พระนางเลือดขาว เป็นหนึ่งในตำนานพื้นบ้านของไทยที่ควรรู้จัก เรื่องราวเกิดขึ้นในจังหวัดนครศรีธรรมราช ภาคใต้ ตำนานเรื่องเล่าสืบต่อกันมาที่ผูกพันกับสถานที่สำคัญและประเพณี พิธีกรรมตามท้องถิ่นต่างๆบริเวณคาบสมุทรทั้งสองฝั่งทะเล บอกเล่าปากต่อปากแพร่กระจายในเรื่องเล่าที่เหมือนและต่างกัน จนกลายเป็นตำนานท้องถิ่นในแถบจังหวัดพัทลุง นครศรีธรรมราช ชุมพรสงขลา ตรัง ภูเก็ต และไปจนถึงเกาะลังกาวี
จังหวัด: นครศรีธรรมราช ภาคใต้
เนื้อเรื่อง
พระนางเลือดขาว มีเรื่องราวสรุปย่อได้ว่าเป็นบุตรีคหบดีมีอาชีพค้าขาย ณ ชุมชนสุดสายหาดทรายแก้วนครศรีธรรมราช (สันทรายเชียรใหญ่) บิดาเป็นชาวพัทลุงเชื้อสายลังกา (คุลา) มารดาเป็นชาวบ้านเก่าหรือบ้านฆ็อง (บริเวณที่ตั้งวัดแม่เจ้าอยู่หัวปัจจุบัน) เกิดเมื่อประมาณ พ.ศ. ๑๗๔๕ ไม่ปรากฏพระนามเดิมนอกจากบางกระแสเรียกชื่อว่า “กังหรี” มีพี่ ๒ คน คือ ทวดชีโป (มีรูปปั้นที่วัดพังยอม ตำบลสวนหลวง อำเภอเฉลิมพระเกียรติ) และพ่อท่านขรัว (มีรูปปั้นที่วัดบ่อล้อ ตำบลแม่เจ้าอยู่หัว อำเภอเชียรใหญ่)
พระนางเลือดขาวเป็นคนงามด้วยเบญจกัลยาณี คือ ผมงาม เนื้องาม ฟันงาม ผิวงาม และวัยงาม มีนิสัยโอบอ้อมอารี เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา เป็นที่รักของบุคคลโดยทั่วไป มีเลือดสีขาวแต่กำเนิดจนเป็นที่รับรู้เมื่อคราวช่วยงานในหมู่บ้าน ทำหน้าที่เจียนหมากพลูจนกรรไกรหนีบนิ้วมีเลือดไหลออกมาปรากฏเป็นสีขาวต่อหน้าผู้คนที่มาร่วมงาน จนร่ำลือถึงพระเจ้าศรีธรรมาโศกราชที่ ๕ หรือพระเจ้าสีหราช แห่งนครศรีธรรมราช (ตามพรลิงค์) ณ เมืองพระเวียง จนคราวศึกเมืองทะรังหรือเมืองกันตังแข็งข้อ หลังชนะศึกชนช้าง (ที่บ้านทุ่งชนในเขตอำเภอทุ่งสงปัจจุบัน) และรับบรรณาการที่นำมาถวายแล้ว (จนได้ชื่อว่าทุ่งสง-ส่งเครื่องบรรณาการ)
ระหว่างพักแรมกลางทางกลับ พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชทรงพระสุบินเห็นสตรีมีลักษณะงดงามตามเบญจกัลยาณี มีใจกุศล เป็นคู่บุญบารมี พำนักอยู่ทางทิศใต้ตามเส้นทางหาดทรายแก้ว และมีเลือดสีขาว จึงเมื่อเข้าเมืองนครศรีธรรมราช นมัสการพระบรมธาตุแล้วจึงจัดขบวนเสด็จออกค้นหาจนถึงสำนักพ่อท่านขรัว ได้พบพระนางเลือดขาวที่มารับเสด็จ โดยขณะทอผ้าถวายได้ทำตรน (อุปกรณ์ที่ทำจากไม้ไผ่มีความคมมาก) บาดนิ้วเลือดออกเป็นสีขาว จึงขอพระนางไปเป็นพระนางเมือง เมื่อเสด็จกลับแล้วจึงให้พราหมณ์ปุโรหิตจัดขบวนหลวงสู่ขอรับเข้าวัง ปรนนิบัติรับใช้ด้วยความจงรักภักดี ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ทำคุณประโยชน์ให้บ้านเมืองมากมาย เป็นที่รักของไพร่ฟ้าแต่ถูกกลั่นแกล้งกล่าวหาต่างๆ นานาจากพระสนมอื่น
พระนางเลือดขาวได้รับสถาปนาเป็นแม่เจ้าอยู่หัวหรือพระนางเลือดขาวอัครมเหสี จนเป็นที่เรียกโดยทั่วไปว่า พระนางเลือดขาวแม่เจ้าอยู่หัว หรือแม่เจ้าอยู่หัวพระนางเลือดขาว
พระนางเลือดขาวทรงสร้างและปฏิสังขรณ์วัดต่างๆ ไว้มากมาย ทั้งในเมืองนครศรีธรรมราช (ตามพรลิงค์) และเมืองใกล้เคียง สร้างวัดแม่เจ้าอยู่หัวเป็นวัดแรกเมื่อประมาณ พ.ศ. ๑๗๗๕ (พระชนมายุ ๓๐ พรรษา) ประมาณปี พ.ศ. ๑๗๙๐ ได้ปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระเจ้าศรีธรรมาโศกราช เสด็จไปเกาะลังกาเพื่อรับพระพุทธสิหิงค์มายังนครศรีธรรมราช และปี พ.ศ. ๑๗๙๙ ได้เสด็จยัง เมืองสุโขทัย เพื่อจัดระเบียบสงฆ์ฝ่ายฆราวาส (?-ผู้เขียน) ประทับอยู่นาน ๕ ปี จึงเสด็จกลับนครศรีธรรมราช
พระนางเลือดขาวได้ขอต่อพระเจ้าศรีธรรมาโศกราชว่าหากสิ้นพระชนม์ลงขอให้นำศพกลับบ้านเกิด ต่อมาข่าวความเดือดร้อนที่พระนางถูกกลั่นแกล้งทราบถึงพ่อท่านขรัว พ่อท่านขรัวได้เดินทางมาขอบิณฑบาตรับแม่เจ้าอยู่หัวกลับบ้านเดิม และทรงอนุญาตพร้อมทั้งให้สร้างวังขึ้น ณ ริมฝั่งแม่น้ำปากพนัง (บ้านในวัง ตำบลแม่เจ้าอยู่หัวปัจจุบัน) แต่การสร้างล่าช้าเพราะพระเจ้าศรีธรรมาโศกราชทรงประวิงเวลาไว้ไม่อยากให้พระนางกลับบ้านเดิม
จนกระทั่งคราวเสด็จไปปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระเจ้าศรีธรรมาโศกราชที่เมืองทะรัง (ตรัง) ได้สิ้นพระชนม์ระหว่างทางขณะประทับแรมด้วยกลด (บ้านควนกลด อำเภอทุ่งสงปัจจุบัน) ในปี พ.ศ. ๑๘๑๔ พระศพถูกอัญเชิญกลับสู่เมืองนครศรีธรรมราช (เมืองพระเวียง) ตั้ง ณ วัดท้าวโคตร แล้วจัดขบวนทางน้ำตามลำคลองท่าเรือ ออกทะเลปากนคร เข้าแม่น้ำปากพนัง (ปากพระนาง) มาขึ้นฝั่งที่บ้านหน้าโกศ จนถึงสำนักพ่อท่านขรัว (บริเวณวัดบ่อล้อปัจจุบัน) ถวายพระเพลิงแล้วนำพระอัฐิและพระอังคารประดิษฐานในมณฑปสูง ๑๒ วา มีเจดีย์บริวารโดยรอบ ณ วัดแม่เจ้าอยู่หัว
พงศาวดารเมืองพัทลุง เล่ม 12 บันทึกว่า เมืองพัทลุงใหม่ที่โคกเมืองบางแก้วเมื่อ พ.ศ.1832 ได้เจริญรุ่งเรือง มีเจ้าเมืองสืบต่อกันมา เป็นเวลาประมาณ 300 ปี พ.ศ.2180 ได้ถูกกองโจรสลัดอุชงตะนะ กองทัพศาสนาอิสลามโจมตีอย่างหนัก หลายครั้งหลายหน เมืองพัทลุงแตก ต้องไปสร้างเมืองใหม่ที่เขาชัยบุรี ควนมะพร้าว ลำปำและวังเนียงคูหาสวรรค์ (ตามหลักฐานพัทลุงย้ายเมืองแล้ว 12 แล้ว)
จากจารึกในเพลาเมืองสทิงพระ กรมศิลปากร มีความว่า “ศุภมัสสุ 651 ศกระกา นักบัตร เอกศกจำเดิมแต่แรกตั้งเมืองพัทลุง ครั้งเมื่อตั้งพระ วัดเขียน วัดสทัง วัดสทิงพระ คณะสามป่าแก้ว อนุโลมเป็นหัวเมืองสทิงพระ” ตามข้อความนี้ หมายความว่า จุลศักราช 651 ตรงกับ พ.ศ.1832 ตรงกับสมัยกรุงสุโขทัย คือเมื่อ พ.ศ.1832 นั้น วัดเขียน วัดสทัง วัดสทิงพระ รวมเป็นเมืองขึ้นอยู่เมืองสทิงพระ ประโยคที่ว่า “ครั้งเมื่อตั้งพระ” หมายความว่า ตั้งพระประธานในโบสถ์วัดเขียน วัดสทัง และวัดสทิงพระอาณาจักรศรีวิชัย (พ.ศ.1300-1836) ตั้งก่อนกรุงสุโขทัยกว่า 500 ปี ในสมัยอาณาจักรศรีวิชัยนั้น ปรากฏว่าเมืองพัทลุงเป็นเมืองอยู่แล้ว โดยมีเมืองขึ้นอยู่ในปกครอง 11 เมือง คือ
- เมืองปะเหลียน
- เมืองชะรัด
- เมืองกำแพงเพชร (รัตภูมิ)
- เมืองจะนะ
- เมืองเทพา
- เมืองสงขลา
- เมืองสทิง
- เมืองพิพัทสิงห์
- เมืองระโนด
- เมืองปราณ (ท่าเสม็ด)
- เมืองศรีชะนา (ท่ามิหรำ)
อาณาจักรศรีวิชัย มีอิทธิพลตามประวัติศาสตร์ตั้งแต่เกาะชวา แหลมมาลายูเหนือสุดถึงเมืองไชยา อาณาจักรนี้เชื่อว่าตั้งอยู่ที่เกาะสุมาตรา เมืองพัทลุงก็เคยอยู่ในปกครองของอาณาจักรนี้แล้วด้วย และยังมีนักประวัติศาสตร์หลายท่านเชื่อว่า พัทลุงบางแก้ว (ปาฏลีบุตร) เป็นที่ตั้งของอาณาจักรศรีวิชัย
หลักฐานเพิ่มเติม เรื่องของนางเลือดขาว ตามที่อ้างแล้ว เมื่อครั้งเจ้าอินทร์ (พ.ศ.2057 สมัยอยุธยา) ได้ปฏิสังขรณ์วัดเขียนบางแก้ว และวัดสทัง ได้นำไม้แก่นแคฝอยแกะเป็นนางเลือดขาวและพระพุทธรูปเรียกว่า “ประทุมกาศเทวานางเลือดขาว”
การสร้างพระธาตุเจดีย์ในปักษ์ได้ ซึ่งถือว่าได้มาจากลังกานั้น พระบรมธาตุที่เก่าแก่ และมีฐานะเสมอเหมือนกัน 3 แห่ง คือ
- พระบรมธาตุ นครศรีธรรมราช
- พระบรมธาตุ บางแก้ว พัทลุง
- พระบรมธาตุไชยา สุราษฎร์ธานี
พระบรมธาตุทั้งสามแห่งมีสมณศักดิ์พระครูชั้นสัญญาบัตร ประจำพระบรมธาตุทั้ง 4 ทิศ นัยว่าได้ตั้งชื่อตามชื่อกา ซึ่งได้เฝ้าพระบรมธาตุทั้ง 4 ทิศ คือ
- พระครูกาแก้ว (กาขาว)
- พระครูกาชาด (กาแดง)
- พระครูการาม (กาลาย)
- พระครูกาเดิม (กาดำ)
ปัจจุบันพระธาตุเจดีย์วัดเขียนบางแก้ว กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนไว้เป็นโบราณสถานของชาติ พ.ศ.2523 ทางวัดได้ทำการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ เพื่อเก็บรักษาโบราณวัตถุที่ประชาชนพบในละแวกชุมชนรอบวัดเขียนบางแก้วจากท้องไร่ ท้องนา และในทะเลสาบ เพื่ออนุชนรุ่นหลังได้ศึกษา “พระนางเลือดขาว” เป็นบรรพบุรุษ “คนพัทลุง” เป็นหญิงแกร่ง เก่ง ดี รวย สวย เป็นคนจริง มีแต่ให้ เสียสละเพื่อส่วนรวม
การนำเสนอ “นางเลือดขาว” สู่มวลชน เพื่อสดุดีเทิดพระเกียรติท่าน เพื่ออนุชน ปัญญาชน ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำประเทศ องค์กรเอกชน ได้รับรู้ถึงมรดกที่ท่านสร้างไว้ พระพุทธรูป “พระพุทธสิหิงค์” อันล้ำค่าสูญหายไป อยู่ในครอบครองของท่านผู้ใด วัดพระงาม วัดพระพุทธสิหิงค์ จังหวัดตรัง วัดพระนางสร้าง จังหวัดภูเก็ต วัดสทิงพระ จังหวัดสงขลา วัดเขียนบางแก้ว วัดสทัง จังหวัดพัทลุง ได้รับการดูแลบูรณะ มีความมั่นคง วัดแม่อยู่หัวเลือดขาวที่ปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นวัดร้างไป ชาวพุทธผู้ใจบุญทั้งหลายช่วยเสียสละอีกครั้ง น่าจะมีโอกาส
สุดท้ายเพื่อให้ผู้อ่าน “บอกต่อ” ว่า พระบรมธาตเจดีย์บางแก้ว มีมานานตั้งแต่สมัยอาณาจักรศรีวิชัย พร้อมๆ กับพระบรมธาตุไชยา พระบรมธาตุนครศรีธรรมราช ได้เปิดกว้างสู่การท่องเที่ยวกราบไหว้บูชา เป็นโบราณวัตถุ โบราณสถาน ของชาติบ้านเมืองที่ต้องบำรุงรักษา เพื่อชนรุ่นหลังสืบไป
ในบทสรุปจริงที่ยาวประมาณ ๗ หน้านั้น มีรายละเอียดเกี่ยวกับเหตุการณ์ต่างๆ ที่พ้องจองกับชื่อสถานที่บริเวณอำเภอเฉลิมพระเกียรติ เชียรใหญ่ และปากพนังในปัจจุบันเป็นจำนวนมาก พร้อมกับยังมีสรุปพระกรณียกิจที่สำคัญในตอนท้ายอีกว่า ทรงเป็นผู้นำเสด็จพระพุทธสิหิงค์ พระบรมสารีริกธาตุจากลังกา ทรงสมโภชพระบรมธาตุนครศรีธรรมราช ฐานะพระอรหันต์ฆราวาส (?-ผู้เขียน) ทรงเป็นอรหันต์ฝ่ายฆราวาสแห่ง ๑๒ หัวเมืองนักษัตร เสด็จไปสุโขทัยในนามกษัตริย์นครศรีธรรมราชวางแผนนโยบายด้านศาสนาฝ่ายฆราวาส ทรงปกครองเมืองนครศรีธรรมราชช่วงศึกลังกา (ที่พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชทรงยกทัพไปลังกา) ทรงปฏิสังขรณ์และสร้างวัดมากมายทั่วทั้งจังหวัดนครศรีธรรมราชถึง ๕๔ วัด กับในจังหวัดพัทลุง สงขลา ตรัง สตูล ภูเก็ต ชุมพรอีกถึง ๒๓ วัด โดยมีภาคผนวกแสดงลำดับกษัตริย์เมืองนครศรีธรรมราชระหว่าง พ.ศ. ๑๔๔๖-๑๘๒๐ พร้อมลำดับเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์เรียง พ.ศ. ตั้งแต่ พ.ศ. ๑๖๙๙-พ.ศ. ๑๙๕๐ ไว้ค่อนข้างละเอียดและพิสดารถึง ๑๐ หน้าโดยไม่แน่ชัดในที่มา
ที่มา
- หนังสือศิลปวัฒนธรรม ฉบับ พฤษภาคม 2546 เขียนโดยบัญชา พงษ์พานิช, นครศรีธรรมราช
- หนังสือวรรณกรรมอนุสรณ์ เนื่องในงานฌาปนกิจศพผู้ใหญ่สมจิตต์ (เต้ง) สุขสวัสดิ์ เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2548
Peter Kamolthat says
เยี่ยมยอด
view says
เจ๋ง