ศิลาจารึก หลักที่ 1 ถือเป็นหนึ่งในวรรณคดีสำคัญในสมัยสุโขทัย สันนิษฐานว่าพ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงพระราชนิพนธ์เอง โดยเฉพาะตอนต้นที่เป็นการเล่าพระราชประวัติของพระองค์เอง
ศิลาจารึกหลักที่ 1
ศิลาจารึกหลักที่ 1 หรือ จารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราช เป็นศิลาจารึกที่บันทึกเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ สมัยกรุงสุโขทัย ศิลาจารึกนี้ เจ้าฟ้ามงกุฎฯ ขณะผนวชอยู่เป็นผู้ทรงค้นพบเมื่อวันกาบสี ขึ้น 8 ค่ำ เดือน 3 จ.ศ. 1214 ตรงกับวันศุกร์ที่ 17 มกราคม ค.ศ. 1834 หรือ พ.ศ. 2376
ผู้แต่งศิลาจารึกหลักที่ 1
ศิลาจารึกหลักที่ 1 นี้สันนิษฐานว่าพ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงพระราชนิพนธ์เอง โดยเฉพาะตอนต้นที่เป็นการเล่าพระราชประวัติของพระองค์เอง
มีผู้ศึกษาเกี่ยวกับศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงหลายท่าน และผู้ที่มีบทบาท สำคัญก็คือ ศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ นักโบราณคดีชาวฝรั่งเศส ซึ่งเชี่ยวชาญทางด้าน ภาษาตะวันออก ได้ศึกษาศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหง และได้จัดทำคำอ่านไว้อย่างละเอียด ในปี พ.ศ. 2515 ศาสตราจารย์ฉ่ำ ทองคำวรรณ และผู้เชี่ยวชาญ ทางภาษาโบราณ อีกหลายคน ได้ศึกษาการอ่านคำจารึก และการตีความถ้อยคำในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง ปี พ.ศ. 2521 ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร และศาสตราจารย์หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ได้ศึกษาคำอ่านทำให้ได้รับความรู้เพิ่มเติมขึ้นจากการสันนิษฐาน ผู้แต่งอาจมีมากกว่า 1 คน เพราะเนื้อเรื่อง ในหลักศิลาจารึกแบ่งได้เป็น 3 ตอนด้วยกัน
รายละเอียดของศิลาจารึก หลักที่ 1
วัตถุจารึก: หินทรายแป้งเนื้อละเอียด
ลักษณะวัตถุ: หลักสี่เหลี่ยมด้านเท่า ทรงกระโจม
ขนาดวัตถุ: กว้างด้านละ 35 ซม. สูง 111 ซม.
ด้าน/บรรทัด: จำนวน 4 ด้าน มี 127 บรรทัด ด้านที่ 1 มี 35 บรรทัด, ด้านที่ 2 มี 35 บรรทัด, ด้านที่ 3 มี 27 บรรทัด และด้านที่ 4 มี 27 บรรทัด
สถานที่พบ: เนินปราสาทเมืองเก่าสุโขทัย ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย
ผู้พบ: พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4
ปัจจุบันอยู่ที่: พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรุงเทพมหานคร
ประวัติ
สันนิษฐานว่าศิลาจารึก หลักที่ 1 จารึกขึ้นประมาณ พ.ศ. 1835 เป็นปีที่พ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงสั่งให้สร้างพระแท่นมนังศิลาบาตรและจารึกหลักอื่น ๆ
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นเจ้าฟ้ามงกุฎฯ และผนวชอยู่วัดราชาธิวาสในรัชกาลที่ 3 ทรงนำศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช จากพระราชวังเก่ากรุงสุโขทัยมากรุงเทพฯ พร้อมกับพระแท่นมนังศิลาบาตร เมื่อ พ.ศ. 2376 ต่อมาได้มีการทำคำอ่านและแปลเป็นภาษาไทยครั้งแรก ตามคำอ่านของศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ และใน พ.ศ. 2521 คณะกรรมการพิจารณาและจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์ได้ตั้งอนุกรรมการขึ้นมาคณะหนึ่ง เพื่ออ่านและตรวจสอบจารึกของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช และได้จัดพิมพ์ขึ้นเป็นฉบับภาษาไทยที่สมบูรณ์ ศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช มีความสูง 1 เมตร 11 เซนติเมตร ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
ทำนองแต่ง
แต่งเป็นความเรียงร้อยแก้วแต่บางตอนมีสัมผัส
ความมุ่งหมาย
เพื่อบันทึกเหตุการณ์สำคัญของกรุงสุโขทัย สภาพบ้านเมืองในขณะนั้น และสดุดีพระเกียรติของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช
เรื่องย่อ
ศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช มีจารึกไว้ทั้ง 4 ด้าน กล่าวคือ
ด้านที่ 1 ทรงเล่าพระราชประวัติของพระองค์
ตั้งแต่ด้านที่ ๑ บรรทัดที่ ๑ – ๑๘ เป็นพระราชประวัติพ่อขุนรามคำแหง ตั้งแต่ประสูติ จนถึงเสด็จขึ้ครองราชย์ เนื้อเรื่องกล่าวถึงพระจริยวัตรที่พระองค์ทรงปฏิบัติต่อพระราชบิดา พระราชมารดา และพระเชษฐา
“พ่อกูชื่อศรีอินทราทิตย์ แม่กูชื่อนางเสือง พี่กูชื่อบานเมือง กูพี่น้องท้องเดียวกันห้าคน ผู้ชายสาม ผู้หญิงโสง พี่เผือผู้อ้ายตายจากเผือเตรียมแต่ยังเล็ก”
“เมื่อชั่วพ่อกู กูบำเราแก่พ่อกู กูบำเรอแก่แม่กู กูได้ตัวเนื้อตัวปลากูเอามาแก่พ่อกู กูได้หมากส้มหมากหวาน อันใดกินอร่อยกินดี กูเอามาแก่พ่อกู”
ด้านที่ 2 ความต่อจากด้านที่ 1
ตั้งแต่ด้านที่ ๑ บรรทัดที่ ๑๘ จนถึงด้านที่ ๔ บรรทัดที่ ๑๑ กล่าวถึงสภาพบ้านเมือง เหตุการณ์ ขนบธรรมเนียมประเพณี ความเป็นอยู่ พระศาสนา การปกครอง ศิลปะและวัฒนธรรม รวมทั้งการประดิษฐ์อักษรไทยขึ้นใน พ.ศ. ๑๘๒๖
“เมื่อชั่วพ่อขุนรามคำแหง เมืองสุโขทัยนี้ดี ในน้ำมีปลาในนามีข้าว เจ้าเมืองบ่เอาจกอบในไพร่ลู่ทาง เพื่อจูงวัวไปค้าขี่ม้าไปขาย ใครจักใคร่ค้าช้างค้า ใครจักใคร่ค้าม้าค้า ใครจัดใคร่ค้าเงินค้าทองค้าไพร่ฟ้าหน้าใส”
“คนเมืองสุโขทัยนี้ มักทาน มักทรงศีล มักอวยทาน”
ด้านที่ 3 กล่าวถึงการสร้างพระแท่นมนังศิลาบาตรในดงตาลสำหรับพระสงฆ์แสดงธรรม
ตั้งแต่ด้านที่ ๔ บรรทัดที่ ๑๒ จนถึงบรรทัดที่ ๒๗ (บรรทัดสุดท้าย) เป็นการยอพระเกียรติพ่อขุนรามคำแหง และกล่าวถึงอาณาเขตของกรุงสุโขทัย
“ในปากประตูมีกระดิ่งอันหนึ่งแขวนไว้หั้น ไพร่ฟ้าหน้าปก กลางบ้าน กลางเมือง มีถ้อย มีความ เจ็บท้องข้องใจ มักจักกล่าวถึงเจ้าถึงขุนบ่ไร้ ไปสั่นกระดิ่งอันท่านแขวนไว้ พ่อขุนรามคำแหงเจ้าเมืองได้ยินเรียกเมื่อถามสวนความแก่มันด้วยซื่อ ไพร่ในเมืองสุโขทัยจึงชม”
ด้านที่ 4 กล่าวถึงการก่อตั้งพระเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ การประดิษฐ์อักษรไทย และอาณาเขตอาณาจักรสุโขทัย
ตั้งแต่ด้านที่ ๔ บรรทัดที่ ๑๒ จนถึงบรรทัดที่ ๒๗ (บรรทัดสุดท้าย) เป็นการยอพระเกียรติพ่อขุนรามคำแหง และกล่าวถึงอาณาเขตของกรุงสุโขทัย
คุณค่าของวรรณคดี
ศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงมหาราชมีคุณค่าทางวรรณกรรมมาก โดยเฉพาะด้านภาษาศาสตร์ เพราะเป็นต้นกำเนิดของภาษาไทยในปัจจุบัน ทั้งในแง่ของตัวอักษร วิธีการเขียน การใช้คำ และหลักภาษา นอกจากนี้ยังมีคุณค่าด้านประวัติศาสตร์ ขนบธรรมเนียมประเพณี ศาสนา ความเชื่อ กฎหมาย การปกครอง ตลอดจนสภาพการณ์บ้านเมืองในอดีต และที่สำคัญ ศิลาจารึก หลักที่ 1 ยังมีอิทธิพลต่อการแต่งวรรณคดีสมัยต่อ ๆ มาหลายเรื่อง เช่น ลิลิตตำนานพระแท่นมนังศิลาบาตร ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์
1. ด้านภาษา
จารึกของพ่อขุนรามคำแหงเป็นหลักฐานที่สำคัญที่สุด ที่แสดงให้เห็นถึงกำเนิดของวรรณคดีและอักษรไทย เช่น กล่าวถึงหลักฐานการประดิษฐ์อักษรไทย ด้านสำนวนการใช้ถ้อยคำในการเรียบเรียงจะเห็นว่า – ถ้อยคำส่วนมากเป้นคำพยางค์เดียวและเป็นคำไทยแท้ เช่น อ้าง โสง นาง เป็นต้น – มีคำที่มาจากภาษาบาลีสันสกฤตปนอยู่บ้าง เช่น ศรีอินทราทิตย์ ตรีบูร อรัญญิก ศรัทธา พรรษา เป็นต้น – ใช้ประโยคสั้น ๆ ให้ความหมายกระชับ เช่น แม่กูชื่อนางเสือง พี่กูชื่อบานเมือง – ข้อความบางตอนใช้คำซ้ำ เช่น “ป่าพร้าวก็หลายในเมืองนี้ ป่าลางก็หลายในเมืองนี้ – นิยมคำคล้องจองในภาษาพูด ทำให้เกิดความไพเราะ เช่น “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว เจ้าเมืองบเอาจกอบในไพร่ลู่ทาง เพื่อนจูงวัวไปค้า ขี่ม้าไปขาย” – ใช้ภาษาที่เป็นถ้อยคำพื้น ๆ เป็นภาษาพูดมากกว่าภาษาเขียน
2. ด้านประวัติศาสตร์
ให้ความรู้เกี่ยวกับพระราชประวัติพ่อขุนรามคำแหง จารึกไว้ทำนองเฉลิมพระเกียรติ ตลอดจนความรู้ด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี และสภาพสังคมของกรุงสุโขทัย ทำให้ผู้อ่านรู้ถึงความเจริญรุ่งเรืองของกรุงสุโขทัย พระปรีชาสามารถของพ่อขุนรามคำแหง และสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของชาวสุโขทัย
3. ด้านสังคม
ให้ความรู้ด้านกฎหมายและการปกครองสมัยกรุงสุโขทัย ว่ามีการปกครองแบบพ่อปกครองลูก พระมหากษัตริย์ดูแลทุกข์สุขของราษฎรอย่างใกล้ชิด
4. ด้านวัฒนธรรม ประเพณี
ให้ความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรม ประเพณีอันดีงามของชาวสุโขทัยที่ปฏิสืบมาจนถึงปัจจุบัน เช่น การเคารพบูชาและเลี้ยงดูบิดามารดา นอกจากนั้นยังได้กล่าวถึงประเพณีทางศาสนา เช่น การทอดกฐินเมื่อออกพรรษา ประเพณีการเล่นรื่นเริงมีการจุดเทียนเล่นไฟ พ่อขุนรามคำแหงโปรดให้ราษฎรทำบุญและฟังเทศน์ในวันพระ เช่น “คนเมืองสุโขทัยนี้มักทาน มักทรงศีล มักอวยทาน…….ฝูงท่วยมีศรัทธา ในพระพุทธศาสนา ทรงศีล เมื่อพรรษาทุกคน”
ประโยชน์ของศิลาจารึกหลักที่ 1
ศิลาจารึกหลักที่ 1 มีความสำคัญและมีประโยชน์มากมาย ดังนี้
- เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญที่สุดชิ้นหนึ่งของไทย ช่วยให้ทราบถึงเหตุการณ์ในสมัยกรุงสุโขทัยได้เป็นอย่างดี
- เป็นหลักฐานทางภาษาศาสตร์ที่สำคัญ ช่วยให้ทราบถึงพัฒนาการของภาษาไทยในยุคแรกๆ
- เป็นหลักฐานทางวัฒนธรรมที่สำคัญ ช่วยให้ทราบถึงขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมในสมัยกรุงสุโขทัย
บทสรุป
ศิลาจารึกหลักที่ 1 เป็นสมบัติล้ำค่าของชาติไทย เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ภาษาศาสตร์ และวัฒนธรรมที่สำคัญ ช่วยให้ทราบถึงเหตุการณ์ในสมัยกรุงสุโขทัยได้เป็นอย่างดี ศิลาจารึกหลักที่ 1 ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมโดยองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ในปี พ.ศ. 2546
ที่มา:
- หนังสือเรียนรายวิชาพื้นฐาน ภาษาไทย ม.4 เล่ม 2 กระทรวงศึกษาธิการ
- http://www.ebook.mtk.ac.th/main/forum_posts.asp?TID=803
นัทเองค่ะ says
ดีมากๆเลยค่า