การเรียนถือเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับวัยรุ่นวัยเรียน ที่ต้องเรียนกันวันละ 5-6 วิชา แต่ละวิชาก็จดโน้ตกันมือหงิก แถมอาจารย์ก็พูดเร็ว เขียนเร็วลบเร็วเสียเหลือเกิน ทำให้หลายๆคนมีปัญหาในการจดโน้ต วันนี้นายติวฟรีมีเทคนิคการจดโน้ตย่อที่ทำตามได้ง่ายๆมาฝากกันครับ
ก่อนที่จะเริ่มทำการใดๆนั้นเราต้องรู้ว่า “เป้าหมาย” ของเราคืออะไร แน่นอนว่ามันไม่ใช่การจดโน้ตเพื่อฆ่าเวลาแน่นอน แต่มันคือการจดเพื่อให้เราจดจำข้อมูลต่างๆ และกลับมาอ่านทบทวนได้อย่างมีประสิทธิภาพนั่นเอง เมื่อรู้อย่างนั้นแล้วเวลาเราจดโน้ตให้เรามองอย่างนี้ไว้ก่อนเป็นอย่างแรก
เทคนิคการจดโน้ตของเพื่อนๆ รุ่นพี่ๆ ที่เรียนเก่งกันก็มีอยู่หลายวิธีมากตามแต่ความถนัดของแต่ละคน ไม่ว่าจะเป็นการใส่สีหลากหลาย บางคนมีปากกาสีๆเป็นสิบสีเลยทีเดียว บางคนชอบวาดเป็นตาราง ขีดเส้นเชื่อมโยงเต็มไปหมด ฯลฯ ซึ่งเราเองก็ต้องเลือกว่าเทคนิคการจดโน้ตย่อแบบไหนที่เหมาะกับตัวเราเอง อันนี้คงบอกไม่ได้ว่าเทคนิคไหนเหมาะกับตัวน้อง แต่ในทุกๆเทคนิคที่เทพๆใช้กันนั้น มันมีบางสิ่งที่เหมือนกันอยู่ และพี่ติวฟรีก็วิเคราะห์ออกมาให้น้องๆได้รู้ถึงเบื้องลึกกันแล้วครับ
จดโน้ตประเด็นสำคัญๆด้วย Bullets
แทนที่จะจดทุกอย่างที่ครูพูด เราเปลี่ยนมาใช้การจดเฉพาะการจดโน้ตที่เน้นที่หัวข้อสำคัญและแยกออกเป็น Bullets ต่างๆภายใต้มัน เน้นที่ความเรียบง่ายถือเป็นเคล็ดลับของการจดโน้ตวิธีนี้ แถมเมื่อกลับมาอ่านทีหลังยังจะจำได้ดีกว่าการจดแบบเป็นย่อหน้ายาวพรืดมากหลายเท่าจนตกใจเลยทีเดียว การใช้เทคนิคนี้ให้เริ่มต้นจาก
- เน้นที่หัวข้อสำคัญๆ เขียนให้เป็นประโยคสั้นๆ อย่าลืมว่าเราจด “โน้ตย่อ” ไม่ใช่โน้ตเต็ม
- ใช้คำง่ายๆจากความเข้าใจของตัวเอง อย่าใช้ประโยคของครูเป๊ะๆตลอดเวลาเพราะภาษาครูอาจจะแก่มากจนยิ่งอ่านยิ่งงง
- ปรับเปลี่ยนการเรียงตัวกันของ bullet ให้เข้ากับวิชานั้นๆ
แค่นี้แหล่ะครับเทคนิคนี้ ถ้าจะให้พูดออกมาด้วยภาษาพูดก็แค่ “จดในสิ่งที่ต้องจดก็พอ” แหล่ะครับ อย่าไปจดอะไรที่เวิ่นเว้อมากเกินไปที่ถึงมีไปก็นอกจากจะไม่ช่วยแต่ยังทำให้แย่ลง จดหัวข้อให้ครบและมากพอที่จะช่วยให้เมื่อเรากลับมาอ่านมันแล้วจะรู้ทันทีว่าโน้ตที่เราจดในวันนี้นั้นมีเรื่องอะไรบ้าง
การแบ่งกลุ่มของโน้ตย่อด้วยสี
ใช้ปากกาสีๆช่วยในการจดโน้ตย่อ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ Hilighter หรือขีดเส้นใต้ในหัวข้อที่สำคัญ รวมไปถึงการสรุปข้อความสำคัญอีกครั้งเมื่อจบคาบเรียนนั้นๆไปแล้วด้วยภาษาของเราเองอีกทีจะทำให้เรามีโน้ตที่ยิ่งเทพเข้าไปใหญ่ และการกลับมาอ่านมันอีกครั้งจะทำให้เราจะได้มากกว่าเดิมอีกหลายเท่า โอ๊ะ ตรงนั้นเราขีดเส้นใต้สีเขียวไว้ นิยามตรงนี้เราไฮไลต์สีชมพูไว้ สูตรคณิตสูตรนี้เราตีกรอบไว้ด้วยเส้นสีฟ้า ฯลฯ
วาดรูปประกอบ
ถือเป็นอีกเคล็ดลับที่มีประสิทธิภาพสูงมากๆ โดยเทคนิคนี้เริ่มต้นจากการวาดรูปประกอบให้เข้ากับหัวข้อที่เรากำลังจดอยู่ เช่นเรียนเรื่องสัตว์ในชีววิทยาก็วาดรูปยีราฟเอาไว้ข้างๆ หรือสูตรคณิตสูตรนี้เกี่ยวกับหมีๆ เราก็วาดรูปประกอบไว้ข้างๆ เป็นรูปหมีบราวน์กำลังกินผึ้ง ฯลฯ จะช่วยเราได้อย่างมากเมื่อเรากลับมาอ่านโน้ตของเรา รอบเดียวเท่านั้นรู้ทันทีว่าสูตรหมีนี้เป็นอย่างไร นอกจากรูปประกอบที่เกี่ยวข้องแล้ว เราสามารถวาดรูปประกอบที่ไม่ต้องเกี่ยวข้องกันก็ได้ ถ้ามันทำให้เราจำข้อมูลนั้นๆได้ อะไรก็ดีหมดล่ะครับ
ก่อนจากกันวันนี้ขอฝากตัวอย่างการวาดรูปประกอบขั้นเทพปนเกรียนของเด็กญี่ปุ่นไว้ล่ะกัน อย่าเพิ่งคิดไปก่อนว่าเกรียนนะครับ ให้ลองคิดดูนะครับว่าถ้ามีของแบบนี้อยู่ในโน้ตย่อของเรา เราจะจำได้ดีขึ้นไหม
ร่วมแสดงความคิดเห็นในหัวข้อ “เทคนิคการจดโน้ตย่อ ที่เทพไม่ยอมบอก!”