโรธ)
ผู้ที่ปฏิบัติมรรค 8 จนถึงที่สุด จะบรรลุถึงนิโรธ ซึ่งเป็นความดับทุกข์อย่างสิ้นเชิง นิโรธเป็นเป้าหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา ผู้ที่บรรลุถึงนิโรธ จะหลุดพ้นจากวัฏสงสาร วงจรแห่งการเกิด แก่ เจ็บ ตาย ไปสู่ความสุขอันเป็นนิรันดร์
ผลลัพธ์ของการปฏิบัติมรรค 8 เป็นสิ่งที่น่าปรารถนาอย่างยิ่ง ผู้ที่มุ่งมั่นปฏิบัติมรรค 8 อย่างถูกต้อง ย่อมได้รับผลลัพธ์ที่ดีตามมา ทั้งในชาตินี้และชาติหน้า
บทสรุป
มรรค 8 อาจดูเป็นเส้นทางยาวไกล แต่มั่นใจเถอะ เส้นทางนี้ไม่ได้เดินไปคนเดียว มีพระธรรมเป็นแสงสว่างนำทาง คอยประคองทุกย่างก้าว ยิ่งเดิน ยิ่งเบา ยิ่งฝึก ยิ่งชำนาญ ผลลัพธ์อันเป็นนิโรธรออยู่ที่จุดหมายปลายทาง ใครพร้อมออกเดินทาง เปลี่ยนชีวิตจากวังวนสู่เส้นทางแห่งความสุขแท้จริง ไปด้วยกันมั้ย? ธรรมะสวัสดีครับ
หลักธรรมของศาสนาพุทธที่ควรทราบ
ธรรมะในชีวิตประจำวัน
การนำหลักธรรมคำสอนมาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน ถือเป็นบุญอย่างหนึ่งของชาวพุทธ หลักการธรรมะที่เราเรียนรู้ ไม่เพียงช่วยให้เรามีสมาธิและความสงบในใจ แต่ยังช่วยให้เราทำความเข้าใจเรื่องราวของชีวิต และวิธีการรับมือกับความทุกข์ทั้งในทางทฤษฎีและทางปฏิบัติ มาดูกันว่าเราสามารถนำหลักธรรมะข้อใดมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันกันบ้าง
- อริยสัจ 4 ในชีวิตประจำวัน
- สังคหวัตถุ 4 ในชีวิตประจำวัน
- พรหมวิหาร 4 ในชีวิตประจำวัน
- อิทธิบาท 4 ในชีวิตประจำวัน
- โลกธรรม 8 ในชีวิตประจำวัน
- มรรค 8 ในชีวิตประจำวัน
- ทิศ 6 ในชีวิตประจำวัน
ที่มา
- ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร, พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๙ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๑ [ฉบับมหาจุฬาฯ] สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค
- พระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต), มรรคมีองค์ 8, พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม
- วิภังคสูตร, พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๙ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๑ [ฉบับมหาจุฬาฯ] สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค
Oravee Lee says
ทุกวันนี้โจรผู้ร้ายในสังคมมีมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะคนเราขาดการปฏิบัติตามมรรคมีองค์ 8 ข้อไหน?
นายติวฟรี says
โจรผู้ร้ายในสังคม คือมิจฉาชีพ ตรงกับมรรคมีองค์ 8 ข้อ สัมมาอาชีวะ (การหาเลี้ยงชีพที่ถูกต้อง) หมายถึง การเว้นจากมิจฉาชีพ การละเว้นจากอาชีพฆ่าสัตว์ อาชีพที่เบียดเบียนผู้อื่น
niddd says
การกระทำอันเป็นการเบียดเบียนผู้อื่น มีความคิดที่ผิด ไม่รู้จักกรรมดีกรรมชั่ว น่าจะตรงกับสัมมาสังกัปปะ แล้วก็เลยทำอาชีพที่ไม่สุจริต
Keerati Bhiromsathorn says
ดีงามพระรามแปด
Tangmo says
ดีงามมากเลยค่ะ เอามาลงได้ละเอียดเหมาะแก่การศึกษาพระธรรมเลยค่ะ
ปอ says
ขอบพระคุณผู้จัดทำครับ ทำให้เข้าใจ สัมมาสติ ว่าขณะนั่งสมาธิ ต้องตามเห็นกาย เวทนา จิต ธรรม อย่างไร
Panom says
ขอบคุณที่แนะนำให้เราสร้างพฤติกรรมดี
Charoen says
ขอบคุณสำหรับคำสอนเรื่องความมีสติในการตัดสินใจ
Milk Patchrapa says
ขอบคุณค่ะให้ความยินดีค่ะ
สรัล says
การสวดมนต์ร่วมกับพระสงฆ์ที่วัดช่วยผมในการเรียนรู้จากธรรมะ
นาครณ says
การทบทวนธรรมะช่วยเราเรียนรู้อะไรในชีวิต
GamingWarlock says
สนุกสุดๆ จริงๆ ครับ
Bhumibol says
ขอบคุณที่บอกเราถึงความสำคัญของความตระหนักรู้
Android 18 says
ขอบคุณด้วยความยินดี
บุรินทร์ says
ขอบคุณสำหรับคำสอนเรื่องความตั้งใจ
Pond Namthip says
ขอบคุณมากสุดเลยครับ
TheGamerChick says
อันนี้ดีมาก
มุกดา กิจสัมพันธ์ says
ได้เรียนรู้สิ่งใหม่
Sombat says
ผมรู้สึกเป็นประโยชน์มากจากบทความนี้เรื่องธรรมะ