ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ (นางนพมาศ) ถือเป็นหนึ่งในวรรณคดีสำคัญในสมัยสุโขทัย แต่งโดยนางนพมาศ เป็นธิดาของพระศรีมโหสถกับนางเรวดี บิดาเป็นพราหมณ์ปุโรหิตในรัชกาลพระร่วงเจ้า
ผู้แต่ง
นางนพมาศ เป็นธิดาของพระศรีมโหสถกับนางเรวดี บิดาเป็นพราหมณ์ปุโรหิตในรัชกาลพระร่วงเจ้า ซึ่งสันนิษฐานกันว่าเป็นพระยาลิไทย นางนพมาศได้รับการอบรมสั่งสอนจากบิดาทั้งทางจริยศึกษาและพุทธิศึกษา มีความรู้สูงทั้งภาษาไทยและสันสกฤต พระพุทธศาสนา ศาสนาพราหมณ์ การแต่งกาพย์กลอน โหราศาสตร์ การขับร้องและการช่างสตรี นางนพมาศได้ถวายตัวรับราชการในพระร่วงเจ้า มีความดีความชอบพิเศษ เช่น ประดิษฐ์โคมลอยพระประทีปเป็นรูปดอกบัว ได้รับตำแหน่งเป็นสนมเอก มีบรรดาศักดิ์เป็นท้าวศรีจุฬาลักษณ์
ประวัติ
หนังสือเรื่องตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ มีชื่ออย่างอื่นว่า เรวดีนพมาศ หรือนางนพมาศ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงวินิจฉัยไว้ในคำนำฉบับพิมพ์ครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๗ ว่า เรื่องราวของหนังสืออาจมีจริงแต่สำนวนภาษาคงจะแต่งขึ้นใหม่ระหว่างรัชกาลที่ ๒ กับรัชกาลที่ ๓ โดยเฉพาะนิทานแทรกเรื่อง นางนกกระต้อยตีวิด นางนกกระเรียน และนางช้าง ซึ่งเป็นข้อความเปรียบเทียบบริภาษความประพฤติของนางใน สันนิษฐานว่าเป็นพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชวินิจฉัยว่า นพมาศ เดิมคงหมายถึงพิธี ๙ เดือน คือ เว้นเข้าพรรษา ๓ เดือน
ข้อความที่ยืนยันแจ้งชัดให้เห็นว่า หนังสือเรื่องนี้มีผู้แต่งเติมเพิ่มข้อความขึ้นใหม่ภายหลัง คือ ตอนที่ว่าด้วยชนชาติฝรั่งหลายชาติซึ่งยังไม่ได้เข้ามาในประเทศไทยสมัย กรุงสุโขทัย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คำว่า อเมริกัน ก็เพิ่งเกิดขึ้น ครั้งกรุงศรีอยุธยา เพราะฝรั่งช่างทำแผนที่คนหนึ่งไปทำแผนที่ให้ปรากฏรู้ได้ชัดว่าเป็นทวีปหนึ่งต่างหาก มิใช่อินเดียฝ่ายตะวันตกอย่างที่เข้าใจกันมาแต่ก่อน จึงได้เรียกทวีปนั้นว่า อเมริกา นอกจากนี้ยังมีข้อความกล่าวถึงปืนใหญ่ซึ่งยังไม่มีในสมัยนั้นด้วย
ทำนองแต่ง
แต่งเป็นความเรียงร้อยแก้ว บางตอนเป็นบทดอกสร้อยซึ่งแต่งเพิ่มเติมภายหลัง
ความมุ่งหมาย
เพื่อกล่าวถึงวัฒนธรรมด้านประเพณีที่ปฏิบัติกันในสมัยสุโขทัย และเพื่อเป็นหลักในการประพฤติปฏิบัติตนแก่ข้าราชการฝ่ายใน
เรื่องย่อ
เริ่มต้นกล่าวถึงประเทศ ภาษา และชนชาติต่าง ๆ เช่น ชมพูประเทศ มัชฌิมประเทศ ปัจจันตประเทศ และสิงหลประเทศ แบ่งเป็นภาษาต่าง ๆ เช่น มคธพากย์ สยามพากย์ หริภุญชัยพากย์ กัมพุชพากย์ และกล่าวถึงชนชาติต่าง ๆ เช่น ไทย ลาว เขมร พม่า รามัญ และมะริกัน (อเมริกัน) ต่อจากนั้นยอพระเกียรติพระร่วงเจ้าและสภาพความเป็นอยู่ของสุโขทัย ประวัตินางนพมาศตั้งแต่เยาว์วัย การศึกษา การเข้ารับราชการ ความดีความชอบในขณะรับราชการ โดยประดิษฐ์โคมรูปดอกบัว พานหมากสองชั้นรับแขกเมือง และพานดอกไม้สำหรับบูชาพระรัตนตรัย บรรยายถึงคุณธรรมของนางสนม ตลอดจนพระราชพิธีต่าง ๆ เช่น พระราชพิธีจองเปรียงลอยพระประทีป พระราชพิธีคเชนทรัศวสนาน พระราชพิธีจรดพระนังคัล
คุณค่าของวรรณคดี
หนังสือเรื่องนางนพมาศให้ความรู้ทางขนบธรรมเนียมประเพณีเป็นอันมาก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงใช้เป็นหลักฐานสำคัญ ในการทรงพระราชนิพนธ์พระราชพิธีสิบสองเดือน ความสำคัญอีกประการหนึ่งก็คือการแสดงให้เห็นศิลปะการช่างสตรี เช่น การประดิษฐ์โคมลอย การจัดดอกไม้ หนังสือนี้เชื่อกันว่าได้มีการดัดแปลงแต่งเติมภาษาและสำนวนผิดแผกไปจากของเดิมเป็นอันมาก
ที่มา:
หนังสือเรียนรายวิชาพื้นฐาน ภาษาไทย ม.4 เล่ม 2 กระทรวงศึกษาธิการ
Nuttavoot Booneua says
ชื่นชมครับ แบบนี้ลูกผู้ชาย