ท้าวแสนปม เป็นหนึ่งในตำนานพื้นบ้านของไทยที่ควรรู้จัก เป็นนิทานพื้นบ้านแบบเล่าปากต่อปาก จนกระทั่งในหลวงรัชกาลที่ ๖ พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงนำไปประพันธ์แต่งเป็นบทละคร
จังหวัด: กำแพงเพชร
เนื้อเรื่อง
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้วมีชายผู้หนึ่ง ถูกลอยแพมาติดที่เกาะขี้เหล็ก ซึ่งอยู่ใต้เมืองกำแพงเพชร ชายผู้นั้นมีรูปร่างน่าเกลียดมีปุ่มปมขึ้นเต็มตัว ชาวบ้านจึงเรียกเขาว่า แสนปม และเรียกเกาะขี้เหล็กว่า เกาะตาปม ตามชื่อแสนปม นายแสนปมทำไร่ ปลูกพริก ปลูกมะเขืออยู่ที่เกาะตาปมนี้ และมีมะเขือต้นหนึ่ง อยู่หน้ากระท่อมมีผลใหญ่มาก เพราะแสนปมปัสสาวะรดทุกวัน
วันหนึ่งพระราชธิดาของเจ้าเมืองกำแพงเพชร เสด็จประพาสมาถึงที่เกาะตาปม ทอดพระเนตรเห็นผลมะเขือ ก็นึกอยากเสวย จึงให้นางสนมไปขอเจ้าของมะเขือ นายแสนปมจึงเก็บผลมะเขือไปถวาย หลังจากพระราชธิดาเสวยผลมะเขือแล้วไม่นานก็ทรงพระครรภ์ เจ้าเมืองกำแพงเพชร ทรงพิโรธมาก เพราะพระราชธิดาไม่สามารถบอกได้ว่าใครเป็นพ่อ
ต่อมาพระราชธิดา ทรงมีพระประสูติกาล เป็นพระราชโอรส เจริญวัยน่ารัก เจ้าเมืองผู้เป็นพ่อ จึงรับสั่งให้เสนา ป่าวประกาศให้ผู้ชายทุกคนมาเสี่ยงทายเป็นพระบิดาของพระราชโอรส โดยอธิษฐานว่า ถ้าผู้ใดเป็นบิดาจริงก็ขอให้พระราชโอรสคลานเข้าไปหาบรรดาผู้ชายทุกคน ไม่ว่าหนุ่มแก่ชรา ยาจกเข็ญใจ เศรษฐี เจ้าต่างเมือง ต่างพากันมาร่วมเสี่ยงทาย เป็นบิดาของพระราชโอรส แต่พระราชโอรสก็ไม่ได้คลานไปหาใครเลย แม้จะใช้ของล่อใจอย่างไรก็ตาม
เจ้าเมืองแปลกพระทัย จึงให้เสนาไปตามผู้ชายคนสุดท้ายในเมือง คือ นายแสนปม เข้ามาเสี่ยงทาย นายแสนปมไม่อาจขัดบัญชาเจ้าเมือง จึงมาพร้อมกับก้อนข้าวเย็นหนึ่งก้อน เมื่อมาถึงเข้าเสี่ยงทายกลับปรากฏว่า พระราชโอรสได้คลานเข้ามาหา และเสวยข้าวเย็นในมือนายแสนปม เจ้าเมืองจึงจำต้องยกพระราชธิดาให้แก่นายแสนปม และด้วยความโกรธจึงขับไล่ให้คนทั้งสามคนกลับไปอยู่ที่เกาะตาปมดังเก่า
วันหนึ่งนายแสนปมไปทอดแหที่คลองขมิ้น ทอดครั้งใดก็ได้แต่ขมิ้นขึ้นมาจนเต็มลำเรือ แสนปมแปลกใจมาก เมื่อกลับไปบ้านขมิ้นกลับกลายเป็นทองคำ นายแสนปมจึงนำทองคำไปทำเปลให้ลูก และตั้งชื่อลูกว่าอู่ทอง แล้วนายแสนปมก็เริ่มมีฐานะ มีข้าทาสบริวารมาอาศัยอยู่ร่วมกันสุขสบายขึ้นกว่าแต่ก่อน
วันหนึ่งนายแสนปมเกิดเบื่อชีวิตสุขสบายจึงลงไปถางไร่ที่ปลายน้ำ ก็พบว่าต้นไม้ที่ถางทิ้งไปนั้นกลับมาขึ้นงดงามตามเดิม นายแสนปมจึงถางใหม่ แต่วันรุ่งขึ้นก็ปรากฏเหตุการณ์ เหมือนเดิม นายแสนปมสงสัยจึงถางไร่แล้วแอบเฝ้าดู ก็เห็นลิงตัวหนึ่งออกมาจากป่ากับกลองใบหนึ่ง พอลิงตีกลองขึ้น ต้นไม้ในป่าก็กลับงอกงามขึ้นเหมือนเดิมใหม่ นายแสนปมจึงแย่งกลองนั้นมาจากลิง และทดลองตีกลองพร้อมกับทดลองอธิษฐานในใจไปต่างๆ นานา
จนแจ้งในสรรพคุณของกลองแล้วครบถ้วน จึงเอากลองกลับบ้านและเล่าให้พระราชธิดาฟัง ครั้งนี้ นายแสนปมตั้งจิตอธิษฐานพร้อมกับตีกลองปรากฏว่า พื้นที่เกาะปมกลับกลายเป็นเมืองใหม่ มีปราสาทราชวัง นายแสนปมและครอบครัวจึงเข้าไปอาศัยอยู่ ให้ชื่อเมืองใหม่แห่งนี้ว่า เมืองเทพนคร และตั้งตัวเป็นเจ้าเมือง ผู้คนจึงเรียกขานว่า ท้าวแสนปม และบุตรชายจึงได้รับการเรียกขานใหม่ว่า ท้าวอู่ทอง จากนั้นเมื่อท้าวอู่ทอง เติบโตขึ้นก็ออกเดินทางไปผจญภัยตามวิถีทางของตน กล่าวกันว่า ท้าวอู่ทององค์นี้ก็คือพระราชบิดา ท้าวอู่ทอง ปฐมกษัตริย์ต้นราชวงศ์อู่ทองแห่ง กรุงศรีอยุธยา นั้นเอง
และเรื่องราวนิทานพื้นบ้านท้าวแสนปมก็มีอยู่เพียงเท่านี้ แต่ที่ประกอบอยู่ในเรื่องนิทานพื้นบ้านก็คือพื้นที่จริงที่ถูกอ้างอิงถึงคือเกาะกลางแม่น้ำปิงนั้น ต่อมาก็มีผู้ไปพบเมืองโบราณมีซากปรักหักพังดั้งเดิมมากมายจึงมีผู้ตั้งชื่อเมืองนี้ หรือจะเป็นชื่อเก่าแก่ดั้งเดิมก็ไม่รู้ได้ว่า เมืองไตรตรึงษ์ เมื่อนิทานท้าวแสนปมถูกเล่ากันมาแพร่หลายยิ่งขึ้น เมืองโบราณแห่งนี้จึงได้รับการกล่าวขานต่อไปว่าคือ เมืองเทพนคร ของท้าวแสนปมนั้นเอง
ที่มา
เด็กชายธงธิส มหารัตนประชา says
ปักหมุดเอาไว้เลย